เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
กลองมโหระทึก จากชุมชนโบราณเขาสามแก้ว
กลองมโหระทึก เป็นกลองชนิดหนึ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ ซึ่งมีอายุประมาณ 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว ทำด้วยโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุกเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะรูปร่างคล้ายทรงกระบอก ส่วนหน้ากลองและฐานนั้นผายออก มีด้านหนึ่งเป็นแผ่นเรียบซึ่งเป็นส่วนของหน้ากลอง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นส่วนฐานเป็นรูปกรวยและกลวง กลองมโหระทึกนั้นมีกำเนิดในแถบเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม จัดอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน ต่อมาได้รับเอาวิธีการหลอมโลหะมาจากจีน ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีหลักฐานปรากฏชัดว่า ได้มีการผลิตและใช้กลองมโหระทึกมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะเป็นต้นมา
รูปแบบกลองมโหระทึก
แบ่งออกได้เป็น 4 แบบ คือ
- แบบที่ 1 เป็นกลองที่มีขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ กลองทำเป็นรูปคล้ายกลองรำมะนา ส่วนที่อยู่เหนือหูมีลักษณะโค้งผายและปิดทึบ ถัดมาเป็นส่วนตรงกลางมีรูปเป็นทรงกระบอก ส่วนล่างสุดโค้งผายออกและกลวงคล้ายบาตรคว่ำ กลองแบบนี้เป็นกลองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด และทางใต้ของประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่พบแบบที่ 1
- แบบที่ 2 เป็นกลองขนาดปานกลาง ส่วนของหน้ากลองมีลักษณะโค้งมากขึ้นจนดูคล้ายทรงกระบอก ส่วนหูจะมี 2 อัน คู่กัน กลองแบบนี้พวกมวงในประเทศเวียดนามยังคงใช้กันอยู่
- แบบที่ 3 เป็นกลองขนาดกลาง ส่วนตอนกลางและตอนล่างจะกลมกลืนกันจนแยกไม่ค่อยออก ส่วนหน้ากลองจะมีรูปกบประกอบเกาะแน่นอยู่หลายตัว กลองแบบนี้เรียกว่า แบบยางหรือแบบกระเหรี่ยง เพราะชาวกระเหรี่ยงยังคงใช้กันจนทุกวันนี้
แบบที่ 4 เป็นแบบที่คล้ายทรงกระบอกเตี้ยและมีขนาดเล็ก บางครั้งเรียกว่า แบบจีนและมีลวดลายตกแต่งเป็นลายจีน มีหูจับ 2 คู่ ปัจจุบันยังคงพบและมีการใช้กันตามวัดในประเทศจีน
ลวดลายประดับ
1. ลายดวงดาวหรือดวงอาทิตย์ เป็นลายที่สำคัญที่สุด พบบนหน้ากลองมโหระทึกตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงรุ่นหลังสุด สัญนิษฐานว่ากลุ่มชนที่สร้างกลองมโหระทึกอาจนับถือหรือเคารพบูชาดวงอาทิตย์
2. ลายนกบิน เป็นลายรูปสัตว์ที่สำคัญลายหนึ่งที่พบบนหน้ากลองมโหระทึก ลายนกบินที่พบส่วนใหญ่จะมีหลายตัวตั้งแต่ 4 ตัวขึ้นไป สัญนิษฐานว่าลายนกบินนั้นอาจหมายถึงนกส่งวิญญาณตามความเชื่อของกลุ่มชน คือใช้ในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย
3. ประติมากรรมลอยตัวรูปกบ ความสำคัญของกบบนขอบหน้ากลองสันนิษฐานว่าเนื่องจากกบเป็นสัตว์ที่คนในสังคมเกษตรคุ้นเคย เป็นสัตว์ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ คาดว่ากลองมโหระทึกแบบนี้น่าจะเกี่ยวกับการเกษตรกรรม
วัตถุประสงค์ในการผลิตกลองมโหระทึก
มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับกลองมโหระทึก โดยศึกษาจากชนเผ่าที่ยังใช้กลองมโหระทึกกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงตีความจากลวดลายที่ปรากฏบนหน้ากลอง และจากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่ากลองมโหระทึกนั้นผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น - ใช้เป็นสิ่งแสดงถึงฐานะและความมั่งมี พวกเหลียว (Liao) ในประเทศจีน ถือว่าผู้ใดมีกลองใบใหญ่จะได้รับการยกย่องให้เป็นทู-ลาว (Tu-lao) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องนับถือจากคนในชุมชน - ใช้เป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย พบว่าพวกกระเหรี่ยงในพม่าและภาคตะวันตกของไทยใช้กลองมโหระทึกในการตีเพื่อเรียกวิญญานของผู้ตาย โดยเชื่อว่าผู้ตายนั้นจะแปลงร่างเป็นนก และใช้กลองมโหระทึกเป็นแท่นวางเครื่องสังเวย นอกจากนี้ยังมีการตีความลายนกบินทวนเข็มนาฬิกาที่ปรากฏบนหน้ากลองว่า อาจเป็นกลองที่ใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย และในทางตอนใต้ของจีน ที่สุสานสือไจ้ซาน มณฑลหยุนหนาน ได้มีการขุดพบกลองมโหระทึกในพื้นที่สุสานด้วย - ใช้ตีเป็นสัญญาณในคราวออกศึกสงคราม ที่ปาเซมะ(Pasemah) เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการค้นพบประติมากรรมนักรบมีกลองมโหระทึกขนาดกลางแขวนอยู่ด้านหลัง - ใช้ตีในการประกอบพิธีกรรมขอฝน พบว่ากลองมโหระทึกบางใบมีการทำรูปสัตว์ต่าง เช่น กบ หอยทาก ช้าง จักจั่น ติดบนหน้ากลอง ซึ่งเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับฝน ในทางตอนใต้ของจีนเชื่อว่า กบ และคางคกจะบอกเหตุล่วงหน้าว่าฝนจะตก - ใช้ในการประกอบพิธีกรรมอื่นๆ เช่น ในประเทศพม่าจะมีการตีกลองมโหระทึกในงานประเพณีของกลุ่มชนพื้นเมือง ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีการตีกลองในงานมงคล และใช้ตีในงานพระราชพิธี อย่างเช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ภาพ : มโหระทึกและฆ้องชัยในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
กลองมโหระทึกที่พบจากชุมชนโบราณเขาสามแก้ว พบในบริเวณเขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร
ภาพ : กลองมโหระทึก
ขนาด (ฐาน) ศก.18.5 ซม. สูง 16.5 ซม. (หน้ากลอง) ศก.15.5 ซม.
ชนิด สำริด สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 5-10
ลักษณะวัตถุ : หน้ากลองตกแต่งลายดวงอาทิตย์หรือดาว 8 แฉก ล้อมรอบด้วยลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา
ประวัติ : พบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำมาจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2540
ภาพ : กลองมโหระทึก
ขนาด กว้าง 76 ซม. สูง 56 ซม. (หน้ากลอง) ศก.68.5 ซม.
ชนิด สำริด สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 5-10
ลักษณะวัตถุ : หน้ากลองตกแต่งลายดวงอาทิตย์หรือดาว 12 แฉก คั่นด้วยลายหางนกยูงล้อมรอบด้วยลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกาและลายเรขาคณิต ด้านข้างกลองตอนบนมีหู 4 หู โดยรอบ ตัวกลองตกแต่งลายวงกลมมีจุดตรงกลางมีเส้นทแยงในแนวตั้ง
ประวัติ : พบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำมาจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2540
ภาพ : กลองมโหระทึก
ขนาด สูง 51 ซม. ศก.หน้ากลอง 69 ซม.
ชนิด สำริด สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 5-10
ลักษณะวัตถุ : ทรงกลมสีเทาดำ หน้ากลองแบนราบ ตัวกลองป่องออกแล้วคอดเข้า ก่อนผายออกเป็นฐานมีหูสี่คู่ ภายในกรวง หน้ากลองตกแต่งลายดวงอาทิตย์สิบสี่แฉกล้อมรอบด้วยลายเส้น ลายจุด ลายนกยูงเหลียวหลังจำนวนหกตัว ลายปีกใบพัดจำนวนสิบสองตัว และลายนกกระสาสิบหกตัว บินทวนเข็มนาฬิกา ด้านข้างกลองตกแต่งลายเส้น ลายวงกลม ลายเส้นทแยง ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าและลายวงกลมขนาดเล็ก
ประวัติ : พบในคลองท่าตะเภา ตำบลบางลึก (เขาสามแก้ว) อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554
ภาพ : ลวดลายบนหน้ากลองมโหระทึก
-----------------------------------------
ข้อมูลโดย : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร
-----------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
ภาพลายเส้นจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เขมชาติ เทพไชย. "รายงานการสำรวจและศึกษากลองมโหระทึก ณ บ้านยวนเฒ่า ตำบลเทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช" ใน ศิลปากร ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๔, หน้า ๘๒-๙๘. เมธินี จิระวัฒนา. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑. ระบบทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร
(จำนวนผู้เข้าชม 68943 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน