พระราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร
การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙
วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ เสด็จประพาสตอนเหนือเมืองกำแพงเพชรเก่า (เขตอรัญญิก) ได้แก่ วัดกำแพงงาม วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ และวัดอาวาสใหญ่ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับกลุ่มโบราณสถานด้านนอกกำแพงเมืองไว้ ดังนี้
มีพระราชนิพนธ์ถึงที่ตั้งของโบราณสถานว่าเป็นพื้นที่สูงและมีพื้นเป็นศิลาแลง และลักษณะการใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างกำแพงโบราณสถาน โดยพบว่าที่วัดกำแพงงามยังปรากฏแนวกำแพงที่มีความสมบูรณ์กว่าโบราณสถานแห่งอื่น ๆ “...แล้วจึงไปขึ้นดินสูง ที่สูงนั้นพื้นเป็นแลงทั้งสิ้น...พอขึ้นที่สูงนั้นหน่อยหนึ่งก็ถึงวัดเป็นวัดใหญ่ ๆ แต่ไม่มีชื่อทั้งสิ้น ด้วยเป็นวัดทิ้งอยู่ในป่าเสียแล้ว วัดเหล่านี้ใช้แลงแผ่นยาว ๆ ตั้ง ๒ ศอกเศษ หน้ากว้างคืบเศษฤาศอก ๑ หนา ๕ นิ้ว ๖ นิ้ว ตั้งเรียงดันเป็นระเนียดมีกรอบแลงเหลี่ยมลอกมุมทับหลังเหมือนกันทุก ๆ วัด แต่วัดที่เขาให้ชื่อไว้ว่ากำแพงงามเป็นเรียบร้อยดีกว่าทุกแห่ง ทีจะทำภายหลังวัดอื่น...”
ข้อความที่บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระนอนมีการกล่าวถึงลักษณะที่สมบูรณ์ของเจดีย์ประธานวัดพระนอนไว้ว่า “…จะว่าด้วยวัดพระนอนนี้วิหารใหญ่มาก แต่โทรมไม่มีอะไรอัศจรรย์ ในทักษิณชั้นล่างตั้งสิงห์เบือนเห็นจะมากคู่ แต่เดี๋ยวนี้เหลือ ๒ ตัว ชิ้นกลางเป็นวิหาร ๕ ห้อง...เสาใช้แลงท่อนเดียวเป็นเสา ๔ เหลี่ยมใหญ่ ห้องข้างหน้ามีพระนอน ห้องข้างหลังมีพระนั่ง ๒ องค์ ชิ้นหลังเป็นพระเจดีย์ฐาน ๘ เหลี่ยม ระฆังกลมรูปแจ้งามมาก เกือบจะสู้พระเจดีย์กลางถนน เมืองย่างกุ้งได้...”
ส่วนพระราชนิพนธ์ที่กล่าวถึงโบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการตั้งชื่อวัดไว้ความว่า “...ตั้งชื่อไว้ว่าวัดพระยืน มีสะพานข้ามคู...ชิ้นกลางเห็นจะเป็นวิหารยอดจัตุรมุข แต่สูงใหญ่เหลือเกิน มุขหน้าเป็นพระเดิน มุขหลังเป็นพระยืน มุขซ้ายเป็นพระนอน มุขขวาเป็นพระนั่ง ที่มุมปั้นเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑใหญ่มาก จะรับหลังคาอย่างไรน่าคิด แต่พระเหล่านี้เป็นพระปั้นด้วยปูน ใครจะมาซ่อมมาทำเพิ่มเติมอย่างไรภายหลัง แต่รูปพรรณสัณฐานคงเป็นพระกำแพง ไม่ใช่ช่างเมืองอื่นมาทำ พระยืนนั้นขนาดพระโลกนาถวัดเชตุพน แต่ประเปรียวกว่า เห็นว่าให้ชื่อว่าวัดพระยืนไม่เข้าเค้า จึงเปลี่ยนให้เรียกว่าวัดพระเชตุพนไปพลาง กว่าจะมีชื่ออื่นดีกว่า เหตุด้วยเมืองสุโขทัยมีวัดเชตุพน บางทีเขาจะตั้งชื่อซ้ำกันบ้าง...”
โบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ มีข้อความบรรยายเกี่ยวกับรูปแบบของเจดีย์ และลักษณะแผนผังของวัดที่คล้ายกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุของเมืองลพบุรี “…ต่อนั้นไปจึงถึงวัดใหญ่ซึ่งมีวิหารอย่างเดียวกัน กลางเป็นรูปไม้สิบสอง จะเป็นเจดีย์หรือปรางค์อันใดพังเสียหรือไม่แล้ว ด้านหลังก็เป็นวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง ในลานวัดนั้นเต็มไปด้วยพระเจดีย์ที่เป็นฐานเดียวกัน หลาย ๆ องค์บ้าง องค์เดียวบ้าง ลักษณะเดียวกับวัดหน้าพระธาตุลพบุรีและวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จะเป็นวัดอื่นนอกจากวัดหน้าพระธาตุไม่ได้เลย วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมี ข้างหน้าวัดมีสระ ๔ เหลี่ยมกว้างยาวลึกประมาณสัก ๕ วา...น้ำในนั้นมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้ เมื่อเห็นวัดนี้เข้าแล้ว เป็นการจำเป็นที่จะยืนยันรับรองว่าวัดในเมืองจะเป็นวัดพระแก้วไม่ได้เลย ถ้าพระแก้วได้อยู่ในเมืองนี้คงจะอยู่วัดนี้ ใช่จะแต่เฉพาะว่าวัดใหญ่เกี่ยวด้วยกาลเวลาเสียด้วย เป็นอันสันนิษฐานได้ในเรื่องเมืองกำแพงเพชรนี้ ดังที่จะว่าต่อไป”
“เมืองกำแพงเพชรนี้เดิมตั้งอยู่ห่างฝั่งน้ำทุกวันนี้ประมาณ ๑๐๐ เส้น น่าจะมีลำน้ำมาที่ชายเนินแลง ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าเป็นที่ลุ่มน้ำ หรือที่อื่นตลอดจนถึงเวลาพระร่วงเป็นใหญ่ในเมืองสวรรคโลกเป็นเวลาร่วมกันกับมังรายลงมาจากเชียงราย ตั้งเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง พวกเจ้านายในเมืองสวรรคโลกกลัวว่าสวรรคโลกล่อแหลมนัด จึงคิดอ่านตั้งสุโขทัยเป็นเมืองหลวงขึ้นอีกเมืองหนึ่ง สวรรคโลกให้ลูกเธอไปอยู่เป็นทัพหน้า ข้างฝ่ายแม่น้ำน้อยนี้จะเป็นด้วยแม่น้ำเปลี่ยนไปก็ตาม หรือเมืองเดิมตั้งอยู่ห่างน้ำก็ตาม พระร่วงหรือวงศ์พระร่วงเห็นควรจะเลื่อนเมืองลงมาตั้งริมน้ำให้ข่มแม่น้ำนี้ จึงมาสร้างกำแพงขึ้นใหม่ให้ชื่อเมืองกำแพงเพชร ทำทางหลวงเดินขึ้นไปสวรรคโลกสายหนึ่ง มากำแพงเพชรสายหนึ่ง เพื่อจะให้เดินทัพช่วยกันได้สะดวก...ด้วยเหตุฉะนั้น เจ้าผู้ครองเมืองกำแพงเพชรจึงย้ายเข้ามาอยู่ในกำแพง ได้สร้างวัดใหญ่ขึ้นแต่วัดเดียว เมื่อองค์อื่นจะสร้างก็สร้างเติมต่อ ๆ ไป จึงไม่มีวัดใหญ่ในกำแพงเมือง วัดในกำแพงต้นทางที่มีพระเจดีย์ซึ่งมกุฎราชกุมารสมมติให้เป็นวัดมหาธาตุ ถ้าจะเทียบกับวัดข้างนอกเมืองเล็กนักเป็นไม่ได้วัดพระแก้วนั้นเล่าพระแก้วก็อยู่ไม่ได้ ด้วยเหตุที่พระแก้วจะตกมาอยู่กำแพงเพชรคงจะมาอยู่ก่อนสร้างกำแพงเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้...” จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรวัดในเขตอรัญญิก ได้มีพระราชวินิจฉัยว่าโบราณสถานนอกกำแพงเมืองน่าจะมีอายุเก่ากว่าในกำแพงเมือง และได้เทียบขนาดของโบราณสถานระหว่างในเมืองกำแพงเพชรกับนอกเมืองแล้ว พบว่านอกเมืองมีขนาดใหญ่กว่า โดยเฉพาะที่วัดอาวาสใหญ่ ทำให้มีข้อพระราชวินิจฉัยว่าพระแก้วมรกตหากได้มีการประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรจริง น่าจะประดิษฐานที่วัดอาวาสใหญ่ด้านนอกเมืองแห่งนี้
การเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ได้ยังประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองกำแพงเพชรเป็นอย่างมาก ทั้งพระราชวินิจฉัยที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสภาพในอดีตของโบราณสถานในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
บรรณานุกรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙.
วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ เสด็จประพาสตอนเหนือเมืองกำแพงเพชรเก่า (เขตอรัญญิก) ได้แก่ วัดกำแพงงาม วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ และวัดอาวาสใหญ่ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับกลุ่มโบราณสถานด้านนอกกำแพงเมืองไว้ ดังนี้
มีพระราชนิพนธ์ถึงที่ตั้งของโบราณสถานว่าเป็นพื้นที่สูงและมีพื้นเป็นศิลาแลง และลักษณะการใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างกำแพงโบราณสถาน โดยพบว่าที่วัดกำแพงงามยังปรากฏแนวกำแพงที่มีความสมบูรณ์กว่าโบราณสถานแห่งอื่น ๆ “...แล้วจึงไปขึ้นดินสูง ที่สูงนั้นพื้นเป็นแลงทั้งสิ้น...พอขึ้นที่สูงนั้นหน่อยหนึ่งก็ถึงวัดเป็นวัดใหญ่ ๆ แต่ไม่มีชื่อทั้งสิ้น ด้วยเป็นวัดทิ้งอยู่ในป่าเสียแล้ว วัดเหล่านี้ใช้แลงแผ่นยาว ๆ ตั้ง ๒ ศอกเศษ หน้ากว้างคืบเศษฤาศอก ๑ หนา ๕ นิ้ว ๖ นิ้ว ตั้งเรียงดันเป็นระเนียดมีกรอบแลงเหลี่ยมลอกมุมทับหลังเหมือนกันทุก ๆ วัด แต่วัดที่เขาให้ชื่อไว้ว่ากำแพงงามเป็นเรียบร้อยดีกว่าทุกแห่ง ทีจะทำภายหลังวัดอื่น...”
ข้อความที่บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระนอนมีการกล่าวถึงลักษณะที่สมบูรณ์ของเจดีย์ประธานวัดพระนอนไว้ว่า “…จะว่าด้วยวัดพระนอนนี้วิหารใหญ่มาก แต่โทรมไม่มีอะไรอัศจรรย์ ในทักษิณชั้นล่างตั้งสิงห์เบือนเห็นจะมากคู่ แต่เดี๋ยวนี้เหลือ ๒ ตัว ชิ้นกลางเป็นวิหาร ๕ ห้อง...เสาใช้แลงท่อนเดียวเป็นเสา ๔ เหลี่ยมใหญ่ ห้องข้างหน้ามีพระนอน ห้องข้างหลังมีพระนั่ง ๒ องค์ ชิ้นหลังเป็นพระเจดีย์ฐาน ๘ เหลี่ยม ระฆังกลมรูปแจ้งามมาก เกือบจะสู้พระเจดีย์กลางถนน เมืองย่างกุ้งได้...”
ส่วนพระราชนิพนธ์ที่กล่าวถึงโบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการตั้งชื่อวัดไว้ความว่า “...ตั้งชื่อไว้ว่าวัดพระยืน มีสะพานข้ามคู...ชิ้นกลางเห็นจะเป็นวิหารยอดจัตุรมุข แต่สูงใหญ่เหลือเกิน มุขหน้าเป็นพระเดิน มุขหลังเป็นพระยืน มุขซ้ายเป็นพระนอน มุขขวาเป็นพระนั่ง ที่มุมปั้นเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑใหญ่มาก จะรับหลังคาอย่างไรน่าคิด แต่พระเหล่านี้เป็นพระปั้นด้วยปูน ใครจะมาซ่อมมาทำเพิ่มเติมอย่างไรภายหลัง แต่รูปพรรณสัณฐานคงเป็นพระกำแพง ไม่ใช่ช่างเมืองอื่นมาทำ พระยืนนั้นขนาดพระโลกนาถวัดเชตุพน แต่ประเปรียวกว่า เห็นว่าให้ชื่อว่าวัดพระยืนไม่เข้าเค้า จึงเปลี่ยนให้เรียกว่าวัดพระเชตุพนไปพลาง กว่าจะมีชื่ออื่นดีกว่า เหตุด้วยเมืองสุโขทัยมีวัดเชตุพน บางทีเขาจะตั้งชื่อซ้ำกันบ้าง...”
โบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ มีข้อความบรรยายเกี่ยวกับรูปแบบของเจดีย์ และลักษณะแผนผังของวัดที่คล้ายกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุของเมืองลพบุรี “…ต่อนั้นไปจึงถึงวัดใหญ่ซึ่งมีวิหารอย่างเดียวกัน กลางเป็นรูปไม้สิบสอง จะเป็นเจดีย์หรือปรางค์อันใดพังเสียหรือไม่แล้ว ด้านหลังก็เป็นวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง ในลานวัดนั้นเต็มไปด้วยพระเจดีย์ที่เป็นฐานเดียวกัน หลาย ๆ องค์บ้าง องค์เดียวบ้าง ลักษณะเดียวกับวัดหน้าพระธาตุลพบุรีและวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จะเป็นวัดอื่นนอกจากวัดหน้าพระธาตุไม่ได้เลย วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมี ข้างหน้าวัดมีสระ ๔ เหลี่ยมกว้างยาวลึกประมาณสัก ๕ วา...น้ำในนั้นมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้ เมื่อเห็นวัดนี้เข้าแล้ว เป็นการจำเป็นที่จะยืนยันรับรองว่าวัดในเมืองจะเป็นวัดพระแก้วไม่ได้เลย ถ้าพระแก้วได้อยู่ในเมืองนี้คงจะอยู่วัดนี้ ใช่จะแต่เฉพาะว่าวัดใหญ่เกี่ยวด้วยกาลเวลาเสียด้วย เป็นอันสันนิษฐานได้ในเรื่องเมืองกำแพงเพชรนี้ ดังที่จะว่าต่อไป”
“เมืองกำแพงเพชรนี้เดิมตั้งอยู่ห่างฝั่งน้ำทุกวันนี้ประมาณ ๑๐๐ เส้น น่าจะมีลำน้ำมาที่ชายเนินแลง ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าเป็นที่ลุ่มน้ำ หรือที่อื่นตลอดจนถึงเวลาพระร่วงเป็นใหญ่ในเมืองสวรรคโลกเป็นเวลาร่วมกันกับมังรายลงมาจากเชียงราย ตั้งเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง พวกเจ้านายในเมืองสวรรคโลกกลัวว่าสวรรคโลกล่อแหลมนัด จึงคิดอ่านตั้งสุโขทัยเป็นเมืองหลวงขึ้นอีกเมืองหนึ่ง สวรรคโลกให้ลูกเธอไปอยู่เป็นทัพหน้า ข้างฝ่ายแม่น้ำน้อยนี้จะเป็นด้วยแม่น้ำเปลี่ยนไปก็ตาม หรือเมืองเดิมตั้งอยู่ห่างน้ำก็ตาม พระร่วงหรือวงศ์พระร่วงเห็นควรจะเลื่อนเมืองลงมาตั้งริมน้ำให้ข่มแม่น้ำนี้ จึงมาสร้างกำแพงขึ้นใหม่ให้ชื่อเมืองกำแพงเพชร ทำทางหลวงเดินขึ้นไปสวรรคโลกสายหนึ่ง มากำแพงเพชรสายหนึ่ง เพื่อจะให้เดินทัพช่วยกันได้สะดวก...ด้วยเหตุฉะนั้น เจ้าผู้ครองเมืองกำแพงเพชรจึงย้ายเข้ามาอยู่ในกำแพง ได้สร้างวัดใหญ่ขึ้นแต่วัดเดียว เมื่อองค์อื่นจะสร้างก็สร้างเติมต่อ ๆ ไป จึงไม่มีวัดใหญ่ในกำแพงเมือง วัดในกำแพงต้นทางที่มีพระเจดีย์ซึ่งมกุฎราชกุมารสมมติให้เป็นวัดมหาธาตุ ถ้าจะเทียบกับวัดข้างนอกเมืองเล็กนักเป็นไม่ได้วัดพระแก้วนั้นเล่าพระแก้วก็อยู่ไม่ได้ ด้วยเหตุที่พระแก้วจะตกมาอยู่กำแพงเพชรคงจะมาอยู่ก่อนสร้างกำแพงเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้...” จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรวัดในเขตอรัญญิก ได้มีพระราชวินิจฉัยว่าโบราณสถานนอกกำแพงเมืองน่าจะมีอายุเก่ากว่าในกำแพงเมือง และได้เทียบขนาดของโบราณสถานระหว่างในเมืองกำแพงเพชรกับนอกเมืองแล้ว พบว่านอกเมืองมีขนาดใหญ่กว่า โดยเฉพาะที่วัดอาวาสใหญ่ ทำให้มีข้อพระราชวินิจฉัยว่าพระแก้วมรกตหากได้มีการประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรจริง น่าจะประดิษฐานที่วัดอาวาสใหญ่ด้านนอกเมืองแห่งนี้
การเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ได้ยังประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองกำแพงเพชรเป็นอย่างมาก ทั้งพระราชวินิจฉัยที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสภาพในอดีตของโบราณสถานในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
บรรณานุกรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 2972 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน