เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
นเรนทราทิตย์ผู้เนรมิตเขาพนมรุ้งดุจดั่งเขาไกรลาศ
ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่มีประวัติพัฒนาการในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ โดยกำหนดอายุสมัยจากศิลาจารึกและรูปแบบศิลปกรรมที่แบ่งออกได้ถึง ๔ ระยะ และอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถือเป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของการสร้างศาสนสถานบนเขาพนมรุ้ง เพราะมีการสถาปนาปราสาทประธานและอาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบแผนผังที่แสดงถึงการจำลองเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะมาไว้บนโลกมนุษย์อย่างชัดเจน
“นเรนทราทิตย์” คือพระนามที่ปรากฏในจารึกช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ว่าพระองค์คือผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบว่าปรากฏพระนามนี้อยู่ในจารึกหลักใด นอกจากจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง
พระนาม “นเรนทราทิตย์” มาจากคำว่า นเรนทร + อาทิตย์ คำว่า “นเรนทร” หมายถึง พระราชา ส่วนคำว่า “อาทิตย์” ก็คือ พระอาทิตย์ รวมกันแล้วจึงหมายถึง พระราชาแห่งดวงอาทิตย์ หรือผู้ยิ่งใหญ่ประดุจดั่งดวงอาทิตย์ และเป็นที่น่าสังเกตว่าความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระอาทิตย์นี้ยังปรากฏในพระนามของกษัตริย์ในวัฒนธรรมเขมรโบราณด้วย เช่น พระเจ้าสุริยวรมัน พระเจ้าอุทัยทิตยวรมัน เป็นต้น
ความในจารึกพนมรุ้งหลักที่ ๗, ๘ และ ๙ กล่าวว่า นเรนทราทิตย์เป็นโอรสของพระนางภูปตินทรลักษมี เป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม มีความสามารถในการรบ ได้เข้าร่วมรบกับกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น นเรนทราทิตย์คงได้รับความดีความชอบเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมืองแห่งดินแดน “มหิธรปุระ” ----- พระองค์ทรงสร้างปราสาทประธาน ประดิษฐานรูปเคารพ สร้างงานศิลปกรรมที่ปรากฏเป็นลวดลายสลักต่าง ๆ เช่น หน้าบันและทับหลัง ที่ล้วนแสดงให้เห็นว่ามีความประสงค์ที่จะสร้างเป็นเทวาลัยแห่งพระศิวะ มีศิวลึงค์เป็นองค์ประธาน และยังมีการนับถือเทพองค์อื่น ๆ ซึ่งอยู่ในสถานะเทพชั้นรอง นอกจากนี้ข้อความในจารึกยังกล่าวว่า “นเรนทราทิตย์ได้สร้างปราสาทแห่งนี้เพื่อประดิษฐานรูปเคารพของตนเอง เพื่อเตรียมไว้สำหรับการเข้าไปรวมกับเทพที่ทรงนับถือหลังจากสิ้นพระชนม์”
พระองค์ทรงทำนุบำรุงศาสนา อุปถัมภ์พราหมณ์ ดาบส โยคี เช่น ทรงสร้างสระน้ำ สร้างทางเดินแด่พระดาบสให้ทอดไปตามสันเขาเพื่อข้ามน้ำ ถวายทรัพย์ ข้าทาส ที่ดิน และเครื่องบวงสรวงทุกวันแด่เทวาลัย ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้า ในลัทธิไศวนิกาย แบบปศุปตะ พระองค์จึงออกบวชถือองค์เป็นนักพรตจวบจนวาระสุดท้าย โอรสของพระองค์คือ “หิรัณยะ” เป็นผู้ให้จารึกเรื่องราวเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระบิดา และได้ให้ช่างหล่อรูปของนเรนทราทิตย์ด้วยทองคำ
นอกจากเนื้อความในจารึกแล้ว ยังปรากฏภาพสลักสำคัญอยู่บนทับหลังประตูชั้นที่สองมุขด้านทิศใต้ของปราสาทประธาน ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นภาพ “พิธีอภิเษกนเรนทราทิตย์” ตรงกลางเป็นรูปบุคคลฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์ แวดล้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพาร อาจหมายถึงพิธีอภิเษกนเรนทราทิตย์เป็นฤาษีหลังจากเสด็จจากเมืองพระนคร เพื่อมาบำเพ็ญพรต ณ เขาพนมรุ้งตามความในศิลาจารึกพนมรุ้ง ๗ (หรือ K ๓๘๔) ที่กล่าวว่า “พระองค์ผู้ปราศจากมลทิน...ไปแล้วกับหมู่คนผู้เป็นชาวนคร” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงวิเคราะห์ว่า “นคร” ในที่นี้คงหมายถึง เมืองพระนครอันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรโบราณ เนื่องจากศิลาจารึกซึ่งค้นพบในประเทศกัมพูชาหลายหลักเรียกเมืองพระนครว่า “นคร”
ปัจจุบัน เรื่องราวของนเรนทราทิตย์ ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง ได้รับการถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการแสดง แสง สี เสียง เนื่องในงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี
-----------------------------------------
ผู้เรียบเรียง
: นางสาวสุรีรัตน์ ทองภู นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง
:
กรมศิลปากร, ปราสาทพนมรุ้ง, ๒๕๕๑.
กรมศิลปากร, อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ, ๒๕๕๗.
ชะเอม แก้วคล้าย, จารึกปราสาทหินพนมรุ้งที่พบใหม่ จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง ๘, ๒๕๓๐.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง, ๒๕๒๑.
หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ปราสาทเขาพนมรุ้งศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย, ๒๕๓๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 8523 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน