เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ประติมากรรมปูนปั้นหน้าบันวัดเตว็ด : ศิลปะลูกผสมไทย–ยุโรป สมัยอยุธยา
วัดเตว็ด เป็นวัดร้างตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกตัวเกาะเมืองอยุธยา บริเวณริมคลองปทาคูจาม (คลองคูจามหรือคลองประจาม) ในเขตพื้นที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากวัดพุทไธศวรรย์ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร
ในแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) ปรากฏความตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า “ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา, แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ, (พระเพทราชา) ซึ่งทรงพระนามกรมหลวงโยธาทิพ, กรมหลวงโยธาเทพนั้น. ก็ทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน, แล้วพาเอาพระราชบุตร. ซึ่งทรงพระนามตรัสน้อยนั้น, ออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดพุทไธสวรรย์.”
เรื่องตำหนักหลังวัดพุทไธศวรรย์นี้ น. ณ ปากน้ำ ให้ความเห็นไว้ว่า “ตรงปากคลองประจามฝั่งตะวันตกเยื้องไปทางหลังวัดพุทไธสวรรย์ มีวัดเก่าแก่อยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดตระเว็ด มีอาคารแบบฝรั่งยกพื้นไม้ ใต้ถุนสูง เช่นเดียวกับตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์... อาคารที่เหลืออยู่เป็นแบบที่เรียกว่าทรงวิลันดา คือก่ออิฐถือปูนจากผนังขึ้นไปยันอกไก่ หน้าบันก่อปูน มีลายปูนปั้นแบบโรโคโค (Rococo)... ดูภูมิฐานการก่อสร้าง การปั้นปูนอย่างวิจิตรพิสดาร อาจเป็นที่ประทับของกรมหลวงโยธาเทพ กรมหลวงโยธาทิพกระมัง ท่านบวชชีอยู่วัดพุทไธสวรรย์ สำนักนางชีย่อมจะอยู่ไปให้ไกลวัด อีกประการหนึ่ง เหล่านางข้าหลวงและนางบริวารก็คงจะบวชตามเสด็จจนเป็นสำนักนางชีใหญ่โต สมัยนั้นคงจะรุ่งเรืองมาก ด้วยท่านเป็นเจ้านายที่พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์กลัวเกรงมาก สำนักนี้หลังจากสิ้นบุญของผู้เป็นเจ้าสำนักไปแล้ว ข้าหลวงและบริวารก็คงแตกฉานซ่านเซ็นไป และพระภิกษุสงฆ์คงจะมาครอบครองอยู่ต่อไป” ส่วนชื่อวัด “เตว็ด” นั้น จะตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน
หลักฐานทางศิลปกรรมของตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด ในปัจจุบันตัวอาคารมีเพียงผนังสกัดหน้า เหลืออยู่เพียงด้านเดียว ลักษณะเป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน ยกพื้นมีใต้ถุนสูง เจาะช่องประตูเป็นรูปวงโค้ง ซึ่งนิยมทำในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้ระบบผนังรับน้ำหนักหลังคา หน้าบันก่ออิฐถือปูนแบบ “กระเท่เซ” (ไม่มีไขราหน้าจั่ว) ประดับลวดลายปูนปั้น อิทธิพลศิลปะยุโรปผสานกับลายก้านขดนกคาบแบบไทยได้อย่างลงตัว แสดงอิทธิพลค่อนไปทางยุโรป กล่าวคือ กรอบหน้าบันเป็นลายแบบยุโรป ที่หางหงส์ปั้นเป็นรูปศีรษะบุรุษหันด้านข้างผูกผ้าพันคอ ลายประธานใจกลางหน้าบันเป็นปูนปั้นรูปทิพย์วิมานอย่างยุโรป (อาจหมายถึงเรือนที่ประทับ?) และมีลายก้านขดประดับซ้าย-ขวา ใบไม้ที่อยู่ในลายก้านขดคล้ายใบอะแคนตัสของกรีกโบราณ ส่วนก้านแยกเป็นลายนกคาบอย่างไทย ซึ่งพอจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นอิทธิพลของศิลปะแบบฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และไทยรับเอาอิทธิพลของศิลปะนี้เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เนื่องจากฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน
ในสมัยอยุธยา มีการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับชาวตะวันตก ยุโรปชาติตะวันตกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาชาติแรกคือ โปรตุเกส (พ.ศ. ๒๐๕๔) จากนั้นก็ตามมาด้วย ฮอลันดา สเปน อังกฤษ และฝรั่งเศส มาตั้งสถานีทำการค้า เผยแพร่คริสต์ศาสนารวมถึงศิลปวัฒนธรรม บ้างก็เป็นสถาปนิกวิศวกร มีส่วนในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างป้อมปืนกำแพงเมือง ส่องกล้องตัดถนน สร้างวัง (พระนารายณ์ราชนิเวศน์) วางระบบประปา สร้างน้ำพุเขามอ เป็นต้น ดังนั้น พัฒนาการทางศิลปสถาปัตยกรรมดังกล่าว จึงเกิดขึ้นมาพร้อมกันกับความเจริญรุ่งเรืองของเมือง ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจสังคม และการต่างประเทศ เมื่อบ้านเมืองเจริญศิลปะย่อมพัฒนาเฟื่องฟู เป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งมั่นคงของยุคสมัย ณ ที่โบราณสถานและประติมากรรมปูนปั้นหน้าบันวัดเตว็ดแห่งนี้ คือประจักษ์พยานสถานอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีความสำคัญยิ่ง นับเป็นตัวแทนของยุคสมัย “ศิลปกรรมลูกผสมไทย–ยุโรป สมัยอยุธยาตอนปลาย” ควรค่าแก่การหวงแหนคุ้มครอง อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเพื่อส่งต่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง สืบต่อไป
ภาพที่ ๑ แผนที่ทางอากาศแสดงตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถานวัดเตว็ด และชุมชนชาวต่างชาติ (ที่มา : Google Maps)
ภาพที่ ๒ ภาพถ่ายทางอากาศแสดงตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถานวัดพุทไธศวรรย์ และวัดเตว็ด (ที่มา : Google Maps)
ภาพที่ ๓ หน้าบันวัดเตว็ด ภาพถ่ายเก่าราวปี พ.ศ. ๒๕๐๙
“...ปั้นลมเป็นลายใหญ่หนัก ๆ แบบฝรั่ง มีรูปหัวคนอยู่ตรงจะงอยปลายสาย ส่วนลายปูนปั้นหน้าบันเป็นรูปเรือนแก้วและลายเครือเถา ประดิษฐ์ด้วยใบอะแคนตัส บางตอนมีนกคาบแบบลายไทยด้วย เช่นลายเหนือเรือนแก้วซีกซ้ายมือ แสดงว่าผู้ปั้นเป็นคนไทยชาวพื้นเมือง แต่ทำตามแบบยุโรป จึงได้มีลายไทยปนลงไปด้วย” (น. ณ ปากน้ำ. วิวัฒนาการลายไทย. ๒๕๓๔, น. ๑๘๙)
ภาพที่ ๔ หน้าบันวัดเตว็ด ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ (ก่อนการบูรณะ)
ภาพที่ ๕ ผนังสกัดหน้าของตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ (ภายหลังการบูรณะ) จากภาพ ช่องสี่เหลี่ยมแถวล่าง จำนวน ๓ ช่อง คือตำแหน่งช่องไม้คานสำหรับปูไม้พื้นเฉลียงหน้า ส่วนช่องสี่เหลี่ยมอีก ๓ ช่องด้านบน คือตำแหน่งของไม้จันทันรับหลังคาทรง “จั่นหับ” คลุมโถงเฉลียงหน้าอาคาร
ภาพที่ ๖ ผนังสกัดหน้าของตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ (ภายหลังการบูรณะ)
ภาพที่ ๗ หน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด (ภาพรีทัช Retouch)
ภาพที่ ๘ ลายเส้นสันนิษฐานรูปแบบลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด
ภาพที่ ๙ ภาพขยายลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด
ภาพที่ ๑๐ ภาพขยายลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด
ภาพที่ ๑๑ ภาพขยายลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด
ภาพที่ ๑๒ ภาพขยายลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด
----------------------------------------
เรียบเรียง/ภาพประกอบ/ภาพลายเส้น : ฤทธิเดช ทองจันทร์ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ กองโบราณคดี
เอกสารอ้างอิง
:
น. ณ ปากน้ำ. ฝรั่งในศิลปะไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์พลชัย, ๒๕๓๐. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสุนทร ศิริพงษ์ เป็นกรณีพิเศษ วัดมกุฎกษัตริยาราม ๑๗ ธ.ค. ๒๕๓๐). น. ณ ปากน้ำ. วิวัฒนาการลายไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๔. น. ณ ปากน้ำ. ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๕๘. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๔. ศิลปากร, กรม. โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่มที่ ๒. กรุงเทพฯ : ทวีวัฒน์การพิมพ์, ๒๕๕๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 10766 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน