การแสดงเบิกโรง เรื่อง ตำนานท้าวเวสสุวัณ
          การแสดงเบิกโรง เรื่อง ตำนานท้าวเวสสุวัณ เป็นนาฏกรรมสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร แนวคิดและการออกรูปแบบการแสดงโดยนายจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ ได้นำบทบาทและความเป็นมาของท้าวเวสสุวัณมาจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจัดทำเป็นบทนาฏกรรม ซึ่งไม่เคยมีจัดแสดงมาก่อน และเป็นการแสดงเบิกโรงชุดใหม่นอกเหนือจากที่กรมศิลปากรเคยจัดแสดงมา จัดแสดง ครั้งแรกในรายการศรีสุขนาฏกรรม ประจำปี ๒๕๖๓ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ และวันอาทิตย์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ โรงละครแห่งชาติ

          เรื่องราวท้าวเวสสุวัณ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวไว้ว่าเป็นบุตรพระฤษี วิศระวัส (วิศราวะ) หรือเปาลัสตยะกับนางธาดาหรือเทพวรรณี ธิดาพระภารทวาชมหาฤษี ตั้งแต่กำเนิดมามีร่างกาย ไม่งดงาม จึงมีอีกนามหนึ่งว่า “กุเวร” หมายถึง ตัวขี้ริ้ว อาศัยในป่าหิมพานต์เมื่อเจริญวัยได้บำเพ็ญตบะอยู่หลายพันปี พระพรหมและพระอินทร์จึงพากันเสด็จลงมาโปรด ท้าวเวสสุวัณขอพรให้ตนมีฤทธิ์อำนาจเป็นผู้ดูแลมนุษย์โลก พระพรหมประทานพรให้ตามที่ขอ และมอบหน้าที่ให้เป็นโลกบาลประจำทิศอุดร (ทิศเหนือ) แล้วยังประทานบุษบก วิเศษสำหรับใช้เดินทางไปในอากาศตามต้องการ พระอินทร์เชิญให้ไปประทับยังพิมานชั้นจาตุมหาราชิกา เพราะเป็นที่สถิตของท้าวโลกบาล อีก ๒ องค์ คือพระวรุณและพระยม แต่ท้าวเวสสุวัณขอผัดผ่อนโดยให้เหตุผลว่า ต้องการอยู่ปรนนิบัติพระบิดา ที่ชรามากแล้วไปจนกว่าจะละสังขาร
          ต่อมาพระวิศระวัสผู้เป็นพระบิดาแนะนำให้ไปอยู่เมืองลงกา ซึ่งพระวิษณุกรรมได้สร้างขึ้นไว้ในปางก่อน เพื่อเป็นที่อยู่ของพวกรากษส แต่ได้ทิ้งร้างหนีไปอยู่บาดาลเพราะเกรงเดชพระนารายณ์ อยู่มามีพญารากษสตนหนึ่ง ชื่อ ท้าวสุมาลี ซึ่งถูกพระนารายณ์ขับไล่ลงไปอยู่บาดาล ได้ขึ้นมาเยี่ยมมนุษย์โลกเห็นท้าวเวสสุวัณขึ้นบุษบกลอยไปใน อากาศเพื่อไปเฝ้าพระบิดา ก็มีใจริษยาคิดอุบายจะแย่งชิงและเอาพระนครลงกาคืน จึงใช้ให้ธิดา ชื่อ“ไกกะสี” ไปยั่วยวนพระฤษีวิศระวัส จนเป็นที่พอใจรับนางไว้เป็นชายา ให้กำเนิดบุตรธิดา คือ ท้าวราพณ์ (ทศกัณฐ์) กุมภกรรณ พิเภษณ์ (พิเภก) และนางศูรปนขา (สำมนักขา) นางไกกะสียุยงท้าวราพณ์ลูกชายให้ไปแย่งชิงเอาเมืองลงกาและบุษบก ท้าวเวสสุวัณสู้ไม่ได้จึงหลบหนีภัยออกจากกรุงลงกา แรมรอนมาในป่าแทบสิ้นชีวิต จนพระพรหมต้องเสด็จมาช่วยเหลือ สร้างเมืองใหม่ให้ทางทิศอุดร ชื่อว่า “อลกา” หรือมีชื่อเรียกอื่นๆว่า “ประภา”หรือ“วสุสถลี” (วสุธา) บ้าง เป็นเมืองทิพย์ มีอุทยานวิเศษรโหฐานชื่อว่า เจตระรถหรือเจตรถ อยู่บนเขามันทรอันต่อเนื่องกับเขาพระสุเมรุ พระนครและสวนขวัญ เป็นรมณียสถานสำราญ ผู้ที่อยู่ในที่นั้นจะปราศจากโรค ความเหน็ดเหนื่อย ความวิตก ความหิว และไม่กลัวเกรงภัย ต่าง ๆ มีอายุยืนถึงหมื่นปี ต้นไม้มีใบเป็นผ้าเนื้อดี มีดอกเป็นมณีมีค่าและมีผลออกเป็นนารี (นารีผล) เหล่าข้าบาทบริจา ในเมืองอลกาล้วนแต่เป็นกินรี กินรา จึงมีนามเรียกอีกว่า“มยุราช” (เจ้าแห่งมยุคือกินนร) นอกจากนี้ ยังประทานให้เป็น เจ้าแห่งทรัพย์สินทั้งหลายบนแผ่นดินโลกมนุษย์ จึงมีนามอีกนามหนึ่งว่า “ธนบดี” (หมายถึง เจ้าแห่งทรัพย์ทั้งหลาย) และให้อยู่เป็นอมฤตหรืออมตะ (ไม่มีตาย)
          ท้าวเวสสุวัณ มีนามเรียกอีกว่า กุเวร เวสสวัณ ไพษรพน์ กุตนุ ยักษราช กำเนิดเป็นยักษ์ เชื้อสายพรหมพงศ์ มีกายสีขาว รูปร่างลักษณะค่อนข้างประหลาด ถืออาวุธ คือ กระบองยาว เพราะร่างกายพิการขาโกงมี ๓ ขา (ขาที่ ๓ หมายถึงกระบองยาว ที่ใช้ช่วยค้ำยันเวลาเดิน ซึ่งตั้งไว้ในลักษณะของไม้เท้าเพื่อให้ดูสวยงามภูมิฐาน เป็นยักษ์ที่ยึดถือคุณธรรม ในเรื่องรามเกียรติ์ได้กล่าวประวัติไว้ว่า ชื่อ “กุเปรัน” พี่ชายต่างมารดาของทศกัณฐ์ บทบาทปรากฏเพียงแค่ เมื่อถูกทศกัณฐ์แย่งชิงบุษบกไป ต่อจากนั้นก็มิได้กล่าวถึง

.........................................................................
เรียบเรียง : นายจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

.........................................................................

(จำนวนผู้เข้าชม 1539 ครั้ง)

Messenger