พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
เรื่อง พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
พระอิศวรเป็น ๑ ใน ๓ เทพเจ้าสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม รวมเรียกว่า "ตรีมูรติ" โดยเรื่องราวของพระอิศวรปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งกล่าวแตกต่างกันออกไป บางตำนานกล่าวว่า พระองค์ถือกำเนิดเอง บ้างก็กล่าวว่าทรงจุติออกมาจากพระนลาฏของพระพรหม
ในประเทศไทยได้พบรูปเคารพหรือประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระอิศวรมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ และเป็นที่นิยมนับถือต่อเนื่องกันมาทุกยุคทุกสมัย โดยปรากฏรูปเคารพทั้งในรูปมนุษย์และรูปสัญลักษณ์
เมืองกำแพงเพชรปรากฏเทวสถานศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียว คือ ศาลพระอิศวร ณ ที่แห่งนี้ได้พบเทวรูปพระอิศวร หล่อด้วยสำริด สูง ๒๑๐ เซนติเมตร รูปแบบของเทวรูปเป็นงานศิลปะอยุธยาที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมรแบบบายน รอบฐานมีจารึกระบุมหาศักราช ๑๔๓๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๐๕๓ อันเป็นปีที่เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชได้ประดิษฐานเทวรูปนี้ขึ้นมา เพื่อให้คุ้มครองมนุษย์และสัตว์ที่อาศัยอยู่ภายในเมืองกำแพงเพชร และยังกล่าวถึงการกระทำสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งซ่อมแซมวัดวาอาราม ขุดลอกคลองชักส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงที่เมืองบางพาน ทั้งนี้เพื่ออุทิศถวายพระมหากษัตริย์อยุธยา ๒ พระองค์ คือ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ผู้เสวยราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นพระองค์หนึ่ง ส่วนอีกพระองค์หนึ่งอาจหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนหน้านี้ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรืออาจหมายถึงพระอาทิตยวงศ์ที่ได้รับการสถาปนาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกในเวลาต่อมา ซึ่งภายหลังได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ถัดมา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หน่อพุทธางกูร
(จำนวนผู้เข้าชม 18052 ครั้ง)