ศาลหลักเมืองสุโขทัย
          โบราณสถานที่เข้าใจว่าเป็น “หลักเมือง” สุโขทัยนี้ มาจากข้อสันนิษฐานที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” โดยกล่าวไว้ว่า “แต่ทางทิศเหนือวัดมหาธาตุ ริมวัดที่เรียกกันว่า วัดชนะสงครามนั้น มีสถานอันหนึ่งซึ่งราษฎรเรียกว่าศาลกลางเมือง ได้แต่งให้พระวิเชียรปราการไปตรวจดูก่อน บอกว่าเข้าใจว่าจะเป็นหลักเมือง ครั้นไปดูเองภายหลังก็ลงเนื้อเห็นด้วย คือมีเป็นเนินอยู่เฉยๆก่อนแต่ครั้นให้ถางและขุดลงไป จึงได้เห็นท่าทางพอเดาได้ ว่ามีเสาแลงตั้งขึ้นไปทั้ง ๔ มุม มีมุมละ ๒ เสาซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น ที่ตรงกลางเนินมีหลุมซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นหลุมที่ฝังนิมิต ในหลุมนั้นมีศิลาแผ่นแบนทิ้งอยู่แผ่นหนึ่งแต่แตกแยกเป็นสองชิ้น ตรวจดูศิลานั้นก็แลเห็นเป็นลายอะไรเลือนๆ จึงเหลือที่จะรู้ได้ว่าเป็นอะไร บางทีจะเป็นแผ่นศิลาที่ลงดวงของเมืองก็ได้”



          ลักษณะของศาลหลักเมืองเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดเล็ก ตั้งอยู่เดี่ยวๆ มีลักษณะเป็นฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูง มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก ด้านบนมีฐานบัวก่อด้วยอิฐรองรับเสาแปดเหลี่ยมทำด้วยศิลาแลง แต่เดิมน่าจะมีเครื่องบนทำด้วยไม้และหลังคามุงกระเบื้อง ปัจจุบันชำรุดหายไป ขนาดของฐานกว้างด้านละ ๓ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร

ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย

(จำนวนผู้เข้าชม 6648 ครั้ง)