วัดช้างรอบ โบราณสถานเมืองกำแพงเพชร
โบราณสถานวัดช้างรอบตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรัง นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรากฏแนวกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงเฉพาะด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งรูปแบบการสร้างขององค์เจดีย์ได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย เจดีย์ประธานประกอบด้วยฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่ เพื่อใช้ขึ้นไปถึงลานด้านบนหรือลานประทักษิณ ส่วนของผนังฐานสี่เหลี่ยมของเจดีย์ประธานประดับประติมากรรมรูปช้างปูนปั้นจำนวน ๖๘ เชือก ลักษณะของงานประติมากรรมรูปช้างปรากฏเฉพาะส่วนหัวและสองขาหน้าโผล่พ้นจากฐานประทักษิณ มีการประดับลวดลายปูนปั้นที่บริเวณแผงคอ มงกุฎที่ส่วนหัว กำไลโคนขาและข้อเท้า ผนังระหว่างช้างแต่และเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนต่ำรูปพันธุ์พฤกษา โดยลวดลายปูนปั้นรูปใบระกาที่ปรากฏบนแผงคอประติมากรรมรูปช้างมีความคล้ายคลึงกับลายชายผ้าของเทวรูปพระอิศวรสำริด ที่พบยังเมืองกำแพงเพชร ซึ่งมีจารึกที่ระบุปี พ.ศ. ๒๐๕๓ จึงสามารถกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรม (Comparative dating) ได้ว่าเจดีย์ประธานวัดช้างรอบแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑
ชานบันไดแต่ละด้านประดับสิงห์และทวารบาลปูนปั้น บันไดด้านบนสุดที่เข้าสู่ลานประทักษิณทำเป็นซุ้มประตูมีหลังคายอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนของลานประทักษิณก่ออิฐเป็นกำแพงเตี้ย ๆ ล้อมรอบและเชื่อมต่อซุ้มประตูทั้ง ๔ ด้าน ทั้งสี่มุมของลานประทักษิณมีฐานเจดีย์ขนาดเล็ก พบหลักฐานส่วนยอดที่หักเป็นเจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง
ส่วนของเจดีย์ที่อยู่เหนือชั้นฐานประทักษิณคงเหลือเฉพาะชั้นหน้ากระดานแปดเหลี่ยมและชั้นหน้ากระดานกลม ส่วนองค์ระฆังขึ้นไปพังทลายหมดแล้ว ที่ชั้นหน้ากระดานกลมเหนือฐานแปดเหลี่ยมมีช่องรอบองค์เจดีย์และประดับภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ เช่น ตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงประลองศร เป็นต้น โดยภาพปูนปั้นเหล่านี้ มีลักษณะพิเศษคือการใช้สีดำร่างลายเส้นรูปภาพก่อน แล้วจึงใช้ปูนปั้นทับลายเส้นภายหลัง ส่วนบริเวณด้านล่างของภาพปูนปั้นมีการประดับด้วยประติมากรรมดินเผารูปหงส์และกินรี
ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีฐานวิหารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในวิหารปรากฏแนวแท่นอาสนสงฆ์และฐานประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เสารองรับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยม หลังคาแต่เดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา โดยพบหลักฐานโบราณวัตถุประเภทกระเบื้องดินเผาแบบกาบกล้วยและกระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวและลายเทพพนม กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ ถัดไปทางด้านหน้าวิหารเป็นสระรูปสี่เหลี่ยมที่ขุดตัดลงไปในชั้นศิลาแลงเพื่อนำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร ส่วนอุโบสถอยู่เยื้องวิหารไปทางทิศเหนือ มีใบเสมาทำจากหินชนวนปักโดยรอบ ตัวอาคารก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอุโบสถก่อเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมมีบันไดทางด้านหน้าเพียงแห่งเดียว บนอาคารอุโบสถปรากฏร่องรอยของฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนโกลนของหน้าตัก เจดีย์ทรงระฆังที่มีการประดับประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบฐานของเจดีย์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า เจดีย์ช้างล้อม นั้น นิยมสร้างกันมากในสมัยสุโขทัย อาทิ วัดช้างล้อมแห่งเมืองศรีสัชนาลัย วัดช้างล้อมและวัดสรศักดิ์ แห่งเมืองสุโขทัย เป็นต้น สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมและคติการสร้างเจดีย์ช้างล้อม จากการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาผ่านทางเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๙ – ๓๑ ความว่า
“...สังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวักกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา…” และจากหลักฐานการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนากับศรีลังกา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม
ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๕๑ – ๕๘ ความว่า
“…หมทลาประดิษฐานไว้ด้วยพระบาทลักษณะหั้นพระบาทลักษณะนั้นไซร้ พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์เอารอยตีน…..พระเป็นเจ้าเถิงสิงหลอันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต ประมานเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้ จุ่งคนทั้งหลายแท้…อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองศรีสัชชนาลัยเหนือจอมเขา…อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองสุโขไทยเหนือจองเขาสุมนกูฏ อันหนิค่งประดิษฐานไว้ในเมืองบางพานเหนือจอมเขานางทอง อันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือ จอมเขาที่ปากพระบาง จารึกก็ยังไว้ด้วยทุกแห่งฯ...”
ลักษณะการสร้างวัดช้างรอบ ที่เจดีย์ประธานมีประติมากรรมรูปช้างประดับโดยรอบนั้น สันนิษฐานว่ามีแนวคิดหลักมาจากคติเรื่องศูนย์กลางจักรวาล โดยสื่อว่าเจดีย์ประธานทรงระฆังคือเขาพระสุเมรุ ซึ่งมีองค์ประกอบที่ใช้ประดับตกแต่งโดยรอบคือสัญลักษณ์ที่ใช้เปรียบเทียบเป็นส่วนต่าง ๆ โดยรอบเขาพระสุเมรุ เช่น ช้างที่มีหน้าที่แบกหรือค้ำจุนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นต้น
---
-------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
----------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. ประทีป เพ็งตะโก. “กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๐. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย: บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สมาพันธ์, ๒๕๖๓. อนันต์ ชูโชติ. “เจดีย์วัดช้างรอบ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร.” สาระนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๒๓.
ชานบันไดแต่ละด้านประดับสิงห์และทวารบาลปูนปั้น บันไดด้านบนสุดที่เข้าสู่ลานประทักษิณทำเป็นซุ้มประตูมีหลังคายอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนของลานประทักษิณก่ออิฐเป็นกำแพงเตี้ย ๆ ล้อมรอบและเชื่อมต่อซุ้มประตูทั้ง ๔ ด้าน ทั้งสี่มุมของลานประทักษิณมีฐานเจดีย์ขนาดเล็ก พบหลักฐานส่วนยอดที่หักเป็นเจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง
ส่วนของเจดีย์ที่อยู่เหนือชั้นฐานประทักษิณคงเหลือเฉพาะชั้นหน้ากระดานแปดเหลี่ยมและชั้นหน้ากระดานกลม ส่วนองค์ระฆังขึ้นไปพังทลายหมดแล้ว ที่ชั้นหน้ากระดานกลมเหนือฐานแปดเหลี่ยมมีช่องรอบองค์เจดีย์และประดับภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ เช่น ตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงประลองศร เป็นต้น โดยภาพปูนปั้นเหล่านี้ มีลักษณะพิเศษคือการใช้สีดำร่างลายเส้นรูปภาพก่อน แล้วจึงใช้ปูนปั้นทับลายเส้นภายหลัง ส่วนบริเวณด้านล่างของภาพปูนปั้นมีการประดับด้วยประติมากรรมดินเผารูปหงส์และกินรี
ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีฐานวิหารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในวิหารปรากฏแนวแท่นอาสนสงฆ์และฐานประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เสารองรับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยม หลังคาแต่เดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา โดยพบหลักฐานโบราณวัตถุประเภทกระเบื้องดินเผาแบบกาบกล้วยและกระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวและลายเทพพนม กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ ถัดไปทางด้านหน้าวิหารเป็นสระรูปสี่เหลี่ยมที่ขุดตัดลงไปในชั้นศิลาแลงเพื่อนำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร ส่วนอุโบสถอยู่เยื้องวิหารไปทางทิศเหนือ มีใบเสมาทำจากหินชนวนปักโดยรอบ ตัวอาคารก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอุโบสถก่อเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมมีบันไดทางด้านหน้าเพียงแห่งเดียว บนอาคารอุโบสถปรากฏร่องรอยของฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนโกลนของหน้าตัก เจดีย์ทรงระฆังที่มีการประดับประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบฐานของเจดีย์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า เจดีย์ช้างล้อม นั้น นิยมสร้างกันมากในสมัยสุโขทัย อาทิ วัดช้างล้อมแห่งเมืองศรีสัชนาลัย วัดช้างล้อมและวัดสรศักดิ์ แห่งเมืองสุโขทัย เป็นต้น สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมและคติการสร้างเจดีย์ช้างล้อม จากการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาผ่านทางเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๙ – ๓๑ ความว่า
“...สังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวักกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา…” และจากหลักฐานการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนากับศรีลังกา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม
ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๕๑ – ๕๘ ความว่า
“…หมทลาประดิษฐานไว้ด้วยพระบาทลักษณะหั้นพระบาทลักษณะนั้นไซร้ พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์เอารอยตีน…..พระเป็นเจ้าเถิงสิงหลอันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต ประมานเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้ จุ่งคนทั้งหลายแท้…อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองศรีสัชชนาลัยเหนือจอมเขา…อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองสุโขไทยเหนือจองเขาสุมนกูฏ อันหนิค่งประดิษฐานไว้ในเมืองบางพานเหนือจอมเขานางทอง อันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือ จอมเขาที่ปากพระบาง จารึกก็ยังไว้ด้วยทุกแห่งฯ...”
ลักษณะการสร้างวัดช้างรอบ ที่เจดีย์ประธานมีประติมากรรมรูปช้างประดับโดยรอบนั้น สันนิษฐานว่ามีแนวคิดหลักมาจากคติเรื่องศูนย์กลางจักรวาล โดยสื่อว่าเจดีย์ประธานทรงระฆังคือเขาพระสุเมรุ ซึ่งมีองค์ประกอบที่ใช้ประดับตกแต่งโดยรอบคือสัญลักษณ์ที่ใช้เปรียบเทียบเป็นส่วนต่าง ๆ โดยรอบเขาพระสุเมรุ เช่น ช้างที่มีหน้าที่แบกหรือค้ำจุนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นต้น
---
-------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
----------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. ประทีป เพ็งตะโก. “กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๐. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย: บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สมาพันธ์, ๒๕๖๓. อนันต์ ชูโชติ. “เจดีย์วัดช้างรอบ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร.” สาระนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๒๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 20145 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน