จารึกหน้าบันวิหารธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
          สืบเนื่องจากองค์ความรู้ชุด “วิหารธรรมศาลา : พระวิหารสมัยอยุธยา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช” ซึ่งได้กล่าวถึงจารึกหน้าบันวิหารธรรมศาลา ๓ แผ่น และข้อสันนิษฐานว่าจารึกแผ่นที่ ๓ อาจสลักขึ้นใหม่ เนื่องจากข้อความในจารึกไม่สอดคล้องกับหลักฐานเอกสาร คือบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ซึ่งได้คัดลอกข้อความในจารึกหน้าบันวิหารธรรมศาลาไว้เมื่อครั้งตรวจราชการเมืองนครศรีธรรมราชใน ร.ศ.๑๒๑ (พุทธศักราช ๒๔๔๕) นั้น
          จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว นำมาสู่การค้นพบข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งว่า แท้จริงแล้ว จารึกทั้ง ๓ แผ่น น่าจะถูกถอดลงเมื่อครั้งบูรณะวิหารธรรมศาลาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ แล้วคัดลอกใหม่ทั้งหมดเพื่อแทนที่ของเดิมที่มีสภาพผุพัง เนื่องจากได้พบ “จารึกหน้าบันวิหารธรรมศาลา” แผ่นที่ ๑ ซึ่งเป็นจารึกแผ่นเดิมที่สลักขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
          จารึกหน้าบันวิหารธรรมศาลา ที่กล่าวถึงนี้ เป็นจารึกแผ่นที่ ๑ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของหน้าบัน มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนจารึกทั้ง ๓ แผ่น เป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ข้อความในจารึกมีจำนวน ๑ ด้าน ๔ บรรทัด ขนาดความสูงของตัวอักษรประมาณ ๕ - ๖ เซนติเมตร สลักบนแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕๒ เซนติเมตร ยาว ๑๓๔ เซนติเมตร หนา ๒.๕ เซนติเมตร มีเนื้อหากล่าวถึงการบูรณะวิหารธรรมศาลาในพุทธศักราช ๒๔๓๗ สันนิษฐานว่าผู้สร้างจารึกหลักนี้คือ พระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล (ปาน) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการบูรณะวิหารธรรมศาลาในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงบันทึกไว้ว่าในครั้งนั้นท่านปานได้ทำการบูรณะหลังคาวิหารธรรมศาลาขึ้นใหม่ แล้วเสร็จจึงสั่งให้สลักจารึกนี้ขึ้นประดับบนหน้าบันแต่นั้นมา

คำจารึก
๑. ศุกมัสดุพุทธศกราชล่วงแล้ว
๒. ได้สองพันสี่ร้อยสามสิบเจ็ด
๓. ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ
๔. ปีมเมีย ฉศก ได้ยกวิหารนี้

คำอ่าน
๑. ศุภมัสดุพุทธศักราชล่วงแล้ว
๒. ได้สองพันสี่ร้อยสามสิบเจ็ด
๓. ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ
๔. ปีมะเมีย ฉศก ได้ยกวิหารนี้

          จารึกแผ่นนี้ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ในคลังโบราณวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการวางแผนเพื่อนำส่งไปอนุรักษ์ที่กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔
          จากหลักฐานที่พบ จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าจารึกหน้าบันวิหารธรรมศาลาทั้ง ๓ แผ่นที่ปรากฏในปัจจุบัน น่าจะเป็นจารึกที่คัดลอกใหม่เพื่อแทนของเดิมที่ผุพังเสียหาย โดยอาจทำขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ ตามศักราชที่ปรากฏในจารึกแผ่นที่ ๓ สำหรับจารึกแผ่นที่ ๑ และแผ่นที่ ๒ นั้น เป็นการคัดลอกข้อความที่ปรากฏบนจารึกเดิม เพียงแต่มีรายละเอียดของรูปอักษรบางตัวและลายเส้นที่ต่างกัน ส่วนจารึกแผ่นที่ ๓ นั้น พบว่าถูกสลักขึ้นใหม่โดยมีข้อความต่างไปจากจารึกแผ่นเดิม คือกล่าวถึงการบูรณะวิหารธรรมศาลาในพุทธศักราช ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นปีที่บูรณะแล้วเสร็จในขณะนั้น





















----------------------------------------------
เรียบเรียง/กราฟิก: นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
----------------------------------------------
อ้างอิง: นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปตรวจราชการ แหลมมลายู ร.ศ.๑๒๑ .กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๐. //หมายเหตุ: สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับจารึกหน้าบันวิหารธรรมศาลาเพิ่มเติมได้จากองค์ความรู้เรื่อง "วิหารธรรมศาลา : พระวิหารสมัยอยุธยา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารนครศรีธรรมราช" https://www.facebook.com/nakonsrifad14/posts/660893617843556?__tn__=K-R

(จำนวนผู้เข้าชม 2422 ครั้ง)

Messenger