เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เลาะลัดวัดเก่าเล่าเรื่องเมืองเพ็ชร์ตอน วัดท่าเรือ (ร้าง)
วัดท่าเรือ (ร้าง) ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์การ้อง ๕ ตําบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีปัจจุบัน มีสภาพเป็นพื้นที่โล่งไม่มีโบราณสถานและสิ่งก่อสร้างใด ๆ หลงเหลือ ด้านประวัติที่มาไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้สร้างรวมถึงถูกทิ้งร้างตั้งแต่เมื่อใด //จากการสอบถามคุณลุงวันชัย สีรุ้ง เจ้าของพื้นที่คนปัจจุบัน ทําให้ทราบว่าแต่เดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้มีเพียงเจดีย์ที่มีความเสียหายมาก คล้ายกับวัดทุ่งเสือข้าม และเนื่องจากไม่ได้รับการบูรณะจึงมีการเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา จนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน
ที่ตั้งของวัดท่าเรือ ตั้งอยู่บริเวณแถบชานเมืองฝั่งตะวันออกของทางรถไฟในปัจจุบัน บริเวณพื้นที่ของวัดทางทิศใต้ติดกับถนนโพธิ์การ้อง๕ ฝั่งตรงข้ามของถนนมีลําคลองขนาดเล็กจากวัดโคกหม้อไหลผ่าน ถัดลงไปทางทิศใต้ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดโคกหม้อ เนื่องจากบริเวณทิศใต้ของพื้นที่มีลําคลองไหลผ่าน ประกอบกับชื่อวัดคือ วัดท่าเรือ ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากความนิยมการตั้งชื่อสถานที่ตามลักษณะโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ของคนในสมัยก่อนเพื่อง่ายแก่การจดจํา จึงสันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้อาจจะเคยเป็นพื้นที่ติดต่อขนส่งสินค้าทางเรือกับชุมชนอื่น ส่วนด้านทิศตะวันตกห่างไปประมาณ ๑ กิโลเมตร คือแนวเขตกําแพงเมืองเก่า ปัจจุบันสร้างเป็นถนน ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ถนนสูง
แผนผังเนื่องจากพบเพียงเศษอิฐ เศษกระเบื้องดินเผา และ เศษภาชนะดินเผา ที่อยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณ จึงทําให้ไม่สามารถระบุตําแหน่งที่ตั้งของโบราณสถานได้อย่างชัดเจน แต่สามารถศึกษารายละเอียดโบราณวัตถุต่างๆที่พบได้แก่ อิฐ พบทั้งอิฐลักษณะสมบูรณ์ ขนาดประมาณ ๑๓ x ๑๘ x ๖ เซนติเมตร และเศษอิฐ กระจายตัวทั่ว บริเวณพื้นที่รวมถึงด้านข้างของลําคลองเนื้อวัสดุทําจากดินเผาผสมฟางข้าว มีสีส้มอมแดงจากการพบอิฐที่มีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบัน ทั้งยังมีการผสมฟางข้าวลงไปในเนื้อดิน แสดงความเป็นลักษณะเฉพาะตัวของอิฐในศิลปะสมัยอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าตัวสถาปัตยกรรมก่อนหน้านี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะอยุธยา
เศษกระเบื้องดินเผา พบเศษกระเบื้องดินเผาบริเวณใกล้แนวพุ่มไม้ โดยสามารถแยกได้เป็นกระเบื้องกาบูตัวผู้และกระเบื้องกาบูตัวเมีย เนื้อวัสดุทําจากดินเผา มีสีส้ม จากการพบเศษกระเบื้องดินเผา จึงสันนิษฐานว่าเดิมพื้นที่ตรงนี้น่าจะมีอาคารหลังคาคลุมอย่างแน่นอน และด้วยรูปแบบลักษณะของกระเบื้องมีความเด่นชัดว่าเป็นกระเบื้องกาบู จึงสันนิษฐานต่อว่า อาคารหลังคาคลุมดังกล่าวน่าจะเป็นอุโบสถหรือวิหาร เพราะเป็นความนิยมของงานสถาปัตยกรรมไทยที่นิยมใช้กระเบื้องกาบูในการประดับชั้นหลังคา
เศษภาชนะดินเผา พบบริเวณใกล้แนวพุ่มไม้เช่นเดียวกับเศษกระเบื้องดินเผา ส่วนมากเป็นชิ้นส่วนของลําตัว เนื้อวัสดุทําจากดินเผา มีสีส้ม ขึ้นรูปโดยการใช้นิ้วมือ มีการตกแต่งเป็นลวดลายเชือกทาบ และการขูดขีดเป็นลวดลาย จากการพบเศษภาชนะดินเผาที่มีลายเชือกทาบ ซึ่งเป็นลวดลายที่มีปรากฏตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียง โดยมีระยะห่างกันทั้งช่วงเวลาและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ จึงสันนิษฐานว่าพื้นที่แห่งนี้อาจมีการผสมผสานหรือการส่งต่อวัฒนธรรมจากพื้นที่อื่นเข้ามา
ภาพที่ 1 พื้นที่บริเวณวัดท่าเรือในปัจจุบัน
ภาพที่ 2 เศษกระเบื้องดินเผา และเศษภาชนะดินเผาที่กระจายตัวทั่วบริเวณ
ภาพที่ 3 เศษอิฐ ที่พบในบริเวณวัดท่าเรือ
ภาพที่ 4 เศษภาชนะดิน
ภาพที่ 5 เศษกระเบื้องดินเผา
ผู้เรียบเรียงข้อมูล : นายณัฐพล ชัยมั่น ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
ที่มาข้อมูล:
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ, 2558. รายงานการสำรวจโบราณสถานและศาสนสถานภายในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี. จังหวัดเพชรบุรี : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. บุญมี พิบูลย์สมบัติ, 2559. “วัดร้าง จากเส้นทางไปวัดพระรูป.” ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศ พระพิพิธพัชโรดม : 118-151.
(จำนวนผู้เข้าชม 2122 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน