พระเหวัชระ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
สืบเนื่องจากการเกิดภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID - 19 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จึงขอนำเสนอข้อมูลโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ 1 เดียวในคาบสมุทรสทิงพระ อันถือเป็นเทพผู้พิทักษ์ในคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ผู้มีอำนาจปราบภูติผีร้ายไม่ให้ทำอันตรายมนุษย์ ด้วยหวังให้ช่วยขจัดเภทภัยต่าง ๆ นั่นคือ “พระเหวัชระ”








....................................................................................
พระเหวัชระ
วัสดุ สำริด
ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 18
พบที่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
....................................................................................
          พระเหวัชระองค์นี้เป็นพระเหวัชระ 2 กร (มือ) อยู่ในอิริยาบทประทับยืน มี 4 พระบาท (เท้า) พระหัตถ์ (มือ) ขวาถือกระดิ่ง พระหัตถ์ (มือ) ซ้ายถือวัชระ (สายฟ้า) พระเศียร (ศีรษะ) ทรงกิรีฏมกุฎ พระศอคล้องอักษมาลา หรือลูกประคำ และทรงพระภูษา (ผ้านุ่ง) สั้นเหนือพระชานุ (เข่า) ลักษณะคล้ายเทวรูปในศิลปะขอมสมัยเมืองพระนคร
          คำว่า “เหวัชระ” (Hevajra) เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง เทพผู้พิทักษ์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยิดัม” เป็นเทพที่มีความสำคัญองค์หนึ่งในพุทธศาสนา นิกายมหายาน สกุลวัชรยาน เชื่อกันว่าถือกำเนิดขึ้นมาจากพระธยานิพุทธอักโษภยะ มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา มีอำนาจในการปราบภูตผีร้ายต่าง ๆ ไม่ให้ทำอันตรายมนุษย์ ปรากฏความเชื่อและการนับถือขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 สมัยราชวงศ์ปาละ
          ในคัมภีร์เหวัชระตันตระ (Hevajra Tantra) ระบุถึงลักษณะทางประติมานวิทยาของพระเหวัชระว่า มีพระวรกายสีน้ำเงิน มี 8 พระเศียร แต่ละพระเศียรมี 3 พระเนตร มี 16 พระกร โดยพระกรทั้ง 16 พระกรถือถ้วยกะโหลก ซึ่งถ้วยกะโหลกด้านขวาบรรจุสัตว์โลก ส่วนถ้วยกะโหลกด้านซ้ายบรรจุเทพเจ้าแห่งแผ่นดิน ซึ่งถ้วยกะโหลกทั้ง 16 ใบ เป็นสัญลักษณ์ของความว่างเปล่าทั้ง 16 หรือศูนยตา มีพระบาท 4 พระบาท และพระเหวัชระมักแสดงออกในท่ายับยุม หรือยับยัม (กอดรัด) พร้อมศักติเสมอ
          ประติมากรรมรูปเคารพพระเหวัชระที่พบมีลักษณะเฉพาะ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบกปาละธร (Kapaladhara) ถือถ้วยกะโหลก และรูปแบบศาสตราธร (Shastradhara) ถืออาวุธ ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบที่พบมักมีพระกรตั้งแต่ 2, 4, 6, และ 16 พระกร และยังมีรูปแบบอื่น ๆ ที่นิยมอีก เช่น เหวัชระมณฑล ที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์เหวัชระตันตระระบุว่า พระเหวัชระมี 8 พระเศียร ทุกพระเศียรมี 3 พระเนตร มี 4 พระบาท 16 พระกร ยืนเหยียบอยู่บนมารทั้ง 4 องค์ มีนางโยคินีล้อมรอบมณฑลเป็นบริวารทั้ง 8 ตน นางโยคินีเหล่านี้มีหน้าที่ทำลายล้างอวิชชาหรือสิ่งชั่วร้าย และรักษาทิศทั้งแปดของจักรวาล
          ประติมากรรมรูปเคารพพระเหวัชระที่พบในประเทศอินเดียมีอยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศเนปาล และประเทศทิเบต โดยส่วนมากที่พบมักเป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดไม่ใหญ่มาก และเป็นเป็นรูปแบบกปาละธร คือ มี 8 พระเศียร 16 พระกร 4 พระบาท อยู่ในท่ากอดรัดกับศักติ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วไป
          ในประเทศไทยประติมากรรมรูปเคารพพระเหวัชระที่พบส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมลอยตัวทำจากสำริดฝีมือช่างขอม และฝีมือช่างท้องถิ่น แต่ก็มีพบเป็นพระพิมพ์แสดงภาพเหวัชระมณฑล และแม่พิมพ์สำริดด้วย ส่วนในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พบประติมากรรมรูปเคารพพระเหวัชระเพียงองค์เดียวที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ประติมากรรมรูปเคารพพระเหวัชระองค์นี้มีลักษณะเป็นงานฝีมือช่างท้องถิ่น และมีลักษณะของศิลปะขอมสมัยเมืองพระนครอยู่ด้วย ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่าประติมากรรมรูปเคารพพระเหวัชระองค์นี้น่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 และการที่ประติมากรรมรูปเคารพพระเหวัชระองค์นี้มีลักษณะอิทธิพลของศิลปะขอมยังแสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของขอมในดินแดนแถบคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-19 ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เรียบเรียง/ กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ และนางสาวจันทร์สุดา ทองขุนแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรม ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

อ้างอิง :
1. กรมศิลปากร. เทวสตรี: คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2558. 2. ชัญธิกา มนาปี. “การศึกษารูปแบบประติมากรรมเหวัชระที่ปรากฏในศิลปะเขมร.” ดำรงวิชาการ 15, 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559): 67 - 87. 3. ชัยวุฒิ พิยะกูล. “พระพุทธศาสนาบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ.” ใน เก้าสิบปีทองชาตกาล พระราชศีลสังวร (ผ่อง จิรธมฺโม), 205-236. ประสิทธิ์ ฤทธาภิรมย์, บรรณาธิการ. สงขลา: วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (พระอารามหลวง), 2562. 4. ธีรนาฎ มีนุ่น. “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส.” ใน เก้าสิบปีทองชาตกาล พระราชศีลสังวร (ผ่อง จิรธมฺโม), 103-130. ประสิทธิ์ ฤทธาภิรมย์, บรรณาธิการ. สงขลา: วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (พระอารามหลวง), 2562. 5. ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2543. 6. พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2523. 7. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. ปฐมบทพระพุทธศาสนาในภาคใต้ ประเทศไทย: หลักธรรมและหลักฐานโบราณคดี. นครศรีธรรมราช: ไทม์ พริ้นติ้ง จำกัด, 2557. 8. สันติ เล็กสุขุม. ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย (ฉบับย่อ): การเริ่มต้นและการสืบเนื่องงานช่างในศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548. 9. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2539. 10. องอาจ ศรียะพันธ์. “รูปเคารพในพุทธศาสนามหายานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 พบที่เมืองสทิงพระ.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.

อ้างอิงรูปภาพ: เหวัชระ
ที่มา : tumblr.com/magictransistor. Hevajra and Consort. Ngor Monastery, Tibet. 1843. . Accesed April 28, 2020. Available from https://magictransistor.tumblr.com/post/157789262861/hevajra-and-consort-ngor-monastery-tibet-1843

(จำนวนผู้เข้าชม 18745 ครั้ง)

Messenger