ดำเนินสะดวก : คลองสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
“ดำเนินสะดวก” เป็นชื่อคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนเริ่มจากปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาครกับแม่น้ำแม่กลอง ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ขนาดคลองที่ขุดในระยะแรกมีความกว้าง ๖ วา (๑๒ เมตร) ลึก ๖ ศอก (๓ เมตร) ความยาว ๘๔๐ เส้น (๓๒ กิโลเมตรโดยประมาณ) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นที่พระสมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุด โดยเกณฑ์แรงงานทหาร ข้าราชการ ประชาชน และจากการจ้างแรงงานกรรมกรชาวจีน การขุดนั้นใช้วิธีการขุดดินระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ไม่ต้องขุดดินระยะหนึ่ง เมื่อน้ำหลากมาจะเซาะดินที่เว้นไว้ไม่ได้ขุดพังทลายไป พร้อมทั้งมีการแบ่งคลองออกเป็นระยะๆระยะหนึ่งยาว ๑๐๐ เส้น (ประมาณ ๔ กิโลเมตร) จะมีเสาหินปักไว้เป็นหลักเขต แต่ละหลักได้จำหลักเลขไทย เลขโรมัน และเลขจีนกำกับไว้ทุกหลัก คลองนี้ใช้เวลาขุด ๒ ปี โดยใช้งบประมาณในการขุดเป็นค่าเงินในสมัยนั้นจำนวน ๑,๔๐๐ ชั่ง (๑๑๒,๐๐๐ บาท) โดยเป็นทรัพย์สินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจำนวน ๔๐๐ ชั่ง (๓๒,๐๐๐บาท) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จำนวน ๑,๐๐๐ ชั่ง เมื่อทำการขุดจนแล้วเสร็จ ได้มีการนำแผนผังคลองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานนาม ซึ่งเมื่อทรงทอดพระเนตรแล้วทรงเห็นว่าคลองนี้มีเส้นทางตรงที่สุดกว่าคลองอื่นๆที่มีการขุดขึ้นในช่วงนั้น จึงได้รับพระราชทานนามว่า“ดำเนินสะดวก” และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ประกอบพิธีเปิดคลองนี้เมื่อวันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๕ พ.ค. พ.ศ.๒๔๑๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จพระราชดำเนินคลองดำเนินสะดวกหลายครั้งทั้งเสด็จประพาสและเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปยังที่ต่างๆ ในปี ๒๔๓๑ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่ ๓ ปรากฏในพระราชนิพนธ์ว่า“...วันพฤหัสบดีขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๓ ...เสด็จจากเมืองราชบุรีล่องลงไปถึงบ้านสี่หมื่นไปตามคลองดำเนินสะดวก ผ่านวัดโชติทายการามถึงหลักเจ็ด โคกไผ่ เมื่อถึงหลักห้าก็เป็นอันสิ้นสุดเขตเมืองราชบุรี...”
ต่อมาในปี ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นที่คลองดำเนินสะดวก ซึ่งจดหมายนายทรงอานุภาพ (สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) มหาดเล็กผู้ตามเสด็จได้บันทึกไว้ว่า “...ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ ออกเรือล่วงหน้ามาคอยเสด็จอยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวก พอประมาณ ๔ โมงเช้ากระบวนเสด็จมาถึงเลยเข้าคลองต่อมา น้ำกำลังท่วมทุ่งคันคลองเจิ่งทั้งสองข้างแล่นเรือได้สะดวก พอบ่ายสัก ๓ โมงก็มาถึงหลักหกหยุดกระบวนประทับแรมที่วัดโชติทายการาม...”
ผลจากการขุดคลองดำเนินสะดวกในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นส่งเสริมการค้าหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง การคมนาคมสัญจรไปมาติดต่อกันทางน้ำด้วยความสะดวกแล้ว ยังส่งผลให้ผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตลอดคลองดำเนินสะดวกเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนมาก ดังรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรีปี ๒๔๔๑ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุว่า “...ที่สองฟากคลองดำเนินสะดวก เปนที่ทิ้งให้รกร้างอยู่มากกว่าที่มีผู้ทำเปนไร่นา ได้ความว่าที่เหล่านี้ที่จริงเปนที่ดี แต่เปนที่มีเจ้าของอยู่ในวงษ์วานญาติของสมเด็จเจ้าพระยา...” เปรียบเทียบกับปี ๒๔๕๒ ซึ่งในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีกล่าวถึงถึงพื้นที่คลองดำเนินสะดวกไว้ว่า“...ในลำคลองระยะหลัก๑ หลัก๒ จนกระทั่งถึงหลัก ๓ เดิมเป็นจากและปรง เดี๋ยวนี้มีจากและปรงเข้าไปไม่ถึงหลัก ๑ เป็นไร่นาไปหมดได้ความว่าดีมาก...”แสดงให้เห็นว่ามีผู้เข้ามาอยู่อาศัยบริเวณคลองดำเนินสะดวกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการขุดคลองลัดซอยมากกว่า ๒๐๐ คลองในเวลาต่อมา และมีการบุกเบิกป่ากลายเป็นนาเปลี่ยนจากนามาเป็นสวนเป็นไร่มากขึ้น
นอกจากนี้ในรายงานโครงการทดน้ำไขน้ำฯ ของมิสเตอร์ เยโฮมานวาเดอร์ ไฮเด กระทรวงเกษตราธิการ ได้กล่าวถึงปริมาณเรือที่เข้าออกในคลองดำเนินสะดวกนั้นมีเป็นจำนวนมากเพราะนอกจากจะมีเรือซื้อข้าวและเรือสินค้าดังกล่าวแล้ว ยังมีเรือสินค้าอื่นๆแทบทุกอย่าง ทั้งเครื่องอุปโภค บริโภคจากกรุงเทพฯ เข้ามาด้วย จำนวนเรือที่เข้าออกในคลองนี้ชั่วระยะเวลาเพียง๕วัน ในช่วงเดือนเม.ย.พ.ศ. ๒๔๔๕ มีจำนวนถึง ๓,๑๖๘ ลำ
การเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของคลองดำเนินสะดวกนั้นยังเห็นได้จาก ในปี ๒๔๔๗ เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทราบโดยทั่วกันว่า คลองดำเนินสะดวกซึ่งทรงพระกรุณาให้กระทรวงเกษตราธิการขุดซ่อมใหม่ นั้นได้ขุดซ่อมเสร็จแล้ว กำหนดเปิดให้ประชาชนใช้คลองได้ตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทรวงเกษตราธิการเป็นเจ้าหน้าที่จัดการรักษาและซ่อมคลองนี้ไว้ให้เรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนใช้คลองได้โดยสะดวกเสมอไป ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกกฎข้อบังคับไว้เพื่อดูแลรักษาคลองแห่งนี้ เช่น กฎเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นข้อบังคับสำหรับคลองดำเนินสะดวก กฎกระทรวงเกษตราธิการ สำหรับเจ้าพนักงานรักษาคลองดำเนินสะดวก
หลักฐานต่างๆเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าคลองดำเนินสะดวกหรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า“คลองใหญ่” เป็นคลองสายสำคัญสายหนึ่ง ที่มีเอกลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเป็นเส้นทางคมนาคม ขนส่งสินค้า ตลอดจนสองฝั่งคลองยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของไทย นอกจากนี้การขุดคลองดำเนินสะดวก ยังส่งผลต่อการเมือง การปกครอง ทำให้พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินตามหัวเมืองต่างๆ และสามารถเข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรได้เนื่องจากมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น คลองดำเนินสะดวกจึงถือเป็นคลองที่สำคัญแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย
ภาพ ๑ บ้านเรือนบริเวณริมคลองดำเนินสะดวก พ.ศ.๒๔๗๙
ภาพ ๒ เรือบรรทุกหอมบริเวณคลองดำเนินสะดวก พ.ศ.๒๔๗๙
ภาพ ๓ เรือบรรทุกพริกในคลองดำเนินสะดวก พ.ศ.๒๔๗๙
ภาพ ๔ คลองดำเนินสะดวก ภาพโดยคุณ ณัฐวุฒิ คล้ายศิริ
ที่มาของภาพ: https://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/
------------------------------------------
เรียบเรียง : นางสาวปราจิน เครือจันทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
-----------------------------------------*
อ้างอิง
มโน กลีบทอง,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี,สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,พ.ศ.๒๕๔๔. สถาบันดำรงราชานุภาพ “รายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ.๑๑๗” การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.๒๕๕๕. องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี,พระบรมราชจักรีวงศ์กับเมืองราชบุรี,กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์,๒๕๒๕.พระบรมราชจักรีวงศ์กับเมืองราชบุรี, จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช ๒๕๒๕. หจช.,ร๕กษ๙/๕, รายงานโครงการทดน้ำไขน้ำสำหรับเขตที่ราบแห่งลาดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ของมิสเตอร์ เยโฮมานวาเดอร์ ไฮเด กระทรวงเกษตราธิการ ( ๒๔ ม.ค.ปี ๒๔๔๖,หน้า ๖๑).
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จพระราชดำเนินคลองดำเนินสะดวกหลายครั้งทั้งเสด็จประพาสและเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปยังที่ต่างๆ ในปี ๒๔๓๑ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่ ๓ ปรากฏในพระราชนิพนธ์ว่า“...วันพฤหัสบดีขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๓ ...เสด็จจากเมืองราชบุรีล่องลงไปถึงบ้านสี่หมื่นไปตามคลองดำเนินสะดวก ผ่านวัดโชติทายการามถึงหลักเจ็ด โคกไผ่ เมื่อถึงหลักห้าก็เป็นอันสิ้นสุดเขตเมืองราชบุรี...”
ต่อมาในปี ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นที่คลองดำเนินสะดวก ซึ่งจดหมายนายทรงอานุภาพ (สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) มหาดเล็กผู้ตามเสด็จได้บันทึกไว้ว่า “...ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ ออกเรือล่วงหน้ามาคอยเสด็จอยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวก พอประมาณ ๔ โมงเช้ากระบวนเสด็จมาถึงเลยเข้าคลองต่อมา น้ำกำลังท่วมทุ่งคันคลองเจิ่งทั้งสองข้างแล่นเรือได้สะดวก พอบ่ายสัก ๓ โมงก็มาถึงหลักหกหยุดกระบวนประทับแรมที่วัดโชติทายการาม...”
ผลจากการขุดคลองดำเนินสะดวกในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นส่งเสริมการค้าหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง การคมนาคมสัญจรไปมาติดต่อกันทางน้ำด้วยความสะดวกแล้ว ยังส่งผลให้ผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตลอดคลองดำเนินสะดวกเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนมาก ดังรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรีปี ๒๔๔๑ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุว่า “...ที่สองฟากคลองดำเนินสะดวก เปนที่ทิ้งให้รกร้างอยู่มากกว่าที่มีผู้ทำเปนไร่นา ได้ความว่าที่เหล่านี้ที่จริงเปนที่ดี แต่เปนที่มีเจ้าของอยู่ในวงษ์วานญาติของสมเด็จเจ้าพระยา...” เปรียบเทียบกับปี ๒๔๕๒ ซึ่งในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีกล่าวถึงถึงพื้นที่คลองดำเนินสะดวกไว้ว่า“...ในลำคลองระยะหลัก๑ หลัก๒ จนกระทั่งถึงหลัก ๓ เดิมเป็นจากและปรง เดี๋ยวนี้มีจากและปรงเข้าไปไม่ถึงหลัก ๑ เป็นไร่นาไปหมดได้ความว่าดีมาก...”แสดงให้เห็นว่ามีผู้เข้ามาอยู่อาศัยบริเวณคลองดำเนินสะดวกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการขุดคลองลัดซอยมากกว่า ๒๐๐ คลองในเวลาต่อมา และมีการบุกเบิกป่ากลายเป็นนาเปลี่ยนจากนามาเป็นสวนเป็นไร่มากขึ้น
นอกจากนี้ในรายงานโครงการทดน้ำไขน้ำฯ ของมิสเตอร์ เยโฮมานวาเดอร์ ไฮเด กระทรวงเกษตราธิการ ได้กล่าวถึงปริมาณเรือที่เข้าออกในคลองดำเนินสะดวกนั้นมีเป็นจำนวนมากเพราะนอกจากจะมีเรือซื้อข้าวและเรือสินค้าดังกล่าวแล้ว ยังมีเรือสินค้าอื่นๆแทบทุกอย่าง ทั้งเครื่องอุปโภค บริโภคจากกรุงเทพฯ เข้ามาด้วย จำนวนเรือที่เข้าออกในคลองนี้ชั่วระยะเวลาเพียง๕วัน ในช่วงเดือนเม.ย.พ.ศ. ๒๔๔๕ มีจำนวนถึง ๓,๑๖๘ ลำ
การเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของคลองดำเนินสะดวกนั้นยังเห็นได้จาก ในปี ๒๔๔๗ เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทราบโดยทั่วกันว่า คลองดำเนินสะดวกซึ่งทรงพระกรุณาให้กระทรวงเกษตราธิการขุดซ่อมใหม่ นั้นได้ขุดซ่อมเสร็จแล้ว กำหนดเปิดให้ประชาชนใช้คลองได้ตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทรวงเกษตราธิการเป็นเจ้าหน้าที่จัดการรักษาและซ่อมคลองนี้ไว้ให้เรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนใช้คลองได้โดยสะดวกเสมอไป ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกกฎข้อบังคับไว้เพื่อดูแลรักษาคลองแห่งนี้ เช่น กฎเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นข้อบังคับสำหรับคลองดำเนินสะดวก กฎกระทรวงเกษตราธิการ สำหรับเจ้าพนักงานรักษาคลองดำเนินสะดวก
หลักฐานต่างๆเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าคลองดำเนินสะดวกหรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า“คลองใหญ่” เป็นคลองสายสำคัญสายหนึ่ง ที่มีเอกลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเป็นเส้นทางคมนาคม ขนส่งสินค้า ตลอดจนสองฝั่งคลองยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของไทย นอกจากนี้การขุดคลองดำเนินสะดวก ยังส่งผลต่อการเมือง การปกครอง ทำให้พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินตามหัวเมืองต่างๆ และสามารถเข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรได้เนื่องจากมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น คลองดำเนินสะดวกจึงถือเป็นคลองที่สำคัญแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย
ภาพ ๑ บ้านเรือนบริเวณริมคลองดำเนินสะดวก พ.ศ.๒๔๗๙
ภาพ ๒ เรือบรรทุกหอมบริเวณคลองดำเนินสะดวก พ.ศ.๒๔๗๙
ภาพ ๓ เรือบรรทุกพริกในคลองดำเนินสะดวก พ.ศ.๒๔๗๙
ภาพ ๔ คลองดำเนินสะดวก ภาพโดยคุณ ณัฐวุฒิ คล้ายศิริ
ที่มาของภาพ: https://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/
------------------------------------------
เรียบเรียง : นางสาวปราจิน เครือจันทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
-----------------------------------------*
อ้างอิง
มโน กลีบทอง,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี,สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,พ.ศ.๒๕๔๔. สถาบันดำรงราชานุภาพ “รายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ.๑๑๗” การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.๒๕๕๕. องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี,พระบรมราชจักรีวงศ์กับเมืองราชบุรี,กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์,๒๕๒๕.พระบรมราชจักรีวงศ์กับเมืองราชบุรี, จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช ๒๕๒๕. หจช.,ร๕กษ๙/๕, รายงานโครงการทดน้ำไขน้ำสำหรับเขตที่ราบแห่งลาดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ของมิสเตอร์ เยโฮมานวาเดอร์ ไฮเด กระทรวงเกษตราธิการ ( ๒๔ ม.ค.ปี ๒๔๔๖,หน้า ๖๑).
(จำนวนผู้เข้าชม 965 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน