ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนที่เมืองท่าโบราณเขาสามแก้ว
วัสดุ : หิน
ขนาด : น้ำหนัก 60 กรัม
สมัย : ก่อนประวัติศาสตร์
อายุ : พุทธศตวรรษที่ 5-10
ลักษณะวัตถุ : หินคาร์เนเลี่ยนสีส้ม รูปทรงต่างๆ ร้อยรวมเป็น 1 พวง จำนวน 64 เม็ด



          ลูกปัดเป็นเครื่องประดับที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นเวลานาน คนก่อนประวัติศาสตร์ใช้วัสดุที่ใกล้ตัว เช่น เปลือกหอย, กระดูกสัตว์ และหิน มาเจาะรูแล้วร้อยเป็นเส้น ใช้เป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ หรือร้อยติดกับเส้นผมและเสื้อผ้า ในหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบว่ามีการสวมสร้อยลูกปัดให้กับคนตาย ลูกปัดจึงเป็นเครื่องประดับที่มีค่าของคนในอดีต ได้ค้นพบแหล่งผลิตลูกปัดโบราณในภาคใต้ เช่น แหล่งโบราณคดีควนลูกปัดหรือคลองท่อม จังหวัดกระบี่, แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง และแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร เป็นต้น
          แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว เป็นเมืองท่าโบราณรุ่นแรกในภาคใต้ กำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 5-10 พบว่ามีการติดต่อกับต่างแดน ได้พบโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการค้าในสมัยโบราณ เช่น กลองมโหระทึกตราประทับ และต่างหูลิง-ลิง-โอ เป็นต้น และพบว่าเขาสามแก้วเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับเพื่อเป็นสินค้าส่งออก เช่น กำไลและลูกปัดแบบต่างๆ ที่ทำมาจากหินและแก้ว ได้ค้นพบหินวัตถุดิบซึ่งอยู่ในขั้นตอนการผลิตที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เช่น ลูกปัดที่ยังไม่ได้เจาะรู, รูที่เจาะไม่เสร็จสมบูรณ์, การขัดฝนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เป็นต้น ลูกปัดที่พบเป็นจำนวนมากในแหล่งเขาสามแก้ว คือ ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน มีหลายรูปแบบ เช่น วงกลม, ทรงเหลี่ยม, ทรงพระจันทร์เสี้ยว และทรงกระบอก เป็นต้น นักวิชาการผู้ทำการศึกษาแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วให้ข้อคิดเห็นว่า หินคาร์เนเลี่ยนที่พบในแหล่งเขาสามแก้วอาจเป็นหินที่นำมาจากอินเดียเพราะอินเดียมีแหล่งหินคาร์เนเลี่ยนที่มีคุณภาพดีมีสีสันสดใส หรืออาจจะใช้หินวัตถุดิบในท้องถิ่นซึ่งมีสีสันไม่จัดจ้านแล้วใช้วิธีการหุงแร่ซึ่งรับมาจากอินเดีย การหุงแร่จะทำให้หินคาร์เนเลี่ยนมีสีสันสดใสโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตลูกปัดจากอินเดีย
          จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าเขาสามแก้วเป็นเมืองท่าและเป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญใน พุทธศตวรรษที่ 5-10 มีการติดต่อและรับวิธีการผลิตลูกปัดมาจากอินเดีย กลุ่มคนที่เป็นแรงงานในการผลิตนั้นน่าจะเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในภาคใต้ การก่อตั้งเมืองท่าเขาสามแก้วคงเป็นสื่อกลางและตัวกระตุ้นให้กลุ่มคนดั้งเดิมติดต่อกับกลุ่มคนจากต่างแดนที่มีเทคโนโลยีการผลิตสูงกว่า ทำให้วิถีชีวิตของคนดั้งเดิมในภาคใต้เปลี่ยนแปลงไปและมีพัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในที่สุด //แหล่งที่พบ : แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ปัจจุบัน จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร //เอกสารอ้างอิง : ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “เขาสามแก้ว : ชุมชนโบราณ,” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529 เล่ม1. กรุงเทพ: สถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2529. ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ลูกปัดต่างชาติในแหล่งโบราณคดีประเทศไทย,” ศิลปากร, ปีที่ 33, ฉบับที่ 1 (มีนาคม-เมษายน 2533) 5-19.

(จำนวนผู้เข้าชม 11220 ครั้ง)

Messenger