ภาพจิตรกรรมไทยฝีพระหัตถ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชมพรเขตอุดมศักดิ์

“ภาพจิตรกรรมไทยฝีพระหัตถ์” พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชมพรเขตอุดมศักดิ์ ภายในอุโบสถวัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท  
        ภายในอุโบสถของวัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญอย่างมาก โเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕ ราวปี พ.ศ.๒๔๖๔ โดยประมาณ ตั้งอยู่ในส่วนของผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธาน คือภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของ “กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” พระองค์ทรงเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตอนมารผจญ ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองร่วมกับข้าราชบริพาร ส่วนผนังด้านล่างระหว่างช่องประตูเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส โดยมี หม่อมเจ้าจารุภัตรา อาภากร พระธิดาองค์โต ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีส่วนร่วมในการเขียนภาพจิตรกรรมนี้ด้วย ทั้งสองพระองค์ได้ทรงเขียนภาพโดยใช้เทคนิคจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ผสมผสานกับการเขียนภาพจิตรกรรมเทคนิคแบบตะวันตกจะเห็นได้จากมีการใช้แสงเงาเข้ามาเขียนภาพ การจัดองค์ประกอบภาพทำได้อย่างลงตัว มีการเขียนสอดแทรกภาพเหมือนข้าราชบริพารที่ตามเสด็จด้วย เช่น นายทหารแม่ครัว เป็นต้น ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนจิตรกรรมฝาผนังที่อื่นๆ คือในส่วนลายชายริ้วด้านซ้าย และขวาของภาพจิตรกรรม มีการจารึกอักษรขอมตัวบรรจง ซึ่งกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงมีความรู้ความสามารถในด้านคาถาเป็นอย่างมาก โดยมีพระครูวิมลคุณากร หรือที่รู้จักกันคือ หลวงปู่ศุข เกสโร เป็นพระอาจารย์ที่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก คาถาที่เขียนไว้คือ คาถา “ชัยมังคะละอัฏฐะกะคาถา”หรือเรียกกันสั้นๆว่า คาถาพาหุง ซึ่งเป็นคาถาที่แปลว่า “การชนะมารทั้ง ๘ ประการ อันเป็นมงคลสูงสุดของพระพุทธเจ้า” จารึกอักษรขอมเป็นคาถาที่สอดคล้องกับจิตรกรรม และเรื่องราวของภาพมารผจญเป็นอย่างมาก และมีจารึกต่อท้ายด้วยตัวอักษรไทยความว่า พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นายเทียบ นายรังสี นายแฉล้ม นายผ่อน ได้เขียนไว้ ลงท้ายความว่าเพื่อศุขประโยชน์ภายหน้า นิพพาน ปัจโย โหตุ





อ้างอิง : รายงานการอนุรักษ์จิตรกรรมวัดปากคลองมะขามเฒ่า พ.ศ๒๕๔๔ หนังสือประวัติพระครูวิมลคุณากร 

เรียบเรียง : นายศุภกิจจ์ เสถียรอินทร์ นักวิชาการช่างศิลป์ปฏิบัติการ กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 7020 ครั้ง)

Messenger