ราชวงศ์สุพรรณภูมิได้ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นราชวงศ์ที่สองต่อจากราชวงศ์อู่ทอง และเป็นราชวงศ์ที่ได้ครองกรุงศรีอยุธยายาวนานที่สุด ชื่อราชวงศ์สุพรรณภูมิมาจากชื่อเมืองสุพรรณภูมิ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพ่องั่ว กษัตริย์ลำดับที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยาเคยปกครองมาก่อน


          หลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๑ คือ จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ.๑๘๒๖) กล่าวถึงเมือง “สุพรรณภูมิ” อยู่ทางทิศใต้ของกรุงสุโขทัย “....เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรกสุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว....”

          จารึกลานทองวัดส่องคบ ๑ จังหวัดชัยนาท พ.ศ ๑๙๕๑ (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ารามราชาธิราช พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์อู่ทอง พ.ศ.๑๙๓๘ – ๑๙๕๒) กล่าวถึง “...แม่นางพัวผู้มีคุณ แม่นางผู้ใจบุญ บุญชาวแม่ทั้งหลายพรรณรายศรัทธาอันโมทนาด้วย ธ เจ้าเมือง แต่ปีชวดนักษัตรสัมฤทธิศก ไพสาขวันอาทตย์ตราเอกาทศเกต จึงพระสงฆ์ทั้งหลาย แต่ ธ เจ้าเมืองประดิษฐานพระศรีรัตนธาตุ แห่งกรุงไชยสถานนาม มาตราหนึ่ง แต่ ธ เจ้าเมืองกระทำกุศลมาแต่กระโน้น ในสุพรรณภูมิ ธ ให้ทานเรียบร้อย ธ กระทำกุฎีพิหารในศรีอโยธยา ให้ข้าสองคนแม่ลูก พระสงฆ์สี่ตนแล้ว...” และในชินกาลมาลีปกรณ์ (พ.ศ. ๒๐๖๐) ได้กล่าวถึง วัตติเดชอำมาตย์ (สันนิษฐานว่า คือ ขุนหลวงพ่องั่ว) ครองเมืองสุพรรณภูมิ //เมืองสุพรรณภูมิเป็นเมืองสำคัญที่อยู่ร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัยและนครศรีธรรมราช เป็นเมืองใหญ่ที่มีเจ้าเมืองปกครองสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น มีฐานะเป็นเมืองสำคัญคู่กับราชธานีกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เสด็จสวรรคต ขุนหลวงพ่องั่วซึ่งครองเมืองสุพรรณภูมิได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ และทรงเป็นต้นราชวงศ์สุพรรณภูมิปกครองกรุงศรีอยุธยา โดยมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติในฐานะพระเชษฐาของพระมเหสีพระเจ้าอู่ทอง
          ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ.๑๙๕๒ – ๑๙๖๗) ทรงรวมเอาเมืองใหญ๋ทั้งสาม คือ สุพรรณบุรี สุโขทัย และอยุธยา ผนวกเข้าด้วยกัน ทำให้กรุงศรีอยุธยามีฐานะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอยุธยาอย่างแท้จริง
          พระมหากษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิเสด็จขึ้นครองราชย์ในกรุงศรีอยุธยา มีทั้งสิ้น ๑๓ พระองค์ ดังนี้
๑. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพ่องั่ว) พ.ศ.๑๙๑๓ – ๑๙๓๑
๒. สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์ หรือทองลัน พ.ศ.๑๙๓๑
๓. สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ หรือสมเด็จพระนครินทราธิราช พ.ศ.๑๙๕๒ – ๑๙๖๗
๔. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) พ.ศ.๑๙๖๗ – ๑๙๘๑
๕. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.๑๙๙๑ – ๒๐๓๑
๖. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พ.ศ.๒๐๓๑ – ๒๐๓๔
๗. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พ.ศ.๒๐๓๔ – ๒๐๗๒
๘. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร)พ.ศ.๒๐๗๒ – ๒๐๗๖
๙. สมเด็จพระรัษฏาธิราช พ.ศ.๒๐๗๖ – ๒๐๗๗
๑๐. สมเด็จพระชัยราชาธิราช พ.ศ.๒๐๗๗ – ๒๐๘๙
๑๑. สมเด็จพระยอดฟ้าหรือพระแก้วฟ้า พ.ศ.๒๐๘๙ – ๒๐๙๑
๑๒. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ.๒๐๙๑ – ๒๑๑๑
๑๓. สมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ.๒๑๑๑ – ๒๑๑๒

          ในสมัยของสมเด็จพระมหินทราธิราชกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ ๑ ให้แก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ หลังจากนั้นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยจึงได้ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อมา

เรียบเรียงโดย นางสาวเบญจพร สารพรม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

ข้อมูลอ้างอิง
นิภา สังคนาคินทร์. หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี. หน้า ๒๕, ๒๖, ๖๒ อนงค์ หนูแป้น. หนังสือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี. หน้า ๑๔ แสงเทียน ศรัทธาไทย. ราชวงศ์สยาม. หน้า ๑๕๕ – ๑๕๖

(จำนวนผู้เข้าชม 52969 ครั้ง)