เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
มโหระทึกเส้นทางและผู้คนบนพื้นที่จังหวัดน่านในอดีต
กลองมโหระทึก (ในภาคเหนือมักเรียกว่า ฆ้องกบ, ฆ้องเขียด) เป็นสิ่งที่มีการสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นประวัติศาสตร์ (ราว ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว) เชื่อว่ามีจุดกำเนิดมาจากวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son) ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณจังหวัด Thanh Hoa ในประเทศเวียดนาม พบในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ พม่า ไทย เวียดนาม ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่ากลองมโหระทึกผลิตขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ดังนี้ ๑. แสดงฐานะความมั่งคั่ง ๒. ใช้ประกอบพิธีกรรมความตาย ๓. ใช้ตีเป็นสัญญาณสงคราม ๔. ใช้ประกอบพิธีขอฝน ๕. ใช้ตีเพื่อบำบัดโรคทางไสยศาสตร์ กลองมโหระทึกที่พบในพื้นที่จังหวัดน่าน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เวลาราว ๑๒.๐๐ น. พบกลองมโหระทึกจำนวน ๒ ใบ บริเวณเนินดินซึ่งเป็นป่าช้าเก่าที่บ้านบ่อหลวง ริมถนนหมายเลข ๑๐๘๑ ใกล้หลักกิโลเมตรที่ ๗๗ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ร่วมกับโบราณวัตถุอื่นๆ ได้แก่ แหวนทองคำ แหวนสำริด แผ่นทองคำ ชิ้นส่วนกระดูกขนาดเล็ก ฯลฯ โดยผู้พบคือ เด็กหญิงนงเยาว์ กุลสุทธิ และเด็กหญิงนพมาศ ปรังกิจ ต่อมานายชัยนันท์ บุษยรัตน์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขณะนั้น จึงได้ประสานงานนำมาเก็บรักษาและจัดแสดง กลองมโหระทึกที่พบในประเทศไทย
ไม่เพียงแต่จังหวัดน่าน กลองมโหระทึกยังพบในอีกหลายต่อหลายพื้นที่ซึ่งหากนับเฉพาะชิ้นที่สามารถระบุตำแหน่งที่พบได้อย่างชัดเจนมีมากกว่า ๔๐ ใบ แต่หากนับรวมชิ้นที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่พบได้ชัดเจนก็จะมีถึงราว ๖๐ ใบเลยทีเดียว ทั้งนี้ นอกจากประเทศไทยแล้วยังพบกลองมโหระทึกที่เวียดนาม (เชื่อว่าเป็นเจ้าของวัฒนธรรม) ลาว จีน พม่า อินโดนีเซีย และติมอร์ เป็นต้น ทำให้อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ถึงการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม และอาจแสดงถึงการติดต่อของผู้คนก็เป็นได้ ย้อนมองเมืองน่าน : ชุมทางการค้าแห่งล้านนาตะวันออก (?)
ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์เราไม่อาจยืนยันชัดเจนว่าผู้คนมีการติดต่อกันด้วยเส้นทางใดบ้าง แต่หากพิจารณาเส้นทางในสมัยหลังลงมาได้มีผู้กล่าวว่าเมืองน่านน่าจะเป็นชุมทางสำคัญด้านล้านนาตะวันออกที่เชื่อมโยงสินค้าประเภทของป่าจากตอนในของแผ่นดิน เช่น หลวงพระบาง ไปสู่สุโขทัยก่อนที่จะผ่านเมืองตากออกสู่เมืองท่าอย่างเมาะตะมะในพื้นที่ประเทศพม่าในปัจจุบัน มองเส้นทางการค้าแล้วย้อนมองการกระจายตัวของกลองมโหระทึก //หากเรากลับไปมองการกระจายตัวของกลองมโหระทึกซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีอายุในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์-ต้นสมัยประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างจะพบว่ามีการพบกลองมโหระทึกทั้งที่น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก สอดรับกันดีกับเส้นทางการค้าสมัยโบราณดังที่กล่าวไปข้างต้น
ดังนั้น กลองมโหระทึกอาจเป็นหนึ่งในวัตถุทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดน่านมีผู้คนอาศัยอยู่มาแล้วนับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งคงจะมีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนและบ้านเมืองโดยรอบ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม คติความเชื่อ ตลอดจนสินค้า และงานศิลปกรรมในเวลาต่อมา นำไปสู่พัฒนาการของชุมชนสู่บ้านเมืองในเวลาต่อมา
_________________________
ที่มาของข้อมูล :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กรณีศึกษา กลองมโหระทึก. กรุงเทพฯ: แกรนด์พ้อยท์, ๒๕๖๒. กรมศิลปากร. จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗. กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อาทิตย์ โพรดักส์ กรุ๊ป, ๒๕๔๖. ชวิศา ศิริ. "การค้าของอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒." ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐. ธีระวัฒน์ แสนคำ. "เส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสุโขทัยกับกลุ่มบ้านเมืองในลุ่มน้ำโขง." ใน สุโขทัยกับอาเซียน : มองปัจจุบันผ่านอดีตจากมิติประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี. ปทุมธานี: คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. โยซิยูกิ มาซูฮารา. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง : สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ จากรัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีปไปสู่รัฐกึ่งเมืองท่า. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖. วราภรณ์ เรืองศรี. คาราวานพ่อค้าทางไกล : การก่อเกิดรัญสมัยใหม่ในภาคเหนือของไทยและดินแดนตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. เชียงใหม่: ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๕๗. ศรีศักร วัลลิโภดม. สยามประเทศ ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๙. สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐. กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งเรืองการพิมพ์, ๒๕๓๕. สุจิตต์ วงษ์เทศ. มโหระทึก หรือกลองทอง. กลองกบ ใช้ตีขอน้ำฟ้าน้ำฝน ตามประเพณีดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วของอุษาคเนย์. มติชนออนไลน์, เข้าถึงเมื่อ ๕ เม.ย. ๖๓ เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_348099 สุจิตต์ วงษ์เทศ. ขวัญ หน้ากลองมโหระทึก. มติชนออนไลน์เข้าถึงเมื่อ ๕ เม.ย. ๖๓ เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_1390415
(จำนวนผู้เข้าชม 3369 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน