เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พชรบุรีศรีกำแพงเพชร : เมืองที่มีกำแพงแข็งแกร่งประดุจดั่งเพชร
ศิลาจารึกวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม (พ.ศ. ๑๙๔๗) ระบุชื่อเมืองพชรบุรีศรีกำแพงเพชร อันน่าจะหมายถึงเมืองโบราณกำแพงเพชรที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง มีแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู วางตัวขนานไปกับแม่น้ำปิง ตัวเมืองมีขนาดกว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๔๒๐ เมตร แนวกำแพงเมืองด้านเหนือพบร่องรอยคูน้ำและคันดินจำนวน ๓ ชั้น จึงสันนิษฐานได้ว่าสร้างกำแพงเมืองกำแพงเพชรมีลักษณะเป็นคูน้ำและคันดิน ต่อมาได้มีการพัฒนากำแพงเมืองชั้นในให้เป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลง กำแพงเมืองชั้นในที่ล้อมรอบตัวเมืองเป็นระยะทางทั้งสิ้น ๕,๓๑๓ เมตร แบ่งเป็นกำแพงด้านทิศเหนือยาวประมาณ ๒,๔๐๓ เมตร กำแพงด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๒,๑๕๐ ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ ๕๔๐ เมตร และด้านทิศตะวันตกยาวประมาณ ๒๒๐ เมตร แนวกำแพงมีความกว้าง ๖.๕ เมตร สูงประมาณ ๔.๗ – ๕.๒ เมตร
แนวกำแพงเมืองที่ล้อมรอบตัวเมืองซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของเมืองนั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ แนวกำแพงเมืองที่มีเชิงเทินและใบเสมา ประตูเมือง และป้อมปราการ ประตูเมืองกำแพงเพชรที่ยังคงปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันจำนวน ๙ ประตู ได้แก่ แนวกำแพงด้านทิศตะวันตกพบประตูเมือง จำนวน ๑ ประตู คือ ประตูหัวเมือง แนวด้านทิศเหนือพบประตูจำนวน ๔ ประตู คือ ประตูผี ประตูสะพานโคม ประตูวัดช้าง และประตูเตาอิฐ แนวกำแพงด้านทิศตะวันออกพบจำนวน ๑ ประตู คือ ประตูท้ายเมือง แนวกำแพงด้านทิศใต้พบ ๓ ประตู คือ ประตูบ้านโนน ประตูดั้น และประตูเจ้าอินทร์ อย่างไรก็ตามอาจมีป้อมและประตูบางแห่งที่ไม่เหลือร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ประตูน้ำอ้อย แต่ปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ และในแผนที่เมืองกำแพงเพชรที่เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ทั้งสองฉบับดังกล่าวยังได้กล่าวถึงกำแพง ประตู และป้อมของเมืองกำแพงเพชร ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ความว่า
“…ไปตามถนนบนฝั่งน้ำชั้นบนไปข้างเหนือผ่านวัดเล็ก ๆ ทำด้วยแลง และที่ว่าการซึ่งยังทำไม่แล้ว เลี้ยวเข้าประตูน้ำอ้อยทิศตะวันตก หน้าประตูนี้เป็นทางลึกลงไปจากฝั่งจนถึงท้องคูแล้วจึงขึ้นเมือง...กำแพงก่อด้วยแลง ใบเสมาเป็นรูปเสมาหยักแต่ใหญ่ คออ้วนเหลืออยู่น้อย ตามประตูน่าจะเป็นป้อมทุกแห่ง แต่ที่ได้เห็น ๓ ประตู คือ ประตูน้ำอ้อย ประตูบ้านโนน ประตูดั้น...”
และในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ความว่า
“…เมืองกำแพงเพชรนี้รูปชอบกลไม่ใช่เป็นรูปสี่เหลี่ยม กำแพงด้านตะวันออกตะวันตกยาวกว่าด้านเหนือด้านใต้หลายส่วน ด้านเหนือด้านใต้มีประตูด้านละช่องเดียวเท่านั้น แต่ด้านตะวันออกตะวันตกมีหลายช่อง ทั้งมีป้อมวางเป็นระยะ...กำแพงบนเชิงเทินทำแน่นหนาก่อด้วยแลง มีใบเสมาก่อเป็นแผ่นตรงขึ้นไปสักศอกหนึ่งแล้ว จึงก่อเป็นรูปหลังเจียดขึ้นไปอีกศอกหนึ่ง บนกำแพงมีทางเดินได้รอบกว้างพอคนเดินหลีกกันได้สบาย นอกกำแพงมีคูลึก...”
สำหรับป้อมปราการที่ปรากฏแบบตามลักษณะตำแหน่งของป้อมได้ ๓ รูปแบบ คือ
๑. ป้อมประจำมุมเมือง ปัจจุบันพบเพียง ๓ ป้อม ตั้งอยู่บริเวณมุมเมืองทั้ง ๓ มุม ในแนวเดียวกับกำแพงเมืองชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ได้แก่ ป้อมมุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ป้อมมุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และป้อมมุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้
๒. ป้อมหน้าประตูเมือง ตั้งอยู่บนเกาะกลางคูเมืองชั้นในหน้าประตูเมือง ป้อมมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ได้แก่ ป้อมบ้านโนน ป้อมเจ้าจันทร์ ป้อมประตูผี ป้อมวัดช้าง ป้อมเตาอิฐ โดยสันนิษฐานว่าด้านหน้าประตูเมืองทุกประตูน่าจะมีป้อมลักษณะดังกล่าวตั้งอยู่ด้านหน้าทุกประตู
๓. ป้อมในแนวกำแพงเมือง ตั้งอยู่ในแนวกำแพงเมือง มีแผนผังเป็นรูปห้าเหลี่ยมหัวลูกศร ที่มีส่วนแหลมยื่นเข้าสู่คูเมืองชั้นใน แนวกำแพงด้านทิศใต้มีป้อมในแนวกำแพงเมือง ได้แก่ ป้อมหลังทัณฑสถานวัยหนุ่ม และป้อมเจ้าอินทร์ และแนวกำแพงด้านทิศเหนือมีป้อมในแนวกำแพงเมือง ได้แก่ป้อมเพชรและป้อมข้างประตูเตาอิฐ
กำแพงเมืองกำแพงเพชรไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒) รูปแบบการก่อสร้างป้อมและแนวกำแพงเมืองที่มีเชิงเทินและใบเสมานั้น เป็นรูปแบบที่น่าจะเข้ามาพร้อมกับอิทธิพลตะวันตก ดังที่มีข้อสันนิษฐานจากการศึกษาของนายประทีป เพ็งตะโก ในบทความ เรื่อง ป้อมเพชร ปราการเหล็กแห่งอยุธยา “…และเป็นไปได้ว่าชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวยุโรปมีบทบาทอยู่ในราชสำนักอยุธยามากที่สุดในขณะนั้น น่าจะมีส่วนในการออกแบบกำแพงเมืองและป้อมที่มีเชิงเทินและใบเสมา สำหรับเป็นที่กำบังกระสุนปืนให้สอดคล้องกับการสู้รบที่มีการใช้ปืนใหญ่ตามแบบตะวันตก ดังนั้นเอกสารทั้งฝ่ายไทยและต่างประเทศ ต่างรับรองในแนวเดียวกันว่ากำแพงก่ออิฐของอยุธยาน่าจะสร้างในระหว่างรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และสมเด็จพระมหาธรรมราชาหรือทั้งสองรัชกาล...” จึงเป็นไปได้ว่าการก่อสร้างของกำแพงเมืองกำแพงเพชรที่ก่อด้วยศิลาแลงนั้นเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒) ด้วยเช่นกัน
ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองกำแพงเพชรบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงแห่งนี้ นับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการสงครามที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก เมืองแห่งนี้จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการที่แข็งแกร่ง ชื่อเมืองกำแพงเพชรจึงปรากฏในเส้นทางการเดินทัพของทั้งฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพม่า และฝ่ายล้านนา มาโดยตลอด กระทั่งการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และยังคงปรากฏต่อเนื่องในสมัยธนบุรี และตอนต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางการสงครามของเมืองกำแพงเพชรซึ่งมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์คือแนวกำแพงเมืองที่ยังมีความสมบูรณ์มั่นคงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
บรรณานุกรม
ประทีป เพ็งตะโก. “ป้อมเพชร ปราการเหล็กแห่งอยุธยา”. ศิลปากร. ปีที่ ๔๐, ฉบับที่ ๕ (ก.ย.-ต.ค. ๒๕๔๐) หน้าที่ ๕๐-๖๕. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 3307 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน