เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เลาะลัดวัดเก่าเล่าเรื่องเมืองเพ็ชร์ตอน วัดโคกหม้อ (ร้าง)
วัดโคกหม้อ (ร้าง) ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านโคกหม้อ ตําบลช่องสะแก อําเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีเป็นวัดร้างมานานแล้ว ปัจจุบันเนื้อที่วัดโคกหม้อเหลือเพียง ๓ ไร่ ๒ งาน ๘๘ ตารางวา สามด้านติดที่เอกชน ส่วนด้านทิศตะวันตกจดแนวกําแพงเมืองวัดโคกหม้อในอดีตเป็นวัดหนึ่งที่อยู่ชิดติดกําแพงเมืองเพชรทางด้านทิศตะวันออก บริเวณทิศเหนือของวัดมีคลองใกล้ ๆ ชื่อคลองโคกหม้อ
บริเวณภายในเขตวัด มีการปลูกอาคารอย่างถาวรแข็งแรง ปล่อยโล่งตลอด ไม่มีผนัง หลังคาด้านข้างและด้านหน้าต่อพาไลยื่นออกมา ทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับสร้างอาคารอีกหลังหนึ่งปลูกอยู่ วัดนี้บริเวณที่เป็นพุทธาวาสเดิมมีรั้วกั้นเป็นขอบเขตไว้ส่วนหนึ่ง บริเวณอื่น ๆ นอกนั้นชาวบ้านใช้ประโยชน์ ดังนั้นแม้จะเป็นวัดร้างก็ยังมีเหลือร่องรอยไว้บ้าง พอให้เห็นว่ามีวัดโคกหม้อแต่เดิมตั้งอยู่ตรงนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าการวางอาคารมีการวางแบบตะวันออก-ตะวันตกซึ่งเป็นการวางที่นิยมกัน แต่อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอาจจะเป็นวิหารหรืออุโบสถก็ได้ เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่บ่งบอก ว่าเป็นอาคารประเภทไหน เช่น มีใบเสมาที่บอกว่าอาคารนี้เป็นอุโบสถ
พระประธานของวัดโคกหม้อ เป็นพระปูนปั้นขนาดกลาง ปางมารวิชัย หน้าตัก ๔ ศอกคืบ มีการซ่อมบูรณะมาหลายคราวจนเค้าเดิมเปลี่ยนไป กะเทาะปูนเดิมที่ชํารุดและฉาบผิวองค์พระใหม่ จนไม่สามารถระบุสมัยที่สร้างได้ กับปั้นเสริมพระพักตร์ให้บริบูรณ์ องค์พระยังเป็นสีขาวอยู่ ไม่ได้ปิดทอง แต่สามารถรู้ได้ว่าเป็นพระเก่าเพราะพระขนงเป็นแถบใหญ่หนา
นอกจากพระประธานที่เป็นของเก่าก็มีเจดีย์ทรงระฆัง ฐานกลมขนาดย่อม สูงประมาณ ๔ เมตร เดิมเหลือแต่ฐาน มีการซ่อมใหม่ เค้าเดิมถูกเปลี่ยนแปลง จึงยากต่อการระบุสมัย แต่น่าจะเป็นช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บริเวณเยี่ยงหน้าอาคารพระประธาน ซึ่งจากการที่พบเจดีย์ขนาดเล็กก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่าผังของวัดนี้อาจจะเป็นผังในช่วงอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์ที่มีอาคารหลักเป็นประธานของวัด
จากการสอบถามป้าพะยอม บุญเปี่ยมและป้าอารมณ์ ทําให้ทราบว่าพื้นที่สร้างวัด เมื่อก่อนเป็นป่าแล้วมีคนมาบุกเบิก ตอนแรกก็มีแค่พระประธานกับเจดีย์ พระเป็นพระแบบเก่า ๆ เจดีย์ก็มีแค่ฐาน ชาวบ้านเลยทําตัวองค์ระฆังขึ้นเอง เดิมมีองค์พระเนื้อเป็นสีขาวๆคล้ายปัจจุบัน เป็นหลวงพ่อปากแดง ใต้ฐานองค์พระพบเส้นผมปัจจุบันยังเก็บไว้ที่เดิมซึ่งไม่ทราบประวัติที่มาของเส้นผมเช่นกัน
ภาพที่ ๑ บริเวณของวัดโคกหม้อ
ภาพที่ ๒ พระประธานของวัดโคกหม้อ
ภาพที่ ๓ เจดีย์ทรงระฆังของวัดโคกหม้อ
ผู้เรียบเรียงข้อมูล : นายณัฐพล ชัยมั่น ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
ที่มาข้อมูล:
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ, 2558. รายงานการสำรวจโบราณสถานและศาสนสถานภายในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี. จังหวัดเพชรบุรี: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
บุญมี พิบูลย์สมบัติ, 2559. “วัดร้าง จากเส้นทางไปวัดพระรูป.” ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศ พระพิพิธพัชโรดม : 118-151.
(จำนวนผู้เข้าชม 2676 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน