เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษและเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ เรื่อง “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา”
วันพฤหัสบดีที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องออดิทอเรียม (ชั้น ๕) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษและเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ เรื่อง “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา” โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร และผู้บริหารบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ
จากนั้น นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวรายงานการจัดนิทรรศการ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา” แล้วไปยัง ห้องนิทรรศการ ชั้น ๘ เพื่อเปิดนิทรรศการเรื่อง “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา” ชมนิทรรศการและลงนาม ในสมุดเยี่ยมชม โดยมีนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากรและท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เป็นผู้นำชม
ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจกที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ กล่องที่ ๑ – ๒๔ และ ๕๐ – ๕๒ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ ภาพ บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในอดีต รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๗ ทั้งนี้ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาพถ่ายโบราณร่วมจัดทำคำบรรยายและคัดเลือกภาพถ่าย จำนวน ๒๐๕ ภาพ นำมาจัดพิมพ์หนังสือในชื่อ “ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์” เล่ม ๒ ซึ่งมีเนื้อหาแบ่งเป็น ๒ หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ ๑ พระนคร แบ่งเป็น ๑๒ หมวดรอง ได้แก่ พระราชวังและวัง พระราชพิธี ศาสนสถาน แม่น้ำลำคลองถนน ยานพาหนะ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงมหรสพ อาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน ห้างร้าน และอาคารเบ็ดเตล็ด และหมวดที่ ๒ หัวเมือง แบ่งเป็น ๔ หมวดรอง ได้แก่ พระราชวัง เสด็จประพาส เสด็จตรวจราชการ และโบราณสถาน ต่อมา ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ได้นำภาพถ่ายจากหนังสือ ร่วมกับภาพถ่ายชุดอื่น ไปออกแบบเนื้อหาและนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการภายใต้ชื่อ “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา” รวมทั้งสิ้น ๑๐๒ ภาพ แบ่งเป็น ๔ ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ ๑: ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพการเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ และการเสด็จประพาสต้น คือ การเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ เพื่อได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขของประชาชน ทำให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์อย่างใกล้ชิด
ส่วนที่ ๒: ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา เป็นภาพวิถีชีวิตที่ธรรมดาเป็นกิจวัตรของผู้คนในกรุงเทพฯ ให้บรรยากาศของความสุขสงบ เรียบง่ายของผู้คนและบ้านเมือง
ส่วนที่ ๓: ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของชาวตะวันตกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ //ส่วนที่ ๔: จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของชาติตะวันตกที่ทำให้สยามประเทศขณะนั้นเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสร้างและเชื่อมโยงระบบเส้นทางรถไฟ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางการปกครอง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
นิทรรศการ “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา” กำหนดเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม – ๒๐ กันยายน ๒๕๖๓ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการ จำนวน ๒ ครั้ง ณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในวันเสาร์ ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ หัวข้อ เบื้องหลังการอ่านภาพฟิล์มกระจก และในวันเสาร์ ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ หัวข้อ เล่าเรื่องการเก็บรักษาฟิล์มกระจกและภาพเก่า สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ www.nat.go.th หรือ facebook ของกรมศิลปากร และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือโทรศัพท์ หมายเลข ๐ ๒๒๘๒ ๘๔๒๓ ต่อ ๒๒๘
(จำนวนผู้เข้าชม 930 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน