กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา






องค์ความรู้ เรื่อง กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
กระเบื้องเชิงชาย คือ กระเบื้องแผ่นปลายสุดของชายคา เป็นองค์ประกอบสำคัญของเครื่องมุงหลังคาสถาปัตยกรรมโบราณ ใช้ประดับเรียงรายโดยอุดชายคากระเบื้องลอน เพื่อให้เกิดความงามของแนวชายคา ป้องกันฝนสาดเข้าไปตามช่องของลอนกระเบื้องมุง รวมทั้งป้องกันสัตว์ไม่ให้เข้าไปทำรังและทำลายโครงสร้างภายในอาคารได้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระเบื้องหน้าอุด
กระเบื้องเชิงชายโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือสามเหลี่ยมด้านเท่า มีเดือยออกทางด้านหลังเพื่อเสียบเข้าไปในลอนกระเบื้องมุง ทำด้วยดินเผา สันนิษฐานว่าช่างโบราณเลือกเทคนิคการทำด้วยวิธีการพิมพ์จากแบบ ซึ่งลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายเป็นลายนูนต่ำ ตัวลายมีความกลมมน ละเว้นรายละเอียดที่มากเกินไป เพราะสะดวกต่อการถอดพิมพ์ นอกจากนี้การทำลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายที่จะประดับบนหลังคาเดียวกันให้เหมือนและเท่ากันนั้นยากด้วยวิธีการปั้นแบบอิสระ
สิ่งก่อสร้างในสมัยอยุธยาที่ใช้กระเบื้องเชิงชายสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทศาสนสถาน ได้แก่ อุโบสถ วิหาร กุฏิ ซุ้มประตู และประเภทที่อยู่อาศัย ได้แก่ พระมหาปราสาท พระที่นั่ง ตำหนัก ซึ่งกระเบื้องเชิงชายใช้กับอาคารของชนชั้นสูง สอดคล้องกับการตกแต่งลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายด้วยรูปภาพที่มีความหมายทางประติมานวิทยา เช่น รูปเทพนม รูปดอกบัว ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากระเบื้องเชิงชายแต่ละชิ้นน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของวิมานที่สถิตของเทวดา เป็นการส่งเสริมความสำคัญของอาคารนั้น ๆ และแสดงฐานะของผู้ใช้อาคารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลวดลายที่ปรากฏบนกระเบื้องเชิงชาย ได้แก่ ลายดอกบัว ลายเทพนม ลายหน้ากาล ลายพันธุ์พฤกษา ลายครุฑยุดนาค จากการสำรวจกระเบื้องเชิงชายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร พบกระเบื้องเชิงชายลวดลายดอกบัว โดยดอกบัวเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ความสมบูรณ์ ในพุทธศาสนาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการกำเนิดขององค์พระศาสดา ดังความในพระไตรปิฎกว่า “...สีเส ปฐวิ โปกขเร อภิเลเก สพพพุทธานํ...” หมายความว่า แผ่นดินคือดอกบัว เป็นที่อุบัติตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น จึงนิยมสร้างงานศิลปกรรมเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่เหนือดอกบัว ต่อมาลายดอกบัวได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นลายลายกระหนก
ลายเทพนมที่ตกแต่งบนกระเบื้องเชิงชายเป็นภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือเสมอพระอุระอยู่เหนือดอกบัว เป็นลวดลายที่พบในงานศิลปกรรมไทยทั่วไป เช่น ในงานจิตรกรรม ลายพุ่มหน้าบิณฑ์เทพนม ลายก้านขดเทพนม ลายเทพนมบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ในงานประติมากรรม พบที่กระเบื้องเชิงชาย หน้าบัน บันแถลงประตูหน้าต่างของโบสถ์หรือวิหาร เป็นต้น ซึ่งกระเบื้องเชิงชายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓
บรรณานุกรม
- ประทีป เพ็งตะโก. “กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๐.
- วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๙.
- สันติ เล็กสุขุม. งานช่าง คำช่างโบราณ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๗
(จำนวนผู้เข้าชม 3086 ครั้ง)