...

ประวัติและบทบาทหน้าที่
   
     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองเก่ากำแพงเพชร ระหว่างโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมกับพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ(เรือนไทย) ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร กรมศิลปากรจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีเพื่อเก็บรวบรวม สงวนรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรมท้องถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2510 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2514 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นเป็นผู้แทนพระองค์
     เมื่อ แรกสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร มีอาคารทรงไทยประยุกต์สองชั้น ก่ออิฐถือปูนเพียงหลังเดียว ต่อมาได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 3 หลัง โดยมีทางเชื่อมระหว่างอาคาร แต่ละหลังโดยรอบ ใน พ.ศ. 2552 ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรในส่วนครึ่งแรกและได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2556 เพื่อทำการปรับปรุงนิทรรศการในส่วนครึ่งหลัง

อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ในสมัยแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ.2514

     งบประมาณ 2552-2556 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในอาคาร ทุกหลัง ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกำแพงเพชรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและเน้นสื่อจัดแสดงให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นได้แก่ วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์สัมผัสหน้าจอ หุ่นจำลอง ฯลฯ นอกเหนือจากการจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาสำหรับผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัยทุกระดับการศึกษารวมทั้งเป็นหน่วยงานสำคัญซึ่งทำหน้าที่อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และของชาติให้คงอยู่สืบไป

    




     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญ ดังนี้
     - ดำเนินการสำรวจและรวบรวมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาเก็บรักษา ตามพระพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช 2504 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2535 เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป
     - ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ผนวกกับการสืบค้นจากเอกสารและตำนาน หรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ และพัฒนาเป็นข้อมูลวิชาการสำหรับเป็นเอกสารอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติต่อไป
     - ประสานและสนับสนุนในการสงวนรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ ตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ - เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ งานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และความรู้ที่ได้จากการศึกษา วิจัย ต่อสาธารณชน ด้วยสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ
     - ตรวจพิสูจน์และกำหนดอายุสมัยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ
     - สำรวจเก็บข้อมูล ประสานกับทางสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของวัดและเอกชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
     - วางแผนและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานของชาติ
     - ประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประจำท้องถิ่น
     - ดำเนินงานเกี่ยวกับเครือข่ายเพื่อการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
     - ปฏิบัติงานร่วม หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมาย

(จำนวนผู้เข้าชม 610 ครั้ง)