การขุดค้น ขุดแต่งทางโบราณคดีโบราณสถานวัดหินตั้ง

         โบราณสถานวัดหินตั้ง เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยดำเนินการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีภายใต้ “โครงการขุดแต่งทางโบราณคดี เพื่อออกแบบบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์กลุ่มโบราณสถานวัดไผ่ยายลิ้ม (ตอ.๑๘) – วัดหินตั้ง (น.๒๐) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓” โดยโครงการนี้จะทำการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี โบราณสถานทั้งหมดจำนวน ๕ แห่ง ประกอบไปด้วย โบราณสถานวัดไผ่ยายลิ้ม (ตอ.๑๘) , โบราณสถานวัดหินตั้ง (น.๒๐) , โบราณสถานร้าง ต.๓ , โบราณสถานร้าง ต.๖ (วัดตระพังนาค) และโบราณสถานร้าง ต.๘
          โบราณสถานวัดหินตั้งหรือโบราณสถานร้าง น.๒๐ (*น = ทิศเหนือ) ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ห่างจากประตูศาลหลวงทางทิศเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตร โดยอยู่ริมฝั่งลำคลองแม่ลำพันด้านฝั่งตะวันออก ข้อมูลจากหนังสือทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2561 ซึ่งได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลได้อธิบายลักษณะของโบราณสถานวัดหินตั้งก่อนการเข้าดำเนินการขุดค้น ขุดแต่งศึกษาวิจัยทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ว่าประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างดังต่อไปนี้ ๑. ฐานเจดีย์ ก่ออิฐ ถูกขุดทำลายเหลือเพียงแนวฐาน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒ เมตร ๒. ฐานวิหาร มีสภาพเป็นเนินดินและเห็นแนวอิฐ ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือตะวันออกของฐานเจดีย์ ๓. กำแพงแก้วล้อมรอบโบราณสถานทั้งหมด ทำจากแท่งศิลาแลงขนาดใหญ่ ตั้งเป็นแนวรอบอยู่ในพื้นที่ด้านกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐ เมตร ๔. คูน้ำ กว้างประมาณ ๑๕ เมตร ล้อมรอบโบราณสถานอยู่ในพื้นที่กว้าง ๓๕ เมตร ยาว ๕๕ เมตร ปัจจุบันคูน้ำบางส่วนตื้นเขินและเสื่อมสภาพ
          นอกจากนี้วัดหินตั้งนี้ได้พบศิลาจารึกหลักที่ ๙๕ (ศิลาจารึกวัดหินตั้ง) อักษรภาษาไทย สมัยสุโขทัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นเรื่องราวการสร้างวัดหินตั้งและการสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ โดยพระมหาธรรมราชาผู้ปู่ ปัจจุบันศิลาจารึกวัดหินตั้งถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง หากท่านใดสนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร >>> https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/233?fbclid=IwAR19l84GqKtuSh-dUmMUElAm2EjskWI4Dq0j1fhYotSco8ppeU1nMK9LGUA















          จากการดำเนินการขุดค้น ขุดแต่ง โบราณสถานวัดหินตั้ง ทำให้ทราบว่าเจดีย์ประธานของวัดฐานก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีขนาดกว้างด้านละประมาณ ๑๑.๓๐ เมตร แต่ด้วยการลักลอบขุดหาของตั้งแต่ครั้งอดีตทำให้ด้านบนของเจดีย์ได้ทำความเสียจนไม่สามารถสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้ นอกจากนี้ทิศทั้งสี่ของเจดีย์ประธานมีเจดีย์บริวารประจำทิศจำนวน ๔ องค์ หรือทิศละ ๑ องค์ (องค์ด้านทิศเหนือชำรุดเป็นอย่างมากจากการลักลอบขุดปรากฏร่องรอยเหลือเพียงเล็กน้อย) ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วทำจากแท่งศิลาแลงขนาดใหญ่ ปรากฏช่องประตูเข้า-ออกทางด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก (ซึ่งการก่อสร้างกำแพงแก้วด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่นี้ปรากฏหลักฐานการสร้างในลักษณะคล้าย ๆ กันกับโบราณสถานหลายแห่งตามแนวถนนพระร่วง อาทิเช่น โบราณสถานวัดโบสถ์เมืองบางขลัง ,โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคลเมืองบางขลัง รวมถึงโบราณสถานอีกหลายแห่งในเมืองศรีสัชนาลัยด้วย) ทางด้านทิศตะวันออกนอกกำแพงแก้ว ปรากฏแนวอาคารสันนิษฐานว่าเป็นวิหารผนังก่ออิฐพื้นอัดดินตามธรรมชาติ คูน้ำปัจจุบันบางส่วนตื้นเขินและเสื่อมสภาพจากการทำเกษตรกรรมทำให้ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วคูน้ำที่
ปรากฏนั้นเป็นคูน้ำที่ถูกขุดขึ้นใหม่เพื่อการเกษตรหรือคูน้ำที่มีมาแต่ครั้งโบราณกันแน่













          ทั้งนี้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจะดำเนินการศึกษาวิจัยโบราณสถานวัดหินตั้งและโบราณสถานอื่น ๆ ในโครงการเดียวกันนี้ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ออกมาในรูปแบบรายงานทางวิชาการและจะมีการเผยแพร่ทางหน้าเพจอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยต่อไป >>> https://www.facebook.com/skt.his.park



(จำนวนผู้เข้าชม 1774 ครั้ง)

Messenger