เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลองสำคัญในประวัติศาสตร์ปัตตานี
การสำรวจคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ปัตตานี ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา ดำเนินการสำรวจคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ปัตตานี โดยเป็นการสำรวจในข้อมูลภาคสนาม ครอบคลุมเส้นทางการไหลของคลองทั้งสิ้น ๑๐ สาย โดยสรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
๑.คลองกือเซะ
คลองกือเซะจัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกในกลุ่มลุ่มน้ำสาขาภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง(พื้นที่ส่วนที่๓) คลองสายนี้ไหลผ่านพื้นที่ด้านทิศเหนือของอำเภอยะรัง และทิศตะวันอออกของอำเภอเมืองปัตตานี โดยส่วนปลายของคลองนี้จะไปรวมกับคลองมานิงที่บ้านปาเระ ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี รวมระยะความยาวของคลองสายนี้ประมาณ ๑๐.๘ กิโลเมตร
ในสมัยรายาฮีเยาครองบัลลังก์เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาในคลองกือเซะจนไม่สามารถอำนวยประโยชน์ในการเกษตรกรรมได้
“...รายาฮีเยาทรงรับสั่งให้ราษฎรพร้อมกันขุดคลอง โดยเริ่มจากรือเซะมุ่งไปทางทิศเหนือจนถึงแม่น้ำที่อ่าวเตอร์มางัน (ใกล้กับหมู่บ้านปรีกีปัจจุบัน) เมื่อสามารถขุดคลองเชื่อมกับแม่น้ำแล้ว น้ำก็ไหลมาตามคลองแห่งใหม่ผ่านคลองกรือเซะแล้วไหลออกทะเลตรงอ่าวรา เมื่อน้ำทางเหนือไหลออกคลองกรือเซะก็เป็นผลให้น้ำจืดลง ทุ่งนาบริเวณนั้นก็ให้ผลเป็นที่พอใจ...”
เมื่อถึงสมัยรายาบีรูก็เกิดปัญหาขึ้นกับคลองกือเซะอีกครั้ง ดังปรากฏในตำนานเมืองปัตตานีว่า
“...และพบว่ากระแสน้ำไหลแรงเซาะริมฝั่งที่ติดต่อกับพระราชวังได้รับความเสียหายอีกประการหนึ่งน้ำในคลองกรือเซะกลายเป็นน้ำจืด จึงเป็นเหตุให้นาเกลือตรงชายทะเลไม่สามารถเป็นเกลือได้เพราะน้ำลดความเค็มลง รายาบีรูจึงมีกระแสรับสั่งให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำที่ไหลมาจากด้านเหนือ โดยไหลเข้าคลองกรือเซะและได้ปิดคลองปาฟีรีด้วย เขื่อนดังกล่าวนั้นสร้างด้วยหินและให้นามหมู่บ้านนั้นว่าบ้านทำนบหิน(บ้านตาเนาะบาตู)...”
๒.คลองเตอมางัน
เป็นคลองขุดแยกจากคลองกือเซะที่บ้านตาเนาะบาตู ตำบลคลองมะนิง อำเภอเมืองปัตตานี แล้วไหลผ่านเข้าไปในพื้นที่ตำบลสะดาวา ตำบลประจัน ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตูมุดี อำเภอยะรัง และไหลไปรวมกับแม่น้ำปัตตานีในบริเวณตำบลกระโด อำเภอยะรัง คลองสายนี้เป็นคลองขุด ซึ่งรายาฮิเยารับสั่งให้ขุดขึ้น เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำปัตตานี เข้ามาเพิ่มในคลองกือเซะ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกคลองกือเซะ จนไม่สามารถทำนาได้ แต่ในเวลาต่อมาน้ำจืดจากคลองนี้ไหลเข้าไปในคลองกือเซะมากเกินไปจนเกิดปัญหาในการทำนาเกลือ รายาบีรูจึงรับสั่งให้สร้างทำนบหินกั้นคลองสายนี้ที่บริเวณบ้านตาเนาะบาตู จากการสำรวจพบว่าคลองสายนี้อาจไม่ใช่คลองขุดทั้งสาย โดยในบางช่วงอาจเป็นการขุดลอกแนวคลองเดิมในบางพื้นที่ให้ลึกขึ้น ทั้งนี้สามารถแบ่งช่วงของคลองสายนี้ได้เป็น ๔ ช่วง
๓.คลองมานิง
คลองมานิงจัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกในกลุ่มลุ่มน้ำสาขาภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง(พื้นที่ส่วนที่๓) คลองสายนี้ไหลผ่านอำเภอยะรัง และทิศตะวันออกของอำเภอเมืองปัตตานี รวมระยะความยาวของคลองสายนี้จากบึงบาโง ตำบลวัด อำเภอยะรัง มาจนถึงตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๓๒ กิโลเมตร คลองแห่งนี้เป็นเส้นทางสำคัญในการเดินทางและการค้า เนื่องจากเป็นคลองใหญ่มีน้ำมาก และสามารถเชื่อมต่อเข้าไปได้ถึงเมืองโบราณยะรัง ดังนั้นในระหว่างทางเดินของลำน้ำจึงมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เรียงรายอยู่มากมายเช่น กาแลบือซา(ท่าใหญ่) ทีเยรายอ(สถานที่พบเสากระโดงเรือ) เป็นต้น
๔.คลองปาเระ
คลองปาเระหรือสุไหงปาเระ เป็นคลองที่เกิดจากการบรรจบกันของคลองกือเซะกับคลองมานิง(คลองบ้านดี) ที่บ้านปาเระ หมู่ที่ ๒ ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีกราว ๑.๒ กิโลเมตร ก็บรรจบกับทะเลที่อ่าวปัตตานีที่กัวลาอารู (Kuala-Aru) คลองแห่งนี้เป็นต้นทางที่จะสามารถเดินทางเข้าสู่เมืองปัตตานีทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นต้นทางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังกาแลบือซา ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่สำหรับขึ้นลงสินค้าภายในคลองมานิงได้ด้วย และริมคลองนี้ยังเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของเชลยชาวพะโคและล้านช้าง ซึ่งกษัตริย์อยุธยาพระราชทานแก่สุลต่านมันโซร์ ชาห์ แห่งปัตตานีด้วย
๕.คลองปาเปรี
คลองปาเปรีหรือสุไหงปาเปรี ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ บ้านตันหยงลุโละ ตำบลตันหยงลุโละ และหมู่ที่ ๑ บ้านปาเระ ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี มีลักษณะเป็นคลองสายสั้นไหลลงสู่อ่าวปัตตานีเหนือกัวลาอารู ในอดีตพื้นที่บริเวณต้นคลองเคยมีฐานะเป็นคูเมืองปัตตานีด้านทิศเหนือ และในตำนานเมืองปัตตานีกล่าวว่าคลองสายนี้เคยถูกปิดไปครั้งหนึ่งในสมัยรายาบีรู เมื่อครั้งเกิดปัญหาน้ำจืดไหลเข้ามาในคลองกือเซะมากเกินไปจนทำนาเกลือไม่ได้
๖.คลองคูเมืองปัตตานีด้านทิศตะวันตก
คลองคูเมืองปัตตานีด้านทิศตะวันตกตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๑ บ้านตันหยงลุโละ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี คลองสายนี้เป็นคลองขุดเชื่อมคลองปาเปรีซึ่งเป็นคูเมืองด้านทิศเหนือ กับคลองกือเซะซึ่งเป็นคูเมืองด้านทิศใต้ คลองสายนี้นอกจากทำหน้าที่เป็นคูเมืองแล้ว ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของคลองสายนี้ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างแนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกซึ่งมีประตูเมืองใหญ่คือปินตูกรือบันหรือประตูชัยฮังตูวะห์ตั้งอยู่ กับลานใหญ่หน้ามัสยิดกรือเซะ จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งผู้คนสัญจรไปมามากมาย
๗.คลองดัชต์และกาแลเบอลันดา
คลองดัชต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ บ้านบาน ตำบลบานา และหมู่ที่ ๑ บ้านตันหยงลุโละ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ในอดีตคลองแห่งนี้เป็นลำน้ำใหญ่ กล่าวกันว่าเรือสินค้าขนาดใหญ่ของชาวต่างชาติเข้ามาจอดขนส่งสินค้าในคลองแห่งนี้ อีกทั้งสองฝั่งคลองยังเป็นที่ตั้งของสถานีการค้าและโกดังสินค้าของต่างชาติ โดยสถานีการค้าที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงคือห้างของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (VOC) และมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีชื่อเสียงเรียกโดยภาษาท้องถิ่นว่า กาแลเบอลันดา ส่วนคลองก็เรียกกันว่าคลองดัชต์ หรือบางครั้งก็เรียกทับศัพท์ว่า คลองกาแลเบอลันดา
๘.อาอีลีเละฮ์
อาอีลีเละฮ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลบานา และหมู่ที่ ๓ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี มีลักษณะเป็นคลองสายสั้น โดยแนวคลองนี้จะตัดผ่านคลองดัชต์ ทำให้คลองถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนเหนือและส่วนใต้ ในอดีตคลองแห่งนี้เป็นลำน้ำสาขาที่แยกออกจากคลองดัชต์ โดยการที่ปลายข้างเหนือสามารถออกทะเลได้ ส่วนปลายด้านใต้สามารถเชื่อมต่อไปจนถึงกรือเซะ จึงเป็นคลองย่อยที่สถานีการค้าหรือห้างของบริษัทต่างชาติ ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าทั้งนำเข้าไปยังเมืองปัตตานี และรับสินค้าจากในเมืองมาเก็บที่โกดัง ก่อนนำลงเรือใหญ่เพื่อส่งขายยังต่างเมืองต่อไป
๙.สุไหงปาแน
สุไหงปาแนตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๑ บ้านสุไหงปาแน ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี สุไหงปาแน(คลองหมาก) เป็นคลองที่มีจุดเริ่มต้นจากการรับน้ำจากทุ่งซึ่งมีลักษณะเป็นพรุขนาดใหญ่ในพื้นที่หมู่ที่ ๑ บ้านสุไหงปาแน ตำบลบานา จากนั้นมีทิศทางการไหลของน้ำจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก โดยจะไปรวมกับคลองกือเซะที่บ้านกรือเซะ(กำปงปัง) หมู่ที่ ๓ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี และการที่ปลายคลองสายนี้ไปบรรจบกับคลองกือเซะซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับคูเมืองปัตตานีได้ จึงทำให้คลองสายนี้กลายเป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญสำหรับการขนถ่ายสินค้าเข้าออกเมืองปัตตานี
๑๐.คลองสาย
คลองสายหรือสุไหงปายอ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ บ้านยือแร ตำบลยะรัง พื้นที่เทศบาลตำบลยะรัง และหมู่ที่ ๒ บ้านบาซาเวาะเซ็ง ตำบลปิตูมุดี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี กล่าวกันว่าในอดีต คลองสายเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับชะวากทะเลโบราณยะรัง กับกลุ่มเมืองโบราณยะรัง โดยมีการสร้างเมืองขนาดเล็กไว้ในบริเวณใกล้กับปากคลองซึ่งมีชื่อเรียกว่า กอจอกะจิ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของหมู่ที่ ๑ บ้านกรือเซะ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
--------------------------------------------
บทความเรียบเรียง โดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
--------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 6660 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน