ป้อมมหากาฬ และกำแพงเมือง หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี
ป้อมมหากาฬ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ริมคลองรอบกรุง คูเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อมต่อกับแนวกำแพงเมืองที่ขนานไปกับถนนมหาไชย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๔ ก่อด้วยอิฐสอปูน ฉาบปูน ฐานป้อมกว้างประมาณ ๓๘ เมตร และมีความสูงจากฐานถึงหลังคาประมาณ ๑๕ เมตร มีลักษณะเป็นทรงแปดเหลี่ยม ซ้อน ๓ ชั้น มีบันทางขึ้นสู่ชั้นที่ ๒ และ ๓ และมีประตูทางขึ้นสู่หอรบ ทางทิศตะวันตก บนสันกำแพงป้อมมีใบบังรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนสันกำแพงเมืองเป็นใบเสมา หลังคาป้อมทรงโค้งค่ำแบบใบบัว เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ
การขุดค้นทางโบราณคดีที่ป้อมมหากาฬ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและโครงสร้างของการก่อสร้างป้อมในสมัยโบราณ สำหรับนำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบบูรณะโบราณสถาน ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณตัวป้อมเป็นครั้งแรก โดยได้มีการขุดค้นทั้งหมด ๓ จุด ได้แก่ ๑) หลุมขุดค้นบริเวณมุมกำแพงป้อมชั้นล่าง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๒) หลุมขุดค้นบริเวณมุมผนังป้อมชั้นที่ ๒ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และ ๓) หลุมขุดค้นบริเวณลานป้อมชั้นที่ ๒ ด้านทิศตะวันออก จากกำแพงป้อมชั้นที่ ๑ จรดผนังป้อมชั้นที่ ๒ ซึ่งได้พบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับลักษณะการก่อสร้างป้อมและกำแพงเมือง ดังนี้
ฐานป้อมชั้นที่ ๑ เป็นฐานป้อมชั้นล่างสุด ก่อด้วยอิฐสอปูน ผนังป้อมฉาบปูนถึงระดับพื้นใช้งานเดิม ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นปัจจุบันประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ผนังป้อมใต้ระดับพื้นใช้งานเดิมลงไปเป็นการก่ออิฐเปลือยไม่ฉาบปูน มีความลึกประมาณ ๓ เมตร ฐานป้อมตั้งอยู่บนชั้นอิฐหักบดอัด ซึ่งเกิดจากการขุดดินเลนเดิมออก แล้วถมอัดด้วยอิฐหัก ลึกประมาณ ๑.๒๐ เมตร (อ้างอิงตามหลักฐานการขุดค้นในบริเวณป้อมมหากาฬ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗) จากนั้นจึงถมด้วยดินเหนียวให้ลาดเอียงไปทางคลองคูเมืองด้านทิศตะวันออกของตัวป้อม
ฐานป้อมชั้นที่ ๒ ก่อด้วยอิฐสอปูน ผนังป้อมฉาบปูนถึงระดับพื้นใช้งานเดิม และใต้ระดับพื้นใช้งานเดิมลงไปไม่ฉาบปูน เช่นเดียวกับผนังป้อมชั้นที่ ๑ พบพื้นใช้งานเดิมเป็นการปูอิฐสลับแนวยาวและแนวขวาง ซ้อน ๓ ชั้น และดาดด้วยปูนขาว ฐานป้อมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความลึกประมาณ ๓ เมตร ตั้งอยู่บนแนวฐานรากของกำแพงเมือง มีความลึกประมาณ ๔.๒๐ เมตร ซึ่งส่วนที่อยู่เหนือระดับพื้นใช้งานปัจจุบันได้ถูกรื้อไปแล้ว สันนิษฐานว่าเชื่อมต่อกับแนวกำแพงเมืองด้านทิศเหนือและทิศใต้ที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และมีช่องประตูกำแพงบนลานป้อมชั้นที่ ๒ ทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ใต้พื้นใช้งานเดิมมีการถมอัดด้วยดินเหนียว ลึกลงไปประมาณ ๑.๕๐ เมตร มีชั้นถมอัดด้วยอิฐหักหนาประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ถัดลงไปถมอัดด้วยดินเหนียวล้วน
ส่วนมุมป้อมด้านทิศตะวันออก ใต้ระดับพื้นใช้งานเดิมลงไปประมาณ ๓๐ เซนติเมตร พบชั้นปูพื้นด้วยอิฐและดาดปูนเช่นเดียวกัน แต่ชั้นดินถมอัดใต้พื้นใช้งานเดิมบริเวณนี้ เป็นก้อนอิฐหักผสมดินเหนียว จากผนังกำแพงป้อมถึงผนังป้อมชั้นที่ ๒ พบการก่อกำแพงใต้ระดับพื้นใช้งานเดิมลงไป ในแนวตะวันออก-ตะวันตก เพื่อค้ำยันผนังป้อมทั้ง ๒ ด้านไว้ โดยมีการก่ออิฐประสานกันระหว่างผนังป้อมและกำแพงนี้ ซึ่งพบว่ามีการทรุดตัวลงไปทางด้านทิศตะวันตกด้วย ฐานป้อมชั้น ๒ และฐานรากของกำแพงใต้ระดับพื้นใช้งานเดิม ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวถมอัด มีความลึกที่ต่ำกว่าระดับพื้นใช้งานปัจุบันประมาณ ๔.๒๐ เมตร เช่นเดียวกับผนังและกำแพงป้อมด้านทิศตะวันตก
การขุดค้นป้อมมหากาฬและกำแพงเมือง ทำให้ทราบข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับภูมิปัญญาในการก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองสมัยโบราณ เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิชาการโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถาน เพื่อสืบสาน รักษา มรดกวัฒนธรรมของชาติ และพัฒนาต่อยอดในฐานะทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนสืบต่อไป
เรียบเรียงข้อมูล : ดร. ภัทรวรรณ พงศ์ศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ กองโบราณคดี
การขุดค้นทางโบราณคดีที่ป้อมมหากาฬ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและโครงสร้างของการก่อสร้างป้อมในสมัยโบราณ สำหรับนำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบบูรณะโบราณสถาน ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณตัวป้อมเป็นครั้งแรก โดยได้มีการขุดค้นทั้งหมด ๓ จุด ได้แก่ ๑) หลุมขุดค้นบริเวณมุมกำแพงป้อมชั้นล่าง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๒) หลุมขุดค้นบริเวณมุมผนังป้อมชั้นที่ ๒ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และ ๓) หลุมขุดค้นบริเวณลานป้อมชั้นที่ ๒ ด้านทิศตะวันออก จากกำแพงป้อมชั้นที่ ๑ จรดผนังป้อมชั้นที่ ๒ ซึ่งได้พบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับลักษณะการก่อสร้างป้อมและกำแพงเมือง ดังนี้
ฐานป้อมชั้นที่ ๑ เป็นฐานป้อมชั้นล่างสุด ก่อด้วยอิฐสอปูน ผนังป้อมฉาบปูนถึงระดับพื้นใช้งานเดิม ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นปัจจุบันประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ผนังป้อมใต้ระดับพื้นใช้งานเดิมลงไปเป็นการก่ออิฐเปลือยไม่ฉาบปูน มีความลึกประมาณ ๓ เมตร ฐานป้อมตั้งอยู่บนชั้นอิฐหักบดอัด ซึ่งเกิดจากการขุดดินเลนเดิมออก แล้วถมอัดด้วยอิฐหัก ลึกประมาณ ๑.๒๐ เมตร (อ้างอิงตามหลักฐานการขุดค้นในบริเวณป้อมมหากาฬ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗) จากนั้นจึงถมด้วยดินเหนียวให้ลาดเอียงไปทางคลองคูเมืองด้านทิศตะวันออกของตัวป้อม
ฐานป้อมชั้นที่ ๒ ก่อด้วยอิฐสอปูน ผนังป้อมฉาบปูนถึงระดับพื้นใช้งานเดิม และใต้ระดับพื้นใช้งานเดิมลงไปไม่ฉาบปูน เช่นเดียวกับผนังป้อมชั้นที่ ๑ พบพื้นใช้งานเดิมเป็นการปูอิฐสลับแนวยาวและแนวขวาง ซ้อน ๓ ชั้น และดาดด้วยปูนขาว ฐานป้อมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความลึกประมาณ ๓ เมตร ตั้งอยู่บนแนวฐานรากของกำแพงเมือง มีความลึกประมาณ ๔.๒๐ เมตร ซึ่งส่วนที่อยู่เหนือระดับพื้นใช้งานปัจจุบันได้ถูกรื้อไปแล้ว สันนิษฐานว่าเชื่อมต่อกับแนวกำแพงเมืองด้านทิศเหนือและทิศใต้ที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และมีช่องประตูกำแพงบนลานป้อมชั้นที่ ๒ ทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ใต้พื้นใช้งานเดิมมีการถมอัดด้วยดินเหนียว ลึกลงไปประมาณ ๑.๕๐ เมตร มีชั้นถมอัดด้วยอิฐหักหนาประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ถัดลงไปถมอัดด้วยดินเหนียวล้วน
ส่วนมุมป้อมด้านทิศตะวันออก ใต้ระดับพื้นใช้งานเดิมลงไปประมาณ ๓๐ เซนติเมตร พบชั้นปูพื้นด้วยอิฐและดาดปูนเช่นเดียวกัน แต่ชั้นดินถมอัดใต้พื้นใช้งานเดิมบริเวณนี้ เป็นก้อนอิฐหักผสมดินเหนียว จากผนังกำแพงป้อมถึงผนังป้อมชั้นที่ ๒ พบการก่อกำแพงใต้ระดับพื้นใช้งานเดิมลงไป ในแนวตะวันออก-ตะวันตก เพื่อค้ำยันผนังป้อมทั้ง ๒ ด้านไว้ โดยมีการก่ออิฐประสานกันระหว่างผนังป้อมและกำแพงนี้ ซึ่งพบว่ามีการทรุดตัวลงไปทางด้านทิศตะวันตกด้วย ฐานป้อมชั้น ๒ และฐานรากของกำแพงใต้ระดับพื้นใช้งานเดิม ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวถมอัด มีความลึกที่ต่ำกว่าระดับพื้นใช้งานปัจุบันประมาณ ๔.๒๐ เมตร เช่นเดียวกับผนังและกำแพงป้อมด้านทิศตะวันตก
การขุดค้นป้อมมหากาฬและกำแพงเมือง ทำให้ทราบข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับภูมิปัญญาในการก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองสมัยโบราณ เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิชาการโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถาน เพื่อสืบสาน รักษา มรดกวัฒนธรรมของชาติ และพัฒนาต่อยอดในฐานะทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนสืบต่อไป
เรียบเรียงข้อมูล : ดร. ภัทรวรรณ พงศ์ศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ กองโบราณคดี
(จำนวนผู้เข้าชม 2002 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน