หินทุบเปลือกไม้
วัสดุ : หิน
ขนาด : ยาว 9.6 เซนติเมตร กว้าง 5.8 เซนติเมตร สูง 5.5 เซนติเมตร
สมัย : ก่อนประวัติศาสตร์
อายุ : พุทธศตวรรษที่ 5-10
ลักษณะวัตถุ : ทรงกลม ด้านหนึ่งเซาะร่องเป็นเส้นตรงตัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ช่วงตรงกลางแกะเป็นร่องเว้าลึกเล็กน้อย เพื่อการจับ

          มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแถบฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตกของภาคใต้มีวัฒนธรรมการนุ่งห่มด้วยผ้า ทำจากเปลือกไม้ โดยพบหินทุบเปลือกไม้ ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งหินทรงกระบอก หรือ ทรงรี ด้านหนึ่งสกัดเป็นร่องเส้นไขว้เป็นตาตาราง ในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ ถ้ำเบื้องแบบ ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอ คีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และพังงา อีกด้วย
          จากนั้นในราวพุทธศตวรรษที่ 5-6 ชุมชนโบราณในภาคใต้ได้มีการรับวัฒนธรรมจากอินเดีย จีน และเมดิเตอเรเนียน ทำให้มีการพัฒนาการทำผ้าจากเปลือกไม้มาเป็นการทอผ้าด้วยเส้นใยจากพืช โดยเฉพาะ ฝ้าย ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในอินเดีย นั้น น่าจะมีการนำเข้ามาปลูกและเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตเส้นใยและทอผ้าจากเส้นใยฝ้ายแล้ว เพราะพบอุปกรณ์ปั่นด้ายที่เรียกว่า แว ทำจากดินเผาและหิน มีรูปทรงต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ มีฐานรูปกรวย รูปครึ่งวงกลม มีแกนยาวเป็นเดือยทรงกระบอกยื่นออกมาและมีรูตรงกลาง ในแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลานี้หลายแห่ง อาทิ แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด ในเขตอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

แหล่งที่พบ : เขาเสก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
ปัจจุบัน จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร

ที่มาข้อมูล ระบบทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร

(จำนวนผู้เข้าชม 947 ครั้ง)