เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
สาระสมุดไทย : เหตุใดจึ่งห้ามสตรีหนุนแขนขวา
“(ถ้าแม้น) ให้ดวงสมรหนุนกรขวา วิทยาเสื่อมไปไม่ให้ผล”
ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือสมุดไทยขาวเรื่อง นางปราสาททอง อักษรไทย ภาษาไทย เส้นหมึก โดยเรื่องราวของวรรณกรรมกล่าวถึง นางอุบลผู้เป็นแม่เลี้ยงได้ยุยงให้นางปราสาททองขอบรรทมหนุน พระกรข้างขวาของพระศิลป์สุริยวงศ์ ด้วยความรู้ไม่เท่าทันผู้เป็นแม่เลี้ยงที่ต้องการกำจัดพระศิลป์สุริยวงศ์ นางจึงอ้อนวอนขอบรรทมหนุนพระกรข้างขวา แม้พระศิลป์สุริยวงศ์จะกล่าวชี้แจงว่าหากกระทำเช่นนั้น อาคมที่พระองค์มีก็จะเสื่อม แต่นางปราสาททองกลับไม่ยอมเชื่อ คิดแต่เพียงว่าพระศิลป์สุริยวงศ์ไม่ได้รักนาง พระศิลป์สุริยวงศ์จึงจำใจยอมให้นางบรรทมหนุนพระกรขวาของพระองค์ จากนั้นคาถาอาคมของพระองค์ที่มีจึงเสื่อมไป
เรื่องราวในวรรณกรรมอาจมีความแปลก ดูเกินจริง และชวนให้สงสัย เพราะหลายคนส่วนใหญ่ย่อมเคยได้ยินข้อห้ามที่คนมีคาถาอาคมถือกันหลายข้อ เช่น ห้ามกินมะเฟือง ห้ามลอดราวตากผ้า ห้ามลอดบันได ห้ามกินฟักเขียว ห้ามกินของเหลือ ห้ามกินผักปลัง ห้ามกินข้าวหรือกินน้ำในงานศพ ห้ามลอดใต้ถุนบ้าน เหล่านี้เป็นต้น แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างถ่องแท้ และพยายามเชื่อมโยงให้เข้ากับความเชื่อที่ยึดถือกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะพบว่า ข้อความที่ปรากฏในวรรณกรรมนั้น มีความหมายในแนวทางเดียวกันและเข้ากับตำราที่ว่า “หญิงซ้าย ชายขวา” ได้อย่างลงตัว และถ้าหากเราย้อนกลับไปอ่านวรรณกรรมที่มีเรื่องราวของวิถีชาวบ้านและความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์แทรกอยู่ ก็จะช่วยให้คลายความสงสัยได้มากขึ้น
คำกลอนสวัสดิรักษา ของสุนทรภู่ เป็นวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อ “หญิงซ้าย ชายขวา” ความว่า “อย่านอนซ้ายสตรีมักมีภัย” เหตุผลของคนในสมัยก่อนคือ ผู้ที่นอนอยู่ทางขวาคือผู้ที่อยู่ใกล้ประตูห้องมากที่สุด ดังนั้นหากอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ฝ่ายชายก็จะสามารถปกป้องคุ้มครองฝ่ายหญิงได้ทันท่วงที
ในเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน เป็นวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อ “หญิงซ้าย ชายขวา” เช่นกัน ปรากฏในตอนที่ขุนแผนตัดพ้อนางวันทอง ความว่า
๏ เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย
พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน
“ความจริงแล้ว ความเชื่อที่เราถือนั้น เป็นสิ่งที่ดีเสมอ มีเหตุผลเสมอที่ถือ” เพราะความเชื่อใดๆ ล้วนมีคำอธิบายและเหตุผลทั้งสิ้น เพียงแต่คนสมัยก่อนมักสอนไว้ให้เป็นปริศนา เมื่อคนรุ่นหลังต้องมาตีความก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ ดังนั้น หากมองความเชื่อนี้ในแง่ของเหตุผล คำกล่าวที่ว่า ถ้าแม้นให้ดวงสมรหนุนกรขวา วิทยาเสื่อมไปไม่ให้ผล นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ และวิถีชีวิตแล้ว ยังเป็นการกล่าวสั่งสอนให้พึงระวัง เพราะคนส่วนใหญ่ถนัดใช้แขนข้างขวา ดังนั้นแขนขวาจึงเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการทำงานหรือทำประโยชน์ต่างๆ หากให้ภรรยาหนุนแขนข้างขวา อาจจะส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้า หรือเป็นเหน็บชา และใช้การได้ไม่เต็มที่นัก
..............................................................
ข้อมูล/ภาพ :
นางสาวอุไร คำมีภา นักภาษาโบราณปฏิบัติการ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา
เอกสารอ้างอิง :
“นางปราสาททอง.” หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา. หนังสือสมุดไทยขาว. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นหมึก. ม.ป.ป. เลขที่ ๕๖. หมวดวรรณคดี. กรมศิลปากร. รวมนิทาน บทเห่กล่อม และสุภาษิตของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙. เสฐียรโกเศศ. ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตแต่งงาน. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๓๙. เสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน เล่ม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑๘. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๔๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 6584 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน