ประติมากรรมดินเผารูปหงส์จากโบราณสถานวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร
องค์ความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เรื่อง ประติมากรรมดินเผารูปหงส์จากโบราณสถานวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร
ประติมากรรมดินเผารูปหงส์พบจากการขุดแต่งโบราณสถานวัดช้างรอบ เขตอรัญญิก นอกเมืองกำแพงเพชรทางด้านเหนือ ใช้ประดับอยู่ที่ส่วนฐานกลมเหนือฐานแปดเหลี่ยมบนชั้นลานประทักษิณของเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ ปัจจุบันได้หลุดร่วงไปเกือบหมด หงส์บางส่วนที่หลุดร่วงได้ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
หงส์ที่ประดับบนโบราณสถานวัดช้างรอบแต่ละตัวที่พบมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นรูปหงส์ด้านข้าง ยืนเรียงรายเป็นแถว ส่วนหัวมีหงอนเป็นลายกระหนก คอยาว หางเป็นรูปลายกระหนก ลักษณะเลียนแบบตามธรรมชาติ แต่มีการประดิษฐ์ลวดลายให้สวยงามมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะส่วนหัว คอ และหาง ซึ่งอาจเทียบได้กับรูปหงส์ปูนปั้นที่ประดับบนชั้นเชิงบาตรของปรางค์วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑
หงส์ถือเป็นสัตว์ชั้นสูงที่ปรากฏในคติความเชื่อทั้งในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา ชาวฮินดูถือว่าหงส์เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเป็นพาหนะของพระพรหมซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญของศาสนาฮินดู ส่วนในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่าหงส์เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ นอกจากนี้ยังเชื่อกันอีกว่าเป็นเจ้าแห่งนกทั้งปวง เป็นผู้พิทักษ์รักษาท้องฟ้า และเป็นพาหนะที่นำวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 3104 ครั้ง)