เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
จากศาลมณฑลจวบจนถึงศาลแขวงราชบุรี
ศาลมณฑลราชบุรี ศาลจังหวัดราชบุรีหรือศาลแขวงราชบุรี ตั้งอยู่ที่ถนนวิชิตสงคราม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สร้างขึ้นในร.ศ.๑๒๕ หรือพ.ศ.๒๔๔๙ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการยกเลิกศาลมณฑลราชบุรี จัดตั้งเป็นศาลจังหวัดราชบุรี อาคารหลังนี้จึงเป็นที่ทำการศาลจังหวัดราชบุรี จนกระทั่งพ.ศ. ๒๕๐๐ มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศาลแขวงขึ้น ๑๗ ศาล ศาลแขวงราชบุรีจัดตั้งขึ้นโดยอาศัย “พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเขตอำนาจและวันเปิดทำการของศาลแขวงในบางจังหวัด พ.ศ.๒๕๐๐ มาตรา ๑๕” ในจังหวัดราชบุรีมีศาลแขวง ๑ ศาล มีเขตอำนาจในอำเภอเมืองราชบุรี และเปิดทำการตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๐ เป็นต้นไป ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๗ ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวง พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๑๕ ให้ศาลแขวงราชบุรี ในจังหวัดราชบุรีซึ่งมีเขตอำนาจในอำเภอเมืองราชบุรี มีเขตอำนาจในอำเภอจอมบึง อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ อำเภอบ้านโป่ง อำเภอปากท่อ อำเภอโพธาราม และอำเภอวัดเพลงด้วย มีผลให้ศาลแขวงราชบุรีมีเขตอำนาจครอบคลุมทั่วทุกอำเภอในเขตปกครองจังหวัดราชบุรี เป็นที่ทำการศาลแขวงราชบุรีจวบจนถึงปัจจุบัน
ประวัติของศาลก่อนมีการปฏิรูปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น แต่ละกรมต่างมีอำนาจทั้งด้านบริหารและตุลาการทำการชำระคดีความที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ตนเป็นผู้บริหาร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความจำเป็นในการรวบรวมศาลที่อยู่ในกรมกองต่างๆให้เป็นหมวดหมู่สังกัดอยู่ในกระทรวงเดียวกัน จึงประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เมื่อปี ๒๔๓๔ (ร.ศ. ๑๑๐) ให้คดีทั้งปวงตามศาลกระทรวงกรมต่างๆ มารวมอยู่ในกระทรวงยุติธรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ทั้งหมด หลังจากนั้นได้ขยายวิธีจัดราชการศาลระบบใหม่ออกไปยังหัวเมือง เริ่มด้วยการประกาศใช้ธรรมนูญศาลหัวเมือง ร.ศ.๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘) การปกครองหัวเมือง ในขณะนั้นแบ่งออกเป็นมณฑลโดยรวมหัวเมืองหลายๆหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล การจัดศาลหัวเมืองจึงจัดให้สอดคล้องกับการปกครองมณฑล
มณฑลราชบุรีเป็นมณฑลหนึ่ง ซึ่งมีการจัดตั้งศาลมณฑลราชบุรีขึ้นตามประกาศ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ร.ศ.๑๑๗ โดยโปรดเกล้าฯให้หลวงศรีสัตยารักษ์ กับมิสเตอร์สะเลคเชอร์ ข้าหลวงพิเศษประจำการ ๒ นาย หลวงนรเนตร บัญชากิจ ผู้พิพากษาศาลมณฑลราชบุรี เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ข้าหลวงเทศาภิบาล และพระยาอมรินทร์ฤาไชย ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี เป็นผู้จัดการศาลมณฑลราชบุรี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้มีการปรับปรุงและจัดระเบียบศาลหลายครั้ง ศาลมณฑลซึ่งทำหน้าที่ศาลอุทธรณ์หัวเมืองจึงยกเลิกไปในพ.ศ.๒๔๗๖ มีการกำหนดให้จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ โดยให้เลิกศาลมณฑลและให้มีฐานะเป็นศาลจังหวัดแทน ต่อมาพ.ศ. ๒๕๐๑ มีการสร้างอาคารศาลจังหวัดราชบุรีขึ้นใหม่
อาคารหลังนี้จึงได้ใช้เป็นที่ทำการศาลแขวงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน อาคารศาลแขวงราชบุรี (ศาลจังหวัดราชบุรีเดิม) ตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ เป็นอาคารตึก ๒ ชั้นแบบโบราณ รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกรุ่นเก่า การก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดทำการได้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๒๗ ลักษณะอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น โครงสร้างผนังรับน้ำหนัก สถาปัตยกรรมเรเนซองส์ รีไววัลผสมวิคตอเรียน โครงหลังคา บานประตูและหน้าต่างเป็นไม้ หลังคาทรงจั่วมีคอสองยกสูง มุงกระเบื้อง ด้านข้างมีปีกนกคลุม หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นตราประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และอักษรคำว่า “ศาลรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕” ภายในมีบันไดเวียนขึ้นชั้นบนทั้งสองชั้น มีห้องโถงอยู่ตรงกลางและมีห้องปีกทั้งสองข้าง ลักษณะเด่นของอาคาร คือ หลังคาจั่วมีความชันมากกว่าหน้าจั่วแบบคลาสสิค หน้าต่างเป็นซุ้มโค้ง ประตูทางเข้าชั้นล่างและช่องหน้าต่างด้านหน้าเป็นช่องสี่เหลี่ยม ผนังภายในด้านบนมีแผงประดับเป็นไม้ฉลุลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง
เมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายอาคารศาลที่ถ่ายไว้ก่อนพ.ศ.๒๔๖๐ กับตัวอาคารปัจจุบันจะเห็นว่าด้านหน้าอาคาร โดยเฉพาะแผงปิดหน้าจั่วมีความแตกต่างกัน สันนิษฐานได้ว่าเป็นเพราะตัวอาคารได้รับความเสียหายหลายส่วนจากแรงระเบิดในสงครามมหาเอเชียบูรพา และตัวอาคารได้ทำการซ่อมใหญ่ถึง ๒ ครั้ง เมื่อปี ๒๔๖๐ และปี ๒๔๙๐ ปัจจุบันศาลแขวงราชบุรีซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ใกล้ตลาดสนามหญ้าหลังนี้ ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๓๙ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๐ แล้ว จึงถือเป็นอาคารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อีกหลังหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการศึกษา เพื่อที่จะได้เข้าใจประวัติศาสตร์การสร้าง องค์ประกอบและรูปแบบ รวมถึงอิทธิพลต่างๆที่มีต่อการออกแบบอาคารศาลในยุคนั้นรวมทั้งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของชาติและจังหวัดราชบุรีให้ชนรุ่นหลังได้ทราบต่อไป
ภาพ : ศาลแขวงราชบุรีในอดีต
ภาพ ศาลแขวงราชบุรีในปัจจุบัน
ข้อมูลโดย นางสาวปราจิน เครือจันทร์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
อ้างอิง
เธียร เจริญวัฒนา,การจัดการศาลยุติธรรมหัวเมือง,ที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา,กรุงเทพฯ โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม,๒๕๒๒. เลอสม สถาปิตานนท์.สถานที่ราชการสมัยรัชกาลที่๑ ถึงรัชกาลที่ ๙.กรุงเทพฯ: ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วิจิตร เจริญภักตร์,ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันตก: คริสเตียนตอนต้นถึงสมัยใหม่.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๔๓. วัฒนา ชิตวารี,กระทรวงยุติธรรมและระบบการศาลไทย.มหาวิทยาลัยรามคำแหง,ศาลคดีเด็กและเยาวชน,๒๕๑๖. ประวัติและวิวัฒนาการศาลและกระทรวงยุติธรรม,หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีกระทรงยุติธรรม ฉบับภาษาไทย (กรุงเทพฯ:เพอเฟคท์ กราฟฟิค กรุ๊ป),๒๕๓๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 9999 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน