เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
“วิหารธรรมศาลา” พระวิหารสมัยอยุธยา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
วิหารธรรมศาลา ตั้งอยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช ทางทิศตะวันออกขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ โดยมีส่วนท้ายของวิหารยื่นเข้าไปในระเบียงคด ซึ่งเป็นรูปแบบการวางผังของวัดขนาดใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนต้น วิหารธรรมศาลาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญในพุทธศักราช ๒๔๓๕ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล (ปาน) หลังจากนั้นได้รับการบูรณะสืบมาอีกหลายครั้ง ได้แก่ พุทธศักราช ๒๔๓๗, ๒๔๔๐, ๒๕๑๐, ๒๕๓๒, ๒๕๔๐ และในพุทธศักราช ๒๕๖๓ นี้ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะวิหารธรรมศาลาอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ตามแบบสถาปัตยกรรมไทย หน้าบันสลักไม้ประดับกระจกสีและมีจารึกระบุปีพุทธศักราชที่ปฏิสังขรณ์ (พุทธศักราช ๒๔๓๗ และ ๒๕๑๑) ส่วนท้ายของวิหารที่ยื่นเข้าไปในระเบียงคด มีการทำผนังกั้นจึงแยกออกเป็น ๒ ส่วน ทำให้พื้นที่ส่วนท้ายวิหารมีลักษณะเป็นห้องคล้ายกับส่วนของอาคารสมัยอยุธยาที่เรียกว่า “ท้ายจระนำ” เช่น ที่วิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา นอกจากนี้ ที่ผนังด้านหน้าของพระวิหารยังมีการประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางประทานอภัย เรียกว่า “พระพุทธรูปพระทนทกุมาร” และส่วนท้ายของวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ เรียกว่า “พระนางเหมชาลา” การสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว มาจากความเชื่อในตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งระบุว่าเจ้าชายทนทกุมารและพระนางเหมชาลาได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาฝังไว้ยังหาดทรายแก้ว ภายหลังพระเจ้าศรีธรรมโศกราชมาพบพระบรมสารีริกธาตุจึงโปรดให้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและสร้างเมืองขึ้น ณ หาดทรายแก้วจนสำเร็จ เมืองดังกล่าวก็คือ “เมืองนครศรีธรรมราช” และ พระบรมธาตุเจดีย์ก็คือ “พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”
ภายในพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย เรียกว่า “พระธรรมศาลา” รวมทั้งพระพุทธรูปขนาดย่อม ข้างละ ๒ องค์ซ้อนกัน ที่ผนังด้านสกัดตรงข้ามกับพระธรรมศาลามีการประดิษฐานเจดีย์ทรงกลมประดับกระจกองค์หนึ่งเรียกว่า “เจดีย์สวรรค์” ซึ่งตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช กล่าวว่าสร้างในศักราช ๒๑๘๑ เพื่อบรรจุอัฐิของพระยารามราชท้ายน้ำ ซึ่งเสียชีวิตระหว่างสงครามกับโจรสลัด จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้อาจมีอายุการสร้างในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของเจดีย์ในปัจจุบัน พบว่าภายหลังคงมีการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง
กล่าวได้ว่า วิหารธรรมศาลาเป็นพระวิหารสำคัญในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช ที่ปรากฏให้เห็นถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดในสมัยอยุธยา ทั้งลักษณะการวางตำแหน่งของพระวิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน โดยมีส่วนท้ายของวิหารยื่นเข้าไปในระเบียงคด ซึ่งเป็นรูปแบบการวางตำแหน่งของวิหารในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากนั้นพระวิหารหลังนี้ยังเต็มไปด้วยงานศิลปกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องที่ผนังด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหาร ซึ่งมีการศึกษาพบว่าเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ภายหลังได้รับการบูรณะสืบมาหลายครั้ง หน้าบันพระวิหารซึ่งสลักข้อความระบุปีพุทธศักราชที่บูรณะ พระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย นามว่า “พระธรรมศาลา” และเจดีย์สวรรค์ ปัจจุบันพระวิหารหลังนี้ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน ถือเป็นพระวิหารที่มีความสำคัญสืบเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน
-------------------------.........--
เรียบเรียง/กราฟิก: นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
--------------------------------
อ้างอิง:
๑) กรมศิลปากร. จารึกที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักโบราณคดีที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๐. (อัดสำเนา) ๒) กรมศิลปากร. ตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๖๐. ๓) นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.๑๒๑ .กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๐. ๔) ประภัสสร์ ชูวิเชียร. พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมหาสถูปแห่งคาบสมุทรภาคใต้. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๓. ๕) สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๒. ๖) สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. “โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช เล่ม ๓ นครศรีธรรมราช.” นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๔. (อัดสำเนา)
(จำนวนผู้เข้าชม 11263 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน