เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เรื่องเล่าจากหอสมุดแห่งชาติ: กระดาษเคลือบยาพิษ...ภูมิปัญญาของคนจีน
ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดผ่านต่อความคิดรุ่นต่อรุ่นมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะภูมิปัญญาในการผลิตกระดาษขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งคิดค้นโดย ไช่หลุน ปราชญ์เมธีสมัยราชวงศ์ฮั่น (ฮั่นตะวันออก) โดยการนำเปลือกของต้นไม้ ป่าน เศษผ้า และตาข่ายดักปลาแช่น้ำรวมกันให้เปื่อยแล้วนำไปบดผสมกันจนป่น หลังจากนั้นนำมาตากแห้งจนกลายมาเป็นแผ่นๆ โดยเรียกว่า กระดาษไช่หลุน ซึ่งการผลิตกระดาษของไช่หลุน นับว่าเป็นต้นกำเนิดของประดิษฐกรรมและวิทยาการต่างๆของโลก และที่สำคัญกระดาษนับว่าเป็นสัญลักษณ์มงคลของลูกหลานพันธุ์มังกร และเป็นหนึ่งในสี่สิ่งล้ำค่าในห้องหนังสือ (เหวินฝางซื่อเป่า) ที่ต้องมีซึ่งประกอบด้วย พู่กัน (ปี่) หมึก (ม่อ) กระดาษ (จื่อ) และจานฝนหมึก (เอี้ยน) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง มีการผลิตกระดาษซึ่งทำมาจากฟางข้าวและเปลือกไม้จันทน์ขึ้น เรียกว่า กระดาษซวนจื่อ เป็นกระดาษที่มีคุณภาพดี ลักษณะเนื้อกระดาษมีความเหนียว สามารถซึมซับน้ำและหมึกได้เป็นอย่างดี มีความเรียบลื่นและอ่อนนุ่ม สามารถม้วนเก็บไว้ได้โดยง่าย มีน้ำหนักเบา และคุณสมบัติที่พิเศษที่สุดคือ สามารถถ่ายทอดความงามของหมึกและสีได้เป็นอย่างดี สีหมึกยังคงเข้มและสดเสมอ อีกทั้งยังสามารถรักษาสภาพของงานจิตรกรรมและลายตัวอักษรให้คงทนถาวรนับร้อยนับพันปี โดยที่เนื้อกระดาษไม่เปื่อยยุ่ย ทั้งนี้กระบวนการผลิตกระดาษซวนจื่อที่มีชื่อเสียง ซึ่งตั้งอยู่มณฑลอันฮุยของจีนนั้น ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากองค์การยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ (ค.ศ. 2009) อีกด้วย
ภาพ : ไช่หลุน ปราชญ์เมธี (ขันที) สมัยราชวงศ์ฮั่น (ฮั่นตะวันออก)
ภาพ : กระดาษซวนจื่อ
สำหรับผู้อ่านท่านใดต้องการเห็นหรือสัมผัสกระดาษซวนจื่อ รวมถึงอ่านเรื่องราวต่างๆ ที่นำมาเขียนอักษรด้วยพู่กันจีนนั้น สามารถหาอ่านได้ที่ห้องหนังสือนานาชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งภายในห้องหนังสือนานาชาติ ได้รวบรวมและให้บริการหนังสือซึ่งเป็นภาษาของแต่ละประเทศ จำนวน ๖๔ ประเทศ รวม ๕๕ ภาษา และหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนหนังสือมากที่สุดคือ หนังสือภาษาจีน โดยให้บริการต้นฉบับหายากและรูปเล่มปัจจุบัน
ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงหนังสือภาษาจีนหายากซึ่งมีอายุมากกว่าร้อยปี คือ หนังสือชุดประวัติศาสตร์จีน โดยแบ่งออกเป็นยุคราชวงศ์ต่างๆของจีน อาทิ ราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ชิง เป็นต้น ซึ่งมีจำนวน ๑,๖๐๐ เล่ม ที่สำคัญหนังสือชุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนจีนอย่างแท้จริงในการคิดค้นวิธีในการดูแลรักษากระดาษให้มีระยะการใช้งานที่ยาวนานและไม่มีแมลงกัดกินทำลายกระดาษ ซึ่งความพิเศษของหนังสือชุดนี้คือ เนื้อหาภายในเล่ม ถูกเขียนขึ้นด้วยพู่กันจีนลงบนกระดาษซวนจื่อ ซึ่งถูกย้อมด้วยน้ำคั้นจากต้นชวนหวงป้อ พืชสมุนไพรจีนที่ให้สีเหลือง โดยน้ำคั้นที่ได้นั้นมีคุณสมบัติสำคัญในการป้องกันแมลง
ภาพ : ต้นชวนหวงป้อ
ภาพ : เปลือกไม้ชวนหวงป้อตากแห้ง
แต่สำหรับใบรองปกหนังสือนั้นจะถูกเคลือบด้วยสารเคมี ที่เรียกว่าสารหนูซึ่งเป็นสารพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอาจารย์แห่งสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และอาจารย์ประจำคณะภาษาเอเชียและแอฟริกา มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ที่เดินทางมาค้นคว้าและเยี่ยมชมสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นมีเหตุผลเพื่อป้องกันหนอนและแมลงกัดกินทำลายกระดาษและเล่มหนังสือ เนื่องจากในอดีตยังไม่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการป้องกันแมลงดังเช่นปัจจุบัน สำหรับสารหนูที่เคลือบบนใบรองปกนั้นมีสีส้มเนื่องจาก สีส้มหรือสีเหลืองเป็นสีสัญลักษณ์ซึ่งบ่งบอกถึงสีแห่งจักรพรรดิและความยิ่งใหญ่ และยังให้ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า ใบรองปกของหนังสือชุดนี้นั้นจะถูกพับและเย็บรวมเล่มไม่สามารถเปิดได้เพื่อไม่ให้สีฟุ้งกระจาย เป็นการป้องกันนักอ่านที่ชอบเอานิ้วแตะน้ำลายเปิดเล่มหนังสือ ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้อ่าน ดังนั้นหนังสือชุดนี้จึงต้องอยู่ในความดูแลของบรรณารักษ์ หากผู้ใช้บริการต้องการอ่านหนังสือชุดนี้จะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่สำนักหอสมุดแห่งชาติกำหนด
หนังสือชุดประวัติศาสตร์จีนที่ผลิตด้วยกระดาษซวนจื่อย้อมด้วยน้ำคั้นจากต้นชวนหวงป้อ ใบรองปกเคลือบด้วยสารพิษเพื่อป้องกันแมลงกัดกินทำลายกระดาษ และเขียนสันและเนื้อหาภายในเล่มด้วยพู่กันจีน
-----------------------------------------------
เรียบเรียงนางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
-----------------------------------------------
บรรณานุกรม
กำธร สถิรกุล. หนังสือและการพิมพ์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๑๕. เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา : คนจีนสมัยโบราณใช้อะไรแก้ไขกลบคำผิด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓, จาก: http://thai.cri.cn/247/2012/01/10/225s193728.htm. ๒๕๖๓. เทมเพิล, โรเบิร์ต. ต้นกำเนิด ๑๐๐ สิ่งแรกของโลก. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๔. ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. ๑๐๘ สิ่งมิ่งมงคล. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, ๒๕๕๓. พงศ์ศิษฏ์ อุดหนุนสมบัติ. ขันที : คนไม่เต็มคน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓, จาก: https://www.arsomsiam.com/%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99/. ๒๕๖๓ ภาสกิจ วัณนาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ ๑๐๐ สมุนไพรจีน. กรุงเทพฯ: ทองเกษม, ๒๕๕๕. Traditional handicrafts of making Xuan paper. [Online]. retrieved 28 July 2020, from: https://ich.unesco.org/en/RL/traditional-handicrafts-of-making-xuan-paper-00201. 2009. Huangbo (黄柏 ). [Online]. retrieved 28 July 2020, from: http://www.bucm.edu.cn. ส่องกรรมวิธีพิถีพิถันกว่าจะเป็นกระดาษเซวียนจื่อมรดกวัฒนธรรมโบราณ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓, จาก: https://www.xinhuathai.com/life-cul/105899_20200516. 2020. Deadly Poison Discovered on Medieval Book Covers Could Have Killed. [Online]. retrieved 28 July 2020, from: https://www.ancient-origins.net/artifacts-ancient-writings/deadly-poison-medieval-books-0010299. 2018.
(จำนวนผู้เข้าชม 4396 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน