(ตอนที่ 1)
“พิพิธภัณฑ์” ในความรับรู้ของคนทั่วไปอาจจะหมายถึง สถานที่หนึ่ง ๆ ซึ่งจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม แต่อย่างไรก็ตาม ในทางพิพิธภัณฑวิทยาที่ยอมรับกันในปัจจุบันแล้ว “พิพิธภัณฑ์” มีความหมายกว้างขวางมากกว่าสถานที่และการจัดแสดง แต่เทียบเท่าได้กับคำว่า“แหล่งเรียนรู้” เลยทีเดียว กล่าวคือ สภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ[1] (International Council of Museum) หรือICOMได้ให้คำจัดของคำว่า“พิพิธภัณฑ์”[2] ไว้ดังนี้
“พิพิธภัณฑ์ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เปิดเป็นสถานที่สาธารณะ และเป็นสถาบันถาวรที่ให้บริการแก่สังคมและมีส่วนในการพัฒนาสังคม มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดง วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการค้นคว้า การศึกษา และ ความเพลิดเพลินใจ”
คำจำกัดความข้างต้น ได้แจงหน้าที่หลัก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ไว้ 5 ประการ คือ 1. รวบรวม 2. สงวนรักษา 3. ค้นคว้าวิจัย 4. เผยแพร่ความรู้ และ 5. จัดแสดงวัตถุ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนทางด้านสถานภาพว่าองค์กร หรือสถาบันใด มีคุณสมบัติของ “พิพิธภัณฑ์”หรือไม่ ดังนั้น ICOM จึงได้อธิบายเงื่อนไข และจำแนก “สถาบัน” ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติของ “พิพิธภัณฑ์” ไว้อีก 8 ข้อ ดังนี้คือ
(ก) คำจำกัดความข้างต้นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้โดยปราศจากข้อจำกัดใด ๆ ที่เกิดจากรูปแบบของคณะบริหาร ลักษณะของพื้นที่ โครงสร้างหน้าที่ หรือวิธีการศึกษาสิ่งของสะสมของสถาบันนั้นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(ข) นอกจากสถาบันที่ถูกระบุว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์” แล้ว สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ จัดได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นพิพิธภัณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของคำนิยามนี้ ซึ่งได้แก่
I. แหล่งและอนุสรณ์สถานทางธรรมชาติ โบราณคดี และชาติพันธุ์วรรณา แหล่งและอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเก็บรวบรวม สงวนรักษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์
II. สถาบันที่รวบรวมและจัดแสดงตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตวศาสตร์ สถานที่แสดงสัตว์น้ำ และศูนย์ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์
III. ศูนย์วิทยาศาสตร์ และท้องฟ้าจำลอง
IV. หอศิลปที่จัดแสดงงานโดยไม่แสวงหาผลกำไร
V. สถานที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่สงวน
VI. องค์กรพิพิธภัณฑ์ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น กระทรวง หรือกรม หรือหน่วยงานเอกชนใดก็ตามทั้งที่มีส่วนในการรับผิดชอบพิพิธภัณฑ์ หรือมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดนี้
VII. สถาบัน หรือองค์กร ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา การฝึกอบรม การจัดทำเอกสารวิชาการ และกิจกรรมอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ และวิชาพิพิธภัณฑ์วิทยา
VIII. ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ การสืบสาน และการบริหารจัดการทรัพยากรอันเป็นมรดกที่จับต้องได้ และมรดกที่จับต้องไม่ได้ (มรดกที่มีชีวิต และกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดยเทคโนโลยีดิจิตอล)
IX. สถาบันใด ๆ อย่างเช่น สภาบริหาร ซึ่งหลังจากการร้องขอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการที่ปรึกษาแล้ว ได้รับการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติบางส่วนหรือทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์ หรือมีส่วนในการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ และบุคลากรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์เป็นอาชีพ ตลอดจนการสนับสนุนงานวิจัย การศึกษา หรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์
ความหมายตามรูปศัพท์ของ “มิวเซียม” และ “พิพิธภัณฑ์”
อันที่จริงคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ถ้าแปลตามรูปศัพท์แล้ว จะมีความหมายเพียง “สิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงสถานที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของแต่อย่างใด คำที่ถูกต้องตามความหมายนั้น ต้องเป็นคำว่า “พิพิธภัณฑ-สถาน” ซึ่งหมายถึง “สถานที่สำหรับสิ่งของนานาชนิด” และจากรูปศัพท์นี้ ถ้านำไปเปรียบเทียบกับ คำว่า “มิวเซียม” แล้ว จะเห็นว่า รูปศัพท์ทั้ง 2 นั้น มีความหมายไม่ตรงกัน
คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” แสดงออกแค่เพียงเป็นสถานที่เก็บของ ในขณะที่คำว่า “มิวเซียม” กลับมีความหมายว่าเป็นสถานที่สิงสถิตของคณะเทพธิดามูซา[3] (Musa) คณะเทพธิดามูซานี้ เป็นคณะแห่งสรรพวิชาด้านต่าง ๆ ดังนั้น คำว่า “มิวเซียม” จึงมีความหมายอยู่ในตัวเองว่า “หอแห่งสรรพวิชา” หรือ “แหล่งเรียนรู้”
ด้วยเหตุแห่งความต่างกันนี้ ก่อนจะกล่าวถึงพัฒนาด้านความหมายของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” จะขอกล่าวถึงความหมายของ“มิวเซียม” เสียก่อนเพื่อจะได้เข้าใจเกี่ยวกับความแตกแต่งทางด้านความหมายระหว่างคำว่า “มิวเซียม” กับ “พิพิธภัณฑ์” ดังนั้น ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกำหนดของ ICOM ที่จะนำเสนอให้เห็นพัฒนาการของความหมายนั้น จะขอใช้คำทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” เพื่อที่จะแยกสายพัฒนาการของความหมายให้ชัดเจนระหว่างโลกตะวันตกที่ใช้ “มิวเซียม” กับ ประเทศไทย ที่ใช้ “พิพิธภัณฑ์”
ความหมายตามรูปศัพท์ของ “มิวเซียม”
“มิวเซียม” เป็นคำยืมมาจากภาษาละติน ว่า “มูเซอุม”[4] มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า “มูเซออน” (Mouseion) ซึ่งหมายถึง“สถานที่สิงสถิตของหมู่เทพธิดามูซา” คณะเทวีนี้มีอยู่ด้วยกัน 9 องค์[5] ทั้งหมดล้วนเป็นพระธิดาของเทพเจ้าเซอุส ราชาแห่งเทพทั้งมวล กับเทวีเนโมซีเน เทวีแห่งความทรงเจ้า กล่าวกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นตัวแทนของดนตรี บทเพลง และ นาฏศิลป์ โดยมีอำนาจดลใจให้กวีสามารถแต่งกวีนิพนธ์ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงถือกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นผู้อุปถัมภ์เหล่านักปราชญ์และกวีให้สามารถแต่งตำราและบทประพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นมาได้ และเป็นเหล่าเทพแห่งสรรพวิชาด้วยเช่นกัน โดยในช่วงยุคคลาสสิกตอนปลาย ได้มีการจำแนกหน้าที่อุปถัมภ์ให้แก่เทพธิดาแต่ละองค์ แทนด้วยสรรพวิชาต่าง ๆ ดังนี้คือ
๑. คลีโอ (Cleo) เทพธิดาแห่งประวัติศาสตร์นิพนธ์
๒. ยูเตอร์เป (Euterpe) เทพธิดาแห่งกวีนิพนธ์และทำนองเสนาะ
๓. ธาเลีย (Thalia) เทพธิดาแห่งบทร้อยกรอง และสุขนาฏกรรม
๔. เมลโปเมเน (Melpomene) เทพธิดาแห่งโศกนาฏกรรม
๕. เติร์ปซิโคเร (Terpsichore) เทพธิดาแห่งการขับรำและฟ้อนรำ
๖. เอราโต (Erato) เทพธิดาแห่งกวีนิพนธ์เรื่องรักใคร่ และการล้อเลียนท่าทาง
๗. โปลิฮิมเนีย (Polyhymnia) เทพธิดาแห่งบทเพลงสรรเสริญอันศักดิ์สิทธิ์
๘. ยูราเนีย (Eurania) เทพธิดาแห่งดาราศาสตร์ หรือ งานนิพนธ์ด้านดาราศาสตร์
๙. คาลลิโอเป (Calliope) เทพธิดาแห่งบทประพันธ์ประเภทมหากาพย์
พัฒนาการทางด้านความหมายของ “มิวเซียม” ในโลกตะวันตก
“มูเซออน” ในสมัยกรีกโบราณเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติสมาธิ เป็นสถาบันด้านปรัชญา หรือ เป็นวิหารสำหรับคณะเทพธิดามูซา ต่อมาในสมัยโรมันเรืองอำนาจ “มิวเซียม” หมายถึงสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านปรัชญาซึ่งกันและกัน และคงความหมายในลักษณะนี้เรื่อยมาจนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) ซึ่งเป็นยุคเรเนสซองส์ ความหมายของ “มิวเซียม” จึงเริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยที่เมืองฟลอเรนส์ “มิวเซียม” จะหมายถึง “สถานที่ที่มีสิ่งสะสมต่างๆ” ซึ่งก็จะมีความแฝงว่าเป็นสถานที่แห่งความรู้ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23) เป็นต้นมา กลับเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไปในความหมายที่ว่า “สถานที่สำหรับเก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยาและประวัติศาสตร์”[6] แนวความคิดเช่นนี้ ได้สืบต่อมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (กลางพุทธศตวรรษที่ 25) จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งสภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ หรือ ICOM จึงได้เริ่มสร้างนิยามของคำว่า“มิวเซียม” ขึ้นเพื่อให้เป็นที่เข้าใจตรงกันระหว่างประเทศสมาชิก และได้มีการปรับปรุงนิยามเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน
เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า “มิวเซียม” สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่าชาติ หรือ ICOM จึงได้ให้คำนิยามไว้ในเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ.1946)[7] ว่า
“คำว่า มิวเซียม มีความหมายรวมไปถึงงานเก็บสะสมทุกประเภทที่เปิดบริการแก่สาธารณะ ซึ่งได้แก่วัตถุทางศิลปะ งานช่าง วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี รวมไปถึงสวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ แต่ไม่รวมถึงห้องสมุด ยกเว้นเสียแต่ว่าห้องสมุดเหล่านั้น จะมีส่วนจัดแสดงถาวรอยู่ในความดูแล”
ในการประชุมครั้งต่อมา ได้มีการเพิ่มเติมคำนิยามข้างต้นนี้ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นกล่าวคือ ในปี พ.ศ.2499 (ค.ศ.1956) ได้นิยามว่า“มิวเซียม” คือสถานที่ใดก็ตามที่มีรูปแบบการบริหารที่มีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ การศึกษา และการส่งเสริม ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยวิธีการจัดแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ด้านสาระและความบันเทิง ที่จะได้รับจากวัตถุต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ได้แก่ สิ่งสะสมประเภทงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และยังรวมไปถึงสวนสัตวศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์ และสถานที่แสดงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุที่มีห้องจัดแสดงถาวรก็จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ด้วยเช่นกัน ต่อมาในปี พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) ได้มีการเพิ่มเติมอนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และสถานที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่สงวนเข้าไปด้วย เช่น อุทยาน หรือ วนอุทยาน
ปี พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) เริ่มระบุเป็นครั้งแรกว่า “มิวเซียม” คือองค์กรก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นครั้งแรกที่ระบุถึงหน้าที่ 5 ประการของ “มิวเซียม” คือ รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงวัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งเป็นคำนิยามที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมให้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และท้องจำลองเป็น “มิวเซียม” ได้ด้วยเช่นกัน
ปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) เป็นครั้งแรกที่เริ่มนิยามมิให้ “มิวเซียม” ผูกติดกันรูปแบบของการบริหาร ขอเพียงเป็นสถานที่ถาวรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และให้ความรู้ความบันเทิงแก่สาธารณะก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมศูนย์ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ และ หน่วยงานที่ทำงานด้านบริหารที่มีคุณสมบัติบางส่วนสอดคล้องกับนิยามที่ ICOM ตั้งไว้ หรือ มีส่วนในการสนับสนุนงาน”มิวเซียม”และบุคลากรของ “มิวเซียม” ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านการวิจัย การศึกษา และ การฝึกอบรม ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ได้เช่นกัน
ปี พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีก 2 ประเภทคือ หน่วยงานใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับ “มิวเซียม” และมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของ ICOM ก็จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” และ สถาบันหรือองค์กรใดก็ตาม ที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงผลกำไร และทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัย ให้การศึกษา จัดการฝึกอบรม จัดทำเอกสารวิชาการ และจัดกิจกรรมเกี่ยวข้องกับงาน “มิวเซียม”และ วิชา “มิวเซียมศึกษา” ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม”
คำนิยามล่าสุดที่ใช้ในขณะนี้ เป็นคำนิยามของปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีกประเภทหนึ่ง คือ ศูนย์วัฒนธรรม หรือ นิติบุคคลใด ที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ สืบสาน และ บริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นถ้าพิจารณาจากนิยามของ ICOM ในช่วงเวลากว่า 55 ปี (พ.ศ. 2489 – 2544) แล้วจะเห็นว่า ICOM พยายามที่จะนิยามคำว่า“มิวเซียม” ให้ครอบคลุมให้มากที่สุด ในชั้นแรกนั้น คงเน้นไปยังกลุ่มองค์กรที่สะสมวัตถุและจัดแสดงวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนั้นรวมไปถึงสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ด้วย ด้วยเหตุว่าเป็นสถานที่ “สะสม” พืชและสัตว์ (จากนิยามปี พ.ศ. 2489 และ 2499) อีก 5 ปี ต่อมาได้เพิ่มเติมหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจได้ โดยที่เนื้อหาของสถานที่เองก็จะให้ความรู้เรื่องของธรรมชาติวิทยาและโบราณคดี เช่น อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ (จากนิยามปี พ.ศ.2504) ต่อมาอีก 13 ปี คือปี พ.ศ.2517 คำนิยามเริ่มมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานของคำนิยามในการประชุมครั้งต่อ ๆ มาของ ICOM ในครั้งนี้ และได้นิยามเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดแสดงนั้นว่า “วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำนิยามที่กว้างและครอบคลุมวัตถุหรือหลักฐานทุกประเภทที่จัดแสดงอยู่ใน “มิวเซียม” นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตรวมเอาอนุสรณ์สถานที่มีเนื้อหาในเชิงชาติพันธุ์วรรณา และองค์กรต่างๆ ที่จัดแสดงให้ความรู้เรื่องราวที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น (จากนิยามปี พ.ศ. 2517) จากนั้นต่อมาอีก 15 ปี คือ เริ่มต้นแต่ ปี พ.ศ. 2532 - 2544 ดูเหมือนว่า ICOM จะขยายขอบเขตคำนิยามออกไปอีก โดยในช่วงเวลานี้ มีการประชุมกัน 3 ครั้ง คือ พ.ศ. 2532, 2538 และ 2544 ทั้ง 3 ครั้งนี้ มีการพูดถึงองค์กรที่มีอำนาจบริหาร องค์กร หรือสถาบันที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่หวังผลกำไร หน่วยงานทั้งของภาครัฐ และ เอกชน ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลใดก็ตาม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน การค้นคว้าวิจัย การอนุรักษ์ และการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม และมีคุณสมบัติบางประการ หรือทั้งหมดตามข้อกำหนดของ ICOM ก็ถือได้ว่า องค์กรเหล่านี้ เป็น ”มิวเซียม” ทั้งสิ้น
ดังนั้น ความหมายตามรูปคำของ “มิวเซียม” จึงอาจพิจารณาตามแต่ยุคสมัยได้ว่า ในสมัยอาณาจักรอิยิปต์โบราณยุคราชวงศ์ปโตเลมีตอนต้นนั้น การตั้ง “หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย” (Museum of Alexandria) น่าจะหมายถึง “สถานที่เก็บรวบรวมองค์ความรู้และสรรพวิชาต่าง ๆ” ซึ่งโดยมากแล้วสิ่งของสะสมนั้นมาจากรูปแบบของหนังสือ ดังนั้นในบางครั้งก็จะเรียกว่าหอสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรียก็มี แต่สำหรับในยุคปัจจุบันนั้น ความหมายของ “มิวเซียม” ได้ขยายความออกไปเป็นอย่างมาก โดยการนิยามของ ICOM กล่าวคือ จากกรอบแนวคิดที่ว่า “มิวเซียม” เป็น “แหล่งเรียนรู้ที่ได้รับความเพลิดเพลินจากการศึกษาของสะสม” พัฒนามาจนเป็น “แหล่งเรียนรู้และองค์กรที่สนับสนุนการเรียนรู้ ที่มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้า เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงเรื่องราวอันเป็นเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่ทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้และความเพลิดเพลินใจ” จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในอนาคต ICOM จะมีการเพิ่มเติมนิยามนี้อีกหรือไม่
แรกใช้คำว่า “มิวเซียม” ในความหมายของ “หอสรรพวิชา”
คำว่า “มิวเซียม” ได้ถูกนำมาใช้เรียกสถานที่เก็บสะสมหนังสือและสิ่งของต่าง ๆ ครั้งแรกที่เมืองอเล็กซานเดรียของอาณาจักรอิยิปต์โบราณ เมื่อราว ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยพระเจ้าปโตเลมีที่ ๒ โซเตอร์ ได้ทรงสร้าง “หอสรรพวิชา”[8] แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (Museum of Alexandria) เพื่อเก็บงานวรรณกรรมในสมัยไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น อีกนัยหนึ่งหอสรรพวิชาในที่นี้ก็ทำหน้าที่เป็นหอสมุดด้วยเช่นกัน
แนวความคิดสะสมหนังสือนี้ เกิดขึ้นมาจากพระราชดำริของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๑ ด้วยความปรารถนาที่จะรวบรวมงานวรรณกรรมของโลกไว้ในเดียวกันคือ ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๒ โซเตอร์ จึงทรงสร้างสถานที่เก็บหนังสือที่พระเจ้าปโตเลมีที่ ๑ ทรงสะสมไว้ โดยเรียกสถานที่นั้นว่า “หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย” จนถึงในรัชสมัยของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๓ เล่ากันว่าพระองค์มีวิธีการสะสมหนังสือคือ การยืมมาแล้วคัดลอก โดยทรงส่งพระราชสาสน์ไปยังพระราชาแห่งเมืองต่าง ๆ เพื่อขอยืมหนังสือมาคัดลอก เมืองเอเธนส์เป็นเมืองแรกที่ส่งเอกสารมาให้ ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะถูกคัดลอกโดยเจ้าหน้าที่ของหอสมุดและหอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย เมื่อคัดลอกแล้วเสร็จ หอสมุดและหอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรียจะเก็บต้นฉบับไว้ที่หอสมุด และจะส่งสำเนาที่คัดลอกขึ้นมาใหม่กลับคืนไปให้กับเมืองเอเธนส์ เล่ากันว่า เนื่องจากเมืองอเล็กซานเดรีย เป็นเมืองท่าสำคัญของอาณาจักรอิยิปต์โบราณ ดังนั้นจึงมีเรือมาจากทั่วทุกสารทิศ เรือเหล่านี้ ก็ไม่เว้นที่จะถูกสำรวจว่ามีหนังสือหรือบันทึกอะไรที่น่าสนใจพอที่จะคัดลอกเก็บไว้บ้างหรือไม่ และด้วยเหตุที่เป็นสถานที่สะสมหนังสือมากมายหลากหลายสาขาวิชาที่ได้มาจากเมืองต่าง ๆ นี้เอง จึงทำให้เมืองอเล็กซานเดรีย เป็นที่กล่าวขวัญกันว่าเป็นเมืองแห่งวิทยาการ หอสรรพวิชาจึงเป็นที่พบประสังสรรค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเหล่านักปราชญ์และนักเรียน[9] ด้วยเหตุนี้ หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย จึงได้กลายเป็นสถาบันทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกยุคโบราณ
ความเข้าใจคำว่า “มิวเซียม” ในโลกตะวันออก
ด้วยเหตุที่คำว่า “หอสรรพวิชา” หรือ “มิวเซียม” ของกรีก-โรมัน มีใช้กันมานานแล้วในโลกตะวันตก ในความหมายที่เน้นไปยังเรื่องของสถานที่อันเป็นที่สถิตแห่งความรู้ และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนกันระหว่างนักปราชญ์กับลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาปรัชญา คำว่า “หอสรรพวิชา” หรือ “มิวเซียม” จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในการเรียกชื่อสถานที่อันทำหน้าที่เสมือนคลังแห่งความรู้ ที่ถ่ายทอดโดยการเก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยาตั้งแต่ยุคเรเนสซองส์เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “มิวเซียม” จะถูกจำกัดให้หมายถึง “สถานที่จัดเก็บและแสดงสิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น และความคิดเช่นนี้เองได้ส่งผ่านมายังมายังประเทศต่าง ๆ ทางโลกตะวันออก โดยพิจารณาได้จากความหมายของคำว่า “มิวเซียม” ที่ได้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ โดยที่คำที่ผูกขึ้นมาใหม่นี้ ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงกรอบความคิดที่ว่า “มิวเซียม” คือ “สถานที่จัดเก็บและจัดแสดงสิ่งของนานาชนิด”ตัวอย่างเช่น ภาษาจีนกลางบัญญัติว่า “โป๋อู้ก่วน”[10] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันมีสิ่งของมากมาย” ภาษาฮินดีบัญญัติว่า “วัสตุสังครหาลัย”[11] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันเป็นที่เก็บรักษาวัตถุต่าง ๆ” หรือในภาษาเวียดนามบัญญัติว่า “เวียนบ๋าวตั่ง”[12] ตามรูปศัพท์แปลว่า“เรือนอันเป็นที่เก็บรักษา” หรือในภาษาไทยบัญญัติว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันมีสิ่งของมากมาย” จะเห็นได้ว่าชื่อเหล่านี้อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “มิวเซียม” หมายถึง สถานที่เก็บหรือรวบรวมวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ทั้งสิ้น ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาพม่าบัญญัติว่า “เปี๊ยะไต๊”[13] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนสำหรับจัดแสดง” หรือ ภาษามอญบัญญัติว่า “ตั๊กปละ”[14] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนสำหรับจัดแสดง” เช่นกัน ก็ยังคงให้ความรู้สึกว่าเป็นสถานที่สำหรับ “จัดแสดงสิ่งของ” แต่อย่างไรก็ตาม ในภาษาเขมรได้บัญญัติคำว่า “มิวเซียม” ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “สารมณเฑียร”[15] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับความหมายดั้งเดิมของ “มิวเซียม” มากที่สุด
ความหมายตามรูปศัพท์ของ “พิพิธภัณฑ์”
ถ้าพิจารณาถึงความหมายตามรูปศัพท์แล้ว “พิพิธภัณฑ์” มิได้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “มิวเซียม” แต่ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า “มิวเซียม” คือ “พิพิธภัณฑ์” และ “พิพิธภัณฑ์” คือ “มิวเซียม” ประกอบกับนิยามของ ICOM จึงทำให้กรอบแนวคิดในการนิยามความหมายให้กับคำว่า “พิพิธภัณฑ์” เปลี่ยนแปลงไปจากยุคแรก ๆ ที่เริ่มปรากฏคำนี้เป็นอย่างมาก
“พิพิธภัณฑ์” ตามรูปศัพท์แปลว่า “สิ่งของนานาชนิด” คำนี้เป็นการสมาสกันระหว่างคำว่า “พิพิธ” ซึ่งแปลว่า นานาชนิด กับคำว่า“ภัณฑ์” ซึ่งแปลว่าสิ่งของ รากศัพท์ของ ”พิพิธภัณฑ์” มาจากภาษาบาลีคือ คำว่า “วิวิธ” กับคำว่า “ภณฺฑ” รวมกันเป็น “วิวิธภณฺฑ” แปลว่า สิ่งของนานาชนิด อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นราว 140 ปีเท่านั้น จากพจนานุกรมไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่ชื่อ “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท – Dictionarium Linguae Thai” แต่งโดยชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว เมื่อปี พ.ศ. 2397ไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่อย่างใด จะมีก็เพียงคำว่า “พิพิธ” ซึ่งหมายถึง สิ่งต่าง ๆ มากมาย[16]
“วัดโพธิ์” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นแรกแห่งกรุงสยาม
(ราว พ.ศ. 2337 – 2400)
ถึงแม้จะยังไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในช่วงก่อน พ.ศ.2400 แต่สิ่งก่อสร้างที่ทำหน้าเสมือน “มิวเซียม” ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ตั้งแต่ที่ยังไม่มีคนไทยรู้จักคำว่า “มิวเซียม” และ “พิพิธภัณฑ์” กล่าวคือ ถ้า “มิวเซียม” ในรูปแบบที่ง่ายที่สุดคือ สถานที่สะสมสิ่งของ จัดแสดงสิ่งของ ให้ความรู้ และความเพลิดเพลินใจแล้ว “มิวเซียม” แห่งแรกของประเทศไทยเท่าที่ยังมีหลักฐานเหลืออยู่คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” แม้ว่า “วัดโพธิ์” จะเป็นที่กล่าวถึงกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย[17] หรือเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย[18] แต่อันที่จริงถ้าพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของวัดโพธิ์แล้ว ดูเหมือนว่าจะเข้าได้ดีกับคำว่า “มิวเซียม” หรือ “พิพิธภัณฑสถาน” ได้ด้วยเช่นกัน
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2332 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการบูรณะวัดโพธิ์ (สมัยนั้นเรียกวัดโพธาราม) เนื่องจากยามนั้น วัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือได้รับผลกระทบจากสงครามทำให้วัดบางแห่งถูกทิ้งร้างไปบ้าง หรือไม่ก็ขาดการบำรุงรักษาบ้าง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2337จึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ อัญเชิญพระพุทธรูปสำริดกว่า 1,248 องค์ มาจากเมืองเหนือ เพื่อมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ ดังที่ปรากฏเรื่องราวอยู่ใน “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 1” ความว่า
“… แลในพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้น เชิญพระพุทธปติมากรอันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพังอยู่ ณะ เมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุกโขไท เมืองลพบุรี เมืองกรุงเก่า วัดศาลาสี่หน้าใหญ่น้อย พันสองร้อยสี่สิบแปด พระองค์ลงมา ให้ช่างหล่อต่อพระสอ พระเศียร พระหัตถ์ พระบาท แปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลาสี่หน้า น่าตักห้าศอก คืบสี่นิ้ว เชิญมาบุณะปติสงขรณเสรจ์แล้ว ประดิษถานเปน พระประธานในพระอุโบสถ บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวปติมากร…”[19]
นอกจาก “การสะสม” พระพุทธรูปดังกล่าวแล้ว ที่วัดโพธิ์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตกแต่งบริเวณภายในวัดให้เกิด “ความรื่นรมย์” แก่ผู้มาเยือน โดยขุดสระน้ำ ปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ และ มีการเขียนเรื่องชาดก 550 ชาติ ตำรายา และฤๅษีดัดตน ไว้ตามศาลาต่าง ๆ ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ “ไว้เป็นทาน” แก่ผู้เข้ามาที่วัดโพธิ์[20] แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของ “การสะสม” ดังที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะให้คนในกรุงเทพฯ มาดูเพื่อชื่นชมความสวยงามของพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว แต่เป็น “การสะสม” เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กล่าวคือ พระพุทธรูปเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากความคิดที่สะสมความสวยงาม แต่เป็นความคิดที่สะสมสิ่งยึดเหนี่ยวจิตของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ในช่วงเวลาแห่งการสร้างชาติ ดังนั้น พระพุทธรูปเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นวัตถุที่จัดแสดงอยู่ที่วัดโพธิ์ แต่เนื่องจากเป็นพระพุทธรูป ดังนั้นจึงยังคงได้รับความเคารพกราบไหว้จากผู้ที่มาวัดโพธิ์อยู่เสมอมา เปรียบเสมือนพระพุทธรูปเหล่านั้นยังคงทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชนอยู่นั่นเอง ซึ่งแตกต่างพระพุทธรูปต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันนี้ ที่ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ โดยได้รับการปฏิบัติเหมือน “วัตถุจัดแสดงชนิดหนึ่ง” แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจเป็นเพราะวัตถุประสงค์ในเรื่องความปลอดภัยของตัวโบราณวัตถุเองก็เป็นได้
คำที่น่าสนใจในจารึกดังกล่าวคือ คำว่า “ไว้เป็นทาน” ซึ่งแสดงว่า รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้วัดแห่งนี้ เป็นสถานที่สำหรับประชาชนได้มีโอกาสเข้ามากราบนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ของประเทศไทยกว่า 1,248 องค์ และได้เข้ามาแสวงหาความรู้ทางด้านวรรณกรรมทางพุทธศาสนาและวรรณกรรมสมัยนิยม โดยผ่านทางโคลงกลอน และภาพจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ คือจากนิทานชาดกและรามเกียรติ์ และยังสามารถเข้ามาศึกษาวิชาแพทย์แผ่นโบราณได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับความรื่นรมย์และความเพลิดเพลินใจ เมื่อเดินชมพรรณไม้และสระน้ำที่สร้างไว้ภายในวัดโพธิ์ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ วัดโพธิ์ จึงสมควรที่จะถูกขนานนามว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของกรุงสยาม”
ถึงแม้จะพ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มาแล้วก็ตาม แต่การทำหน้าที่สะสมความรู้ของวัดโพธิ์นั้น ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ โดยมีพระราชประสงค์คือ ทรงต้องการให้วัดโพธิ์เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน ไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการมีการรวบรวมและเลือกสรรตำรับตำราต่าง ๆ มาชำระแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้บนแผ่นศิลา แล้วนำไปประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ[21] โดยมีเนื้อหาวิชาการต่าง ๆ ที่จำแนกได้พอสังเขปเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้คือ ตำรายา ตำราฉันท์-กลอน-กลบท ประวัติวัดพระเชตุพน สุภาษิต ศาสนา การปกครองอาณาจักรและศาสนจักร วรรณคดี อนามัย เบ็ดเตล็ด และประเพณี[22] หรือ ถ้าจะจำแนกตามหลักวิชาบรรณารักษศาสตร์ระบบดิวอี้แล้ว ก็อาจจำแนกได้เป็น หมวดปรัชญา หมวดพุทธศาสนา หมวดสังคมศาสตร์ หมวดมานุษยวิทยา หมวดสัตววิทยา หมวดการแพทย์ หมวดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม และ หมวดวรรณกรรม[23] ดังนั้น ถ้าอาศัยนิยามของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในปัจจุบันแล้ว วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์ ถือได้ว่า เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของกรุงสยาม” ถึงแม้ว่าในสมัยนั้น ยังไม่มีคำว่า “มิวเซียม” หรือ“พิพิธภัณฑ์" ใช้กันก็ตาม และที่สำคัญคือ วัดโพธิ์เปิดเป็นที่สาธารณะ ซึ่งจะต่างจาก “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ที่เป็น “พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
“พระที่นั่งราชฤดี” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 2 แห่งกรุงสยาม
(ราว พ.ศ. 23?? – 2400)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเสด็จประทับเป็นที่รโหฐาน และจัดตั้งสิ่งของต่างๆ ขึ้นที่ริมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางด้านตะวันออก ชื่อว่า “พระที่นั่งราชฤดี”[24] จึงกล่าวได้ว่า พระที่นั่งราชฤดีนี้คือ “พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 2 แห่งกรุงสยาม”
เมื่อเซอร์จอห์น เบาริง อัครราชฑูตอังกฤษเดินทางมาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี เมื่อ พ.ศ.2398 รัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ที่พระที่นั่งราชฤดีแห่งนี้[25] หลังจากที่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งราชฤดีแล้ว จึงได้บันทึกสิ่งที่ได้เห็นในพระที่นั่งว่า
“… มีเครื่องประดับทุกชนิด หลายชนิดเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นต้นว่า นอแรดรูปร่างแปลกประหลาด และงาช้าง ประติมากรรมหลายชิ้นจากทวีปยุโรป แจกัน กระเบื้องถ้วยจากประเทศจีน เครื่องทรงสมัยโบราณของพระมหากษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว งาช้างและไม้จำหลักอย่างงดงาม เครื่องประดับทองและเงินพร้อมเครื่องเพชรนิลจินดาเป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปหลายองค์ และองค์หนึ่งก็เป็นทองแท้ทั้งองค์ …”[26]
[1] สภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ หรือ ICOM เป็นสถาบันที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ ได้สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489
[2] ICOM, “ICOM Statutes, amended by the 20th General Assembly of ICOM, Barcelona, Spain, 6 July 2001”, in Development of the Museum Definition according to ICOM Statutes (1946 – 2001), Electronic Document, [http://icom.museum/hist_def_eng.html] [Accessed: March 22, 2004].
[3] Musa (มูซา) เขียนตามภาษาละติน ถ้าภาษาอังกฤษจะเขียนว่า Muse (มิวซ์) ซึ่งเป็นรูปเอกพจน์ ถ้าเป็นรูปพหูพจน์ คือกล่าวถึงทั้งคณะ ภาษาละตินจะเป็น Musae (มูซาย) ภาษาอังกฤษจะเป็น Muses (มิวเซส)
[4] มูเซอุม (MUSEUM) เป็นภาษาละติน เป็นคำนาม ตามไวยากรณ์แล้วเป็นนามเพศกลาง หรือ นปุงสกลิงค์ (neuter) โดยมี – um เป็นเสียงลงท้าย หมายถึงสถานที่ เนื่องจาก มูซา Musa เป็นนามเพศหญิงเอกพจน์ หมายถึง เทพธิดามูซาหนึ่งองค์ คำว่า มูซาย (Musae) เป็นนามเพศหญิงพหูพจน์ หมายถึง เทพธิดามูซาหลายพระองค์ ในการแปลเป็นภาษาไทยเป็น หมู่เทพธิดามูซา จึงใช้รูปเอกพจน์เพราะมีคำว่า “หมู่” อยู่แล้ว คำว่า มูเซอุมนี้ เป็นรากศัพท์ของคำว่า มิวเซียม ที่ให้แก่ภาษาหลักต่างๆ ของยุโรป เช่น museum (อังกฤษ), Museum (เยอรมัน), musée (ฝรั่งเศส), museo (อิตาลี), museo (สเปน), museu (โปรตุเกส) เป็นต้น
[5] Aaron Atsma, “Greek Mythology: MOUSAI Goddesses of Music & Song & Dance & Poetry”, Electronic Document, [http://www.theoi.com/Kronos/Mousai.html], [accessed: March 23, 2004].
[6] Geoffrey Lewis, “Museums and their precursors: a brief world survey”, in Manual of Curatorship: A guide to Museum Practice, 2nd ed., (Oxford: Butterworth-Heinemann Ltd., 1992), p. 5.
[7] ICOM, Development of the Museum Definition according to ICOM Statues (1946 – 2001), [http://icom.museum/his_def_eng.html], [accessed: March 24, 2004].
[8] เฉพาะตอนนี้ จะขอแปลคำว่า Museum เป็น “หอสรรพวิชา” เพื่อให้ตรงกับความหมายตามรูปศัพท์ และเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจที่ว่า Museum หมายถึงสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุเพียงอย่างเท่านั้น
[9] Luciano Canfora, The Vanished Library. Trans. Martin Ryle, (Berkely: University of California Press, 1989), p.17, 29 – 30.
[10] บุญชัย ฉัตตะวานิช, พจนานุกรม ไทย-อังกฤษ-จีน, (กรุงเทพฯ: บริษัทนานมี จำกัด, 2529), หน้า 376.
[11] Abhijeet A. Bhandwale, FREELANG Dictionary: Hindi-English / English-Hindi (v.3.52), Program Computer,[http://www.freelang.net/dictionary/hindi.html], [uploaded: April 27, 2002].
[12] เหงียน จิ ธง, พจนานุกรมไทย-เวียดนาม, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544), หน้า 779.
[13] อรนุช นิยมธรรม, วิรัช นิยมธรรม, พจนานุกรมพม่า-ไทย และ ไทย-พม่า, (กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท, 2537), หน้า 626.
[14] Nai Tun Way, The Modern English-Mon Dictionary, (Bangkok: the Open Society Institute Burma Project, 1977), p. 266.
[15] Franklin E. Huffman, Im Proum. English-Khmer Dictionary, (Massachusetts: Yale University, 1978), p. 378.
[16] ชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว, สัพะ พะจะนะ พาสา ไท sive Dictionarium Linguae Thai, (กรุงเทพฯ: สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2542),หน้า 558.
[17] ประทีป ชุมพล, “วัดพระเชตุพน กับการศึกษาด้านจารึก”, ใน วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับพิเศษ กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, ปีที่ 4 – 5 ธันวาคม 2523 –ธันวาคม 2525: 113. [อ้างจาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “คำนำประชุมจารึกวัดพระเชตุพน”, ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพรรฒธนากร), 2574.]
[18] รำภี กุลสมบูรณ์, วัดพระเชตุพนฯ ห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2508), หน้า 19 – 23.
[19] “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 1”, ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, (กรุงเทพฯ: คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน จัดพิมพ์เปนที่ระลึกสมโภชหิรัญบัฏ และฉลองอายุวัฒนมงคล 85 ปี พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ. 4 เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน 26 – 27 พฤษภาคม 2544), หน้า 52.
[20] “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 1”, เรื่องเดิม, หน้าเดิม.
[21] ประทีป ชุมพล, เรื่องเดิม, หน้าเดิม.
[22] ประทีป ชุมพล, เรื่องเดิม, หน้า 121.
[23] รำภี กุลสมบูรณ์, เรื่องเดิม, หน้า 34 – 46.
[24] พระที่นั่งราชฤดี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงถูกรื้อปลูกใหม่ แก้เป็นเก๋งจีน ต่อมาชำรุดอีก จึงโปรดฯ ให้รื้อทั้งหมด ที่ตั้งของพระที่นั่งราชฤดีนี้ ปัจจุบันตรงกับที่ตั้งพระที่นั่งจันทรทิพโยภาศ
[25] ราชบัณฑิตยสภา, อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณแลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร, (พระนคร: ราชบัณฑิตยสภา, 2469),หน้า 1.
[26] เอ บี กริสโวลด์, “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”, ใน หนังสือที่ระลึกถึงรอบ 100 ปี แห่งวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และวันเสวยราชย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, จาก King Mongkut of Siam, (กรุงเทพฯ: ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2511), หน้า 68 - 69.]
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูลและคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ระยะที่ 1 สร้างเครือข่ายและสำรวจสภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2547.
(ตอนที่ 2)
“พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 3 แห่งกรุงสยาม
(พ.ศ.2400 – 2417)
ในปี พ.ศ.2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริให้สร้างราชมณเฑียรขึ้นใหม่หมู่หนึ่ง โดยพระราชทานนามเรียกรวมทั้งหมดว่า “พระอภิเนานิเวศน์”[1] ใช้เวลาสร้าง 5 ปี จึงได้เสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อปี พ.ศ.2400 ภายในราชมณเฑียรแห่งนี้ ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งและสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีนามต่างกันจำนวน 11 แห่ง[2] หนึ่งในนั้นเป็นพระที่นั่งมีพระนามว่า“พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นพระที่นั่งสำหรับไว้สิ่งของต่าง ๆ สำหรับทอดพระเนตรส่วนพระองค์ ตั้งอยู่ทางด้านใต้พระที่นั่งอนันตสมาคม เหตุที่ทรงตั้งพระที่นั่งหลังนี้ขึ้นมาเนื่องจาก พระที่นั่งราชฤดีชำรุด และเริ่มคับแคบ จึงโปรดที่จะสร้างพระที่นั่งที่ใหญ่กว่าพระที่นั่งราชฤดี เพื่อไว้สำหรับจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่นานาประเทศนำมาถวายดังปรากฏใน “ประกาศเทวดาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร”ดังนี้คือ
“ … อนึ่งในแผ่นดินปัจจุบันนี้ได้มีทางพระราชไมตรีด้วยพระมหานครใหญ่ ๆ ในแผ่นดินยุโรปแลทวีปอเมริกา … มีสิ่งของเครื่องราชบรรณาการมาถวายเจริญทางพระราชไมตรีล้วน ๆ ดี หลายอย่างต่าง ๆ ของจำพวกนี้จะทรงพระราชศรัทธาถวายบูชาพระรัตนตรัยในพระอารามหลวงเสียก็หาควรไม่ เพราะทูตที่มาแต่เมืองเจ้าของเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้น ก็เข้ามาเนือง ๆ แล้วถามว่าเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นยังคงเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงทางพระราชไมตรีสืบไปฤา ครั้งเมื่อจะจัดประดับประดาในพระที่นั่งสร้างอย่างสยามตามอย่างช่างโบราณ ก็จะดูพานขัดพระเนตร เป็นที่ยิ้มเย้ยของแขกเมืองที่มาแต่ประเทศยุโรปจะพึงว่าได้ ว่าของสำหรับใช้อย่างอื่น เอามาใช้อย่างอื่นไป เพราะฉะนั้น จึงโปรดให้ช่างสร้างพระอภิเนาวนิเวศน์ โดยแบบอย่างท่วงทีละม้ายคล้ายกับราชนิเวศน์ ซึ่งมีในมหานครข้างโยรปิยปถพี[3] เพื่อจะต้องท่วงทีกับสิ่งเครื่องประดับประดาที่ได้มาแต่โยรปิยมหานครต่าง ๆ ไว้สำหรับรับแขกเมือง และระลึกถึงทางพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในโยรปิยปถพี เพราะทอดพระเนตรเห็นของราชบรรณาการพิเศษที่กล่าวมานี้อยู่เนื่อง ๆ นั้น …”[4]
ดังนั้น เมื่อพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จ จึงโปรดฯ ให้ย้ายวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่เคยจัดแสดงอยู่ที่พระที่นั่งราชฤดีมาจัดแสดงที่นี่ทั้งหมด
จากเรื่องราวข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” เกิดขึ้นราว พ.ศ.2400 อันเป็นปีเฉลิมพระราชมณเฑียรพระอภิเนาวนิเวศน์ จากชื่อ “ประพาสพิพิธภัณฑ์” จึงทำให้พิจารณาได้ว่า คำว่า “พิพิธภัณฑ์” นั้น ยังไม่ได้ถูกใช้โดยลำพัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งขึ้นประกอบกับคำอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “ประพาส” เพื่อตั้งเป็นชื่อพระที่นั่งหลังหนึ่งในพระอภิเนานิเวศน์ โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระที่นั่งที่ทำหน้าที่เหมือนกันกับ “มิวเซียม” ตามแนวคิดของโลกตะวันตกในสมัยนั้น กล่าวคือ ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระที่นั่งสำหรับ “เก็บสะสมสิ่งของนานาชนิดไว้เพื่อเที่ยวชมเป็นการส่วนพระองค์ หรือ พาแขกบ้านแขกเมืองมาเที่ยวชม” ดังนั้น จึงผูกนามของพระที่นั่งหลังนั้นว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” คำว่า ประพาส เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า เที่ยว ดังนั้น พระที่นั่งองค์นี้จึงมีความหมายว่า “พระที่นั่งสำหรับเที่ยวชมสิ่งของนานาชนิด” นี่คือวัตถุประสงค์แรกที่รัชกาลที่ 4 ทรงผูกศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นมาใช้ คู่กับคำว่า“ประพาส” จึงกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” เมื่อปี พ.ศ.2400 หมายถึง “สิ่งของนานาชนิด” ซึ่งเป็นไปตามรูปศัพท์เดิม ผูกขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ของพระที่นั่ง ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เท่านั้น ยังไม่ใช่นามที่ใช้เรียกชื่ออาคารหรือสถานที่แต่อย่างใด
พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” รุ่นที่ 3 ของประเทศไทย และได้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองดังเช่นที่พระที่นั่งราชฤดีได้เคยปฏิบัติมา ตัวอย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2505 ราชฑูตปรัสเซีย (เยอรมนี) ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ณ พระอภิเนาวนิเวศน์และได้บันทึกสิ่งทีได้พบเห็นไว้ว่า
“ … จากท้องพระโรง ทูตและคณะได้รับเชิญให้ไปยังพระที่นั่งในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างตามแบบยุโรป ทางปีกด้านข้างตึกมีป้าย Royal Museum และมีข้อความว่า Protect This Museum และ Respect This Ordinance บันไดซึ่งนำสู่พระที่นั่งนั้นกว้าง และมีสองระดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงต้อนรับแขกตรงประตู แล้วทรงนำไปยังห้องกว้างตกแต่งสวยงาม … พื้นห้องปูพรมสีแดง ฝาผนังและเพดานประดับไม้ บนโต๊ะ และตู้รอบ ๆ มีหุ่นจำลองภาพท้องฟ้า และดาวนพเคราะห์ พร้อมทั้งเครื่องมือฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และลูกโลกตั้งอยู่ …”[5]
จากการกล่าวถึงป้ายชื่อ “Royal Museum” ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ในสมัยนั้น อาจเรียกพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์เป็นภาษไทยว่า“มิวเซียมหลวง” หรือ “มูเสียมหลวง” ด้วยอีกชื่อหนึ่ง และคงเรียกกันติดปากเรื่อยมาจึงถึงช่วง พ.ศ. 2430 – 2440 ดังที่ในประกาศโฆษณา“มิวเซียม” ปี พ.ศ. 2436 ซึ่งแปล “Royal Museum” ว่า “มูเสียมหลวง”[6]
ถึงแม้ว่าจะเกิดศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นมาใช้แล้วก็ตาม แต่คำนี้ก็คงยังไม่ได้ถูกใช้เรียกอาคารหรือสถานที่ที่มีการเก็บสะสมวัตถุแห่งอื่น ๆ แต่อย่างใด และอาจคงบทบาทที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชื่อพระที่นั่งเท่านั้นเป็นเวลากว่า 20 ปี ทีเดียว และอาจมีการเรียกพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์นี้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “มิวเซียมหลวง” หรือ “มูเสียมหลวง” ดังที่กล่าวมาแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานว่ามีการเรียกอาคารในลักษณะนี้ว่า “พิพิธภัณฑ์” แม้แต่ในพจนานุกรมภาษาไทยที่ชื่อว่า “หนังสืออักขราภิธานศรับท์” แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2416โดย ดร.แดนบีช แบรดเลย์ หรือที่รู้จักกันว่าหมอบรัดเลย์ ก็ไม่พบคำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่อย่างใด มีแต่คำว่า “พิพิทธ์โพไคย” ซึ่งแปลว่า เป็นเจ้าของโภคสมบัติมีประการต่างๆ[7]
“หอมิวเซียม” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 4 แห่งกรุงสยาม
(พ.ศ. 2417 – 2430)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในคราวแรกตั้งศาลาสหทัยสมาคม ให้เป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ แก่ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมในปี พ.ศ.2517 ก็ไม่ได้ใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปว่า “มิวเซียม”[8] โดยอยู่ในความดูแลของกรมทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดย “มิวเซียม” แห่งนี้ เปิดทำการเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2417[9] การเรียก“มิวเซียม” ในระยะนั้น มีการเพิ่มคำไทยเข้าไปด้วยเป็น “หอมิวเซียม” ดังมีหลักฐานอยู่ใน “ประกาศเรื่องให้เอาของต่าง ๆ มาตั้งหอมิวเซียม”เมื่อปี พ.ศ. 2419[10]
“มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 5 แห่งกรุงสยาม
(พ.ศ. 2430 – 2469)
ต่อมาในปี พ.ศ.2430 เมื่อพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคต พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า จึงว่างลง และด้วยเหตุที่มีประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรมงคล และตั้งตำแหน่ง “สยามบรมราชกุมาร” ขึ้นแทน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” ไปตั้งที่พระราชวังบวรสถานมงคลแทน โดยใช้พระที่นั่งส่วนหน้า 3หลัง เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย[11] เรียกกันว่า “โรงมูเสียม”หรือ “มูเสียมของหลวงที่วังหน้า”[12]
แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างปี พ.ศ.2530 – 2531 เอกสารราชการที่เกี่ยวกับงานบริหาร “มิวเซียม” นั้น เริ่มที่จะปรากฏคำว่า“พิพิธภัณฑ์” ขึ้นบ้างแล้ว เช่น ในเอกสารเก่าที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฐานะของ “มูเสียม” โดยมีพระองค์เจ้าไชยานุชิต ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี และมีนายจีน เป็นกุเรเตอร์ที่ 1 หม่อมราชวงศ์อ้วน เป็นกุเรเตอร์ที่ 2 ชิน อยู่ดี ผู้ศึกษาเอกสารดังกล่าวสันนิษฐานว่า สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่แสดงว่า “มูเสียม” ได้ยกฐานะเป็น “กรมพิพิธภัณฑ์” แล้วในช่วงปีนี้เอง ต่อมาใน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2532 กรมพิพิธภัณฑ์ได้เปลี่ยนมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการ[13] ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 กรมพิพิธภัณฑ์ได้ขึ้นกับกระทรวงธรรมการ[14]
ถึงแม้ว่าคำว่า “พิพิธภัณฑ์” จะเริ่มปรากฏว่าเป็นชื่อของหน่วยงานราชการแล้ว แต่การใช้คำนี้ของประชาชนโดยทั่วไปคงยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก โดยทราบได้จาก ในปี พ.ศ. 2434 กรมตำรา กระทรวงธรรมการ ได้ตีพิมพ์ปทานุกรมขึ้น ซึ่งจะขอเรียกว่า “ปทานุกรม ฉบับกรมตำรา ปี 2534” ก็ยังไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” รวมอยู่แต่อย่างใด มีแต่ให้ความหมายแยกกันระหว่างคำว่า “พิพิธ” กับ “ภัณฑ์” ดังนี้คือ พิพิธ อธิบายไว้ว่า เป็นคำวิเศษณ์ มีรากศัพท์มาจากภาษามคธ และสันสกฤต แปลว่า หลายอย่าง ต่างอย่าง ต่าง ๆ กัน และ “ภัณฑ์”อธิบายไว้ว่า เป็นนามมีรากศัพท์มาจากภาษามคธ (สันสกฤตว่า ภาณฺฑ) แปลว่า สิ่งของ เครื่องใช้[15] หรืออย่างประกาศโฆษณา“พิพิธภัณฑ์” เอง ก็ยังคงใช้คำว่า “มูเสียม” ดังปรากฏในประกาศโฆษณา “มูเสียมของหลวงที่วังหน้า” หรือ “โรงมูเสียม” หรือ “มูเสียมหลวง”[16] ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2436 ความว่า
ประกาศ
ด้วยมูเสียมของหลวงที้วังน่า ปรากฏให้ราษฎรรู้ทั่วกันว่า ตั้งแต่นี้ไป จะเปิดโรงมูเสียมนั้น ในวันพุฒแลวันเสาร ฤๅวันพระ ตั้งแต่เวลา ๑๐ โมงเช้าจนถึง ๔ โมงเย็น
โดยคำสั่ง
เจ้าพระยาภาศกรวงษี เสนาบดีเจ้า กระทรวงโรงเรียน
พระนายสรีสรรักษ เปนผู้บัญชาดูแลมูเสียมหลวง
NOTICE
The Royal Museum at Wang Na will in future be opened to the public on Wednesdays and Saturdays from 10 to 4 P.M. excepting on those days which shall fall on the Siamese Sundays, or Wan Phras.
By Order
Chow Phya Bhaskarawongse,
Minister of Public Instruction
PHRA NAI SEE SARARACKS,
Director of the Royal Museum, Bangkok
5th May, 1893
จากข้อมูลข้างต้นอาจสรุปได้ว่า ราวปี พ.ศ.2430 – 2431 หลังจากที่ได้ย้าย “มูเสียม” ที่ศาลาสหทัยสมาคมมาอยู่ที่วังหน้าแล้ว คำว่า“พิพิธภัณฑ์” ถูกนำมาใช้ตั้งชื่อ “กรม” เป็น “กรมพิพิธภัณฑ์” โดยมีความหมายว่า กรมอันมีหน้าที่ต้องดูแลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่จัดแสดงอยู่ใน “มูเสียม” ดังนั้น ในระยะนี้ คำว่า “พิพิธภัณฑ์” จึงน่าจะเป็นที่รู้จักในฐานะกรมมากกว่า เพราะโดยทั่วไปแล้วคำว่า “มิวเซียม” หรือ“มูเสียม” ก็ยังคงใช้เรียกกันอย่างแพร่หลายโดยนำมาผสมคำไทยเป็น “หอมูเสียม”[17] บ้าง “โรงมูเสียม”([18]) บ้าง จนบางครั้งชาวบ้านเรียกเพี้ยนไปเป็น “โรงปะเซียม” หรือ “โรงกระเซียม” ก็มี[19]
แต่อย่างไรก็ตาม ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ปี พ.ศ.2437 ได้ปรากฏเรื่องพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบไม้กลายเป็นหินให้แก่ “พิพิธภัณฑ์สถาน” เพื่อที่มหาชนจะได้ดูได้ชม พร้อมกันนั้นยังได้กล่าวถึงที่มาของไม้กลายเป็นหินว่า มาจากจังหวัดหนองคาย และมีการกำหนดอายุเปรียบเทียบกับฟอสซิลอื่น ๆ อย่างคร่าว ๆ ได้ว่าคงมีอายุไม่ต่ำกว่า 1,200 ปีมาแล้ว[20] จะเห็นได้ว่าคำว่า “พิพิธภัณฑ์สถาน” ที่ตัวอักษร “ฑ” มี การันต์ ดังนั้น จึงต้องอ่านว่า “พิพิดทะพันสะถาน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คำนี้คงเป็นคำใหม่ที่น่าจะผูกขึ้นมาใช้หลังจากที่ตั้งกรมพิพิธภัณฑ์ขึ้นแล้ว คือหลังปี พ.ศ.2430 เป็นต้นมา คำว่า “พิพิธภัณฑ์สถาน” เป็นการนำคำว่า “พิพิธภัณฑ์” มาสมาสกับคำว่า“สถาน” โดยต้องการให้หมายถึง สถานที่อันมีสิ่งของนานาชนิด ซึ่งก็ตรงกับคำว่า “โรงมูเสียม” หรือ “หอมูเสียม” ที่เป็นคำที่คนทั่วไปเรียกนั่นเอง ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ที่หลังปี พ.ศ. 2440 เป็นต้นมา คนไทยในสมัยนั้น น่าจะมีการเรียก “มิวเซียม” 2 แบบ คือตามภาษาปากยังคงนิยมเรียกกันว่า โรงมูเสียม หรือ หอมูเสียม แต่ในหนังสือราชการต่าง ๆ จะใช้คำว่า พิพิธภัณฑ์สถาน และอาจมีการเรียกย่อ ๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า “พิพิธภัณฑ์” ดังที่ปรากฏหลักฐานการเรียก “พิพิธภัณฑ์” ในเรื่องเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ลาออกจากตำแหน่งเจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ฯ ที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2441 ด้วยสำนวนที่ไม่เป็นทางการนักว่า
“พิพิธภัณฑ์ที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เปิดให้มหาชนดูอาทิตย์ละ 2 หน ผู้ที่มาดูน้อย นอกจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาแลฉัตรมงคล ซึ่งผู้ที่มาดูนับหมื่น แลชอบดูสวนแนชูรัลฮิสตอรี่ยิ่งกว่าอื่น … อนึ่งคนต่างประเทศที่เป็นโกลบทรอตเตอร์มาเยี่ยมกรุงเทพฯ ก็ขอดูมิเซียมอยู่เสมอ ต้องมีผู้รู้ภาษารับรองนำไปดู”[21]
นอกจากนี้ ในพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ชื่อว่า “คัมภีร์สรรพพจนานุโยค” ของ แสมูเอ็ล์ เจ. สมิธ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2448 ได้ให้ความหมายของคำว่า Museum เป็นภาษาไทยไว้ว่า “ตำบลที่เก็บแลประชุมของไว้พร้อมเพื่อจะให้คนดู หรือของแปลกประหลาดในความรู้และวิชาการของนักปราชต่าง ๆ หรือ พิพิตร์ภัณฑ์”[22] น่าสังเกตว่า คำว่า “พิพิตร์ภัณฑ์” ไม่ได้สะกดถูกต้องตามหลักคำบาลี-สันสกฤต ถ้าอ่านเอาแต่เสียงก็จะได้ว่า “พิพิดพัน” เข้าใจว่า สมิธ คงได้รับทราบคำแปลนี้มาจากภาษาพูดโดยทั่วไปมากกว่า เพราะในช่วงเวลานั้นก็มีคำว่า“พิพิธภัณฑ์สถาน” ใช้ในเอกสารราชการแล้ว อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2437 ในราชกิจจานุเบกษาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในช่วงนั้น ความหมายของ “พิพิธภัณฑ์” คือ “สถานที่เก็บสะสมสิ่งไว้สำหรับชมหรือศึกษา”
เป็นไปได้ที่ระยะเวลาตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา คำว่า “มิวเซียม” มีการใช้น้อยลง แต่คำว่า “พิพิธภัณฑ์” และ“พิพิธภัณฑสถาน” เริ่มเป็นที่นิยมใช้กันมากขึ้น โดยในหนังสือราชการจะใช้คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ส่วนในภาษาพูดโดยทั่วไปนั้น จะให้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” และคงใช้กันเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
“พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 6 แห่งกรุงสยาม
(พ.ศ. 2469 – 2477)
ในช่วงเวลานี้ ดูเหมือนคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” จะกลายเป็นคำที่เป็นทางการแล้ว ดังปรากฏคำนี้ ทั้งในประกาศทางราชการ และหนังสือวิชาการทั่วไป โดยไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า “พิพิธภัณฑ์” อาจเป็นภาษาพูดมากกว่า ประชาชนทั่ว ๆ ไป คงจะใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” แทนคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ซึ่งเป็นคำที่ยาวกว่า เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า “พิพิธภัณฑ์” จึงกลายเป็นคำที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
“พิพิธภัณฑสถานวังหน้า” ได้จัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร พุทธศักราช 2469”[23] โดยประกาศเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2469 กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์จะทรงบำรุงพิพิธภัณฑสถานให้สมเกียรติประเทศไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมการพิพิธภัณฑสถานเข้ากับหอพระสมุดสำหรับพระนคร ขึ้นเป็น “ราชบัณฑิตย-สภา” และพระราชทานที่พระราชมนเทียรสถาน ตลอดทั้งบริเวณพระราชวังบวรฯ (วังหน้า) ให้จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานและหอพระสมุดสำหรับพระนคร[24] โดย “ราชบัณฑิตยสภา” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469 ตามประกาศตั้งราชบัณฑิตยสภา[25] ซึ่งมีหน้าที่เป็น 3 แผนกคือ 1) แผนกวรรณคดี เป็นพนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครและสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์ 2) แผนกโบราณคดี เป็นพนักงานจัดการพิพิธภัณฑสถาน ตรวจรักษาโบราณวัตถุสถาน และ 3) แผนกศิลปากร เป็นพนักงานจัดการบำรุงรักษาวิชาช่าง
กิจการพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนสังกัดของพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร โดยในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้น โดยให้สังกัดอยู่กระทรวงธรรมการ ส่วนพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครนั้น ได้ถูกจัดให้เป็นหน่วยงานในสังกัดภายใต้ชื่อของต้นสังกัดว่า “กองพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุ” และได้เปลี่ยนอีกครั้งเป็น “กองโบราณคดี” โดยมีหน้าที่ดำเนินงานพิพิธภัณฑสถานและดูแลโบราณสถานทั่วพระราชอาณาจักร[26]
“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 7 แห่งกรุงสยาม
(พ.ศ. 2477 – ปัจจุบัน)
เมื่อปี พ.ศ. 2477 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร”[27] ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เริ่มใช้คำว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ต่อมา พ.ศ. 2478 ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2478” ขึ้นมาใช้และมีการปรับปรุงอีกเป็น “พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504” ให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งอยู่ในความควบคุมดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมา มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการพุทธศักราช 2518 ให้จัดตั้งกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยแยกออกจากกองโบราณคดี ให้มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จนกระทั่งปัจจุบันได้มาสังกัดอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรม
ถึงแม้ว่าคำว่า “พิพิธภัณฑ์” และ พิพิธภัณฑสถาน” จะเริ่มเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในความหมายเดียวกัน คือ “เป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของ” แล้วก็ตาม แต่ใน “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493” ก็ยังไม่มีคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” แต่อย่างใด มีเพียงคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ซึ่งในพจนานุกรมเองก็ได้ให้ความหมายของ ”ตามรูปศัพท์” โดยอธิบายว่า “พิพิธภัณฑ์” หมายถึง สิ่งของต่างๆ ที่รวบรวมไว้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เช่น โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นต้น[28] ไม่ได้ให้ความหมายตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และการนิยามของพิพิธภัณฑฉบับนี้ ก็ได้ถูกตีพิมพ์เรื่อยมาจนได้รับชำระใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2525
ใน “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525” ได้อธิบายความหมายของพิพิธภัณฑ์ไว้ในลักษณะเดิมว่า “พิพิธภัณฑ์”หมายถึง สิ่งของต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เช่น โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ แต่ได้มีเพิ่มเติมคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ลงไปด้วย โดยให้ความหมายว่า “พิพิธภัณฑ์สถาน” หมายถึง สถาบันถาวรที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม หรือ ด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ[29] จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปจะเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า “พิพิธภัณฑ์” มีความหมายเดียวกันกับ “พิพิธภัณฑสถาน” ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมความหมายที่เปลี่ยนไปให้กับคำว่า “พิพิธภัณฑ์” จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2546 ราชบัณฑิตยสถานได้ตีพิมพ์ “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2542” ซึ่งได้มีการชำระความหมายของ “พิพิธภัณฑ์” แล้วว่ามีความหมายเดียวกันกับ “พิพิธภัณฑสถาน” ซึ่งหมายถึง สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม หรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ[30]
พิพิธภัณฑ์ในความหมายเก่ากับความหมายใหม่
ความหมายของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อันมีความเข้าใจร่วมกันของสังคมเป็นตัวกำหนดความหมาย เช่น ในสมัยแรกคนทั่วไปนิยมใช้ “มิวเซียม” ต่อมาจึงมีคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” จนมีการเรียกย่อ ๆ ว่า “พิพิธภัณฑ์” ซึ่งความหมายโดยทั่วไปของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเมื่อกล่าวถึงก็คือ “สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ” แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันแนวโน้มใหม่ในการนิยามความหมายของพิพิธภัณฑ์ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยามของ ICOM ที่ไม่ได้จำกัดกรอบความคิดว่า พิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ เท่านั้น แต่อาจหมายรวมไปถึงองค์กร หรือสถาบันใดก็ตามที่มีศักยภาพในการเป็น หรือสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ก็จัดได้ว่ามีสถานภาพเป็น “พิพิธภัณฑ์” ทั้งสิ้น ประเด็นเช่นนี้ก็อาจทำให้เกิดความสับสนสำหรับบุคคลทั่วไปได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าถามว่า สวนสัตว์เป็นพิพิธภัณฑ์หรือไม่ ถ้าเป็นนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ก็จะมองว่าสวนสัตว์คือพิพิธภัณฑ์ประเภทหนึ่ง แต่ถ้าถามประชาชนทั่วไป อาจได้รับคำตอบว่า สวนสัตว์ก็คือสวนสัตว์ จะเป็นพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร และถ้ามองถึงระบบการบริหารแล้ว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยเองก็ไม่ได้อยู่ในกำกับของกรมศิลปากร ซึ่งมีหน้าที่กำกับพิพิธภัณฑสถาน แล้วจะกล่าวว่า สวนสัตว์เป็นพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร แต่ในทางกลับกันถ้าถามว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นแหล่งเรียนรู้หรือไม่ เชื่อว่าคำตอบที่ได้คือ ”เป็น” เช่นเดียวกัน ถ้าถามว่า “สวนสัตว์”เป็นแหล่งเรียนรู้หรือไม่ คำตอบที่ได้ก็คงจะได้ว่า “เป็น” เช่นเดียวกัน ฉะนั้น จึงดูเหมือนว่า นิยามของ ICOM นั้น จะพยายามขยายความหมายของ “พิพิธภัณฑ์” ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ในขณะเดียวกัน ความรับรู้ของประชาชนทั่วไปไม่ได้คิดเช่นนั้น ประเด็นนี้จึงน่าจะมีการศึกษากันต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้วประชาชนทั่วไปรับรู้ว่า “พิพิธภัณฑ์” คืออะไร.
Anchor [1] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ, ประชุมพงศาวดารภาค 25 ตำนานวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง, (กรุงเทพฯ: จัดพิมพ์เป็นบรรณาการ เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก (พิเศษ) ชลิต ศิริพงษ์ ท.ช., ท.ม. ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 29 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2544), หน้า 5-8.
Anchor [2] ประกอบด้วย 1.พระที่นั่งอนันตสมาคม 2.พระที่นั่งบรมพิมาน 3.พระที่นั่งนงคราญสโมสร 4.พระที่นั่งจันทรทิพโยภาศ 5.พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ 6.พระที่นั่งมูลมณเฑียร 7.หอเสถียรธรรมปริต 8.หอราชฤทธิรุ่งโรจน์ 9.หอโภชนลีลาส 10.พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ 11.พระที่นั่งภูวดลทัศไนย
Anchor [3] ข้างโยรปิยปถพี คือ ทางยูโรเปียนปฐพี หรือ ทางทวีปยุโรป
Anchor [4] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ, เรื่องเดิม, หน้า 7 – 8.
Anchor [5] ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง, “ย้อนอดีตพิพิธภัณฑ์ไทยถึงสมัยพระปกเกล้าฯ”, ใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพิพิธภัณฑ์ไทย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคล เฉลิมพระเกียรติ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 8 พฤศจิกายน 2536), หน้า 23. [อ้างจาก เคลาส เวงค์ และ เคลาส โรสเซ็นแบร์ก, ผู้รวบรวม, เยอรมันมองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2520, หน้า 35 - 36.]
Anchor [6] เมธินี จิระวัฒนา, “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก้าวต่อไปหลังสมัยพระปกเกล้าฯ”, ใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพิพิธภัณฑ์ไทย, (กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคล เฉลิมพระเกียรติ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 8 พฤศจิกายน 2536), หน้า 62. [อ้างจาก อเนก นาวิกมูล, โฆษณาไทยสมัยแรก, (กรุงเทพฯ: บริษัทสำนักพิมพ์แสงแดด จำกัด, 2531, หน้า 81.]
Anchor [7] แดนบีช แบรดเลย์, หนังสืออักขราภิธานศรับท์, (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2514), หน้า 450.
Anchor [8] จิรา จงกล, “ย้อนอดีตพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”, ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากรจัดพิมพ์เพื่อเชิดชูเกียรติ นางจิรา จงกล 4เมษายน 2532), หน้า 26. [อ้างจาก ดรุโณวาท. เล่ม 1 (จ.ศ. 1236), หน้า 115 – 117.]
Anchor [9] ชิน อยู่ดี, “ผู้ทำงานพิพิธภัณฑสถาน ระหว่าง พ.ศ.2428 – 2445”, ใน กิจการพิพิธภัณฑสถาน, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากรจัดพิมพ์ ในงานฉลองครบรอบ 100 ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2517), หน้า 5. [อ้างจาก ครุโณวาท เล่ม 1 (จ.ศ.1236) หน้า 155.]
Anchor [10] จิรา จงกล, เรื่องเดิม, หน้า 30 - 32. [อ้างจาก กฎหมายไทยรัชกาลที่ 5. เล่ม 2 (พระนคร: โรงพิมพ์วิชากร, ร.ศ. 113), หน้า 433 – 435.]
Anchor [11] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ, อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณแลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร, (พระนคร: ราชบัณฑิตยสภา, 2469), หน้า 2.
Anchor [12] “มูเสียมหลวงที่วังหน้า” คำนี้สันนิษฐานโดยใช้ข้อมูลจากโฆษณา “มูเสียม” ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2436 ซึ่งตีพิมพ์ห่างจากปีที่เปิดทำการ “มูเสียม” ราว 6 ปี แต่เอกสารของ ชิน อยู่ดี เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า”
Anchor [13] ชิน อยู่ดี, เรื่องเดิม, หน้า 6.
Anchor [14] จิรา จงกล, พัฒนาการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย, ใน กิจการพิพิธภัณฑสถาน, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากรจัดพิมพ์ ในงานฉลองครบรอบ 100 ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2517), หน้า 28.
Anchor [15] กรมตำรา, ปทานุกรม, (พระนคร: กรมตำรา, 2470), หน้า 513, 543.
Anchor [16] เมธินี จิระวัฒนา, เรื่องเดิม, หน้าเดิม.
Anchor [17] กรมศิลปากร, “ประกาศเรื่องให้เอาของต่างๆ มาตั้งหอมิวเซียม”, ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร จัดพิมพ์เพื่อเชิดชูเกียรติ นางจิรา จงกล, 2532), หน้า 31 – 30.
Anchor [18] เมธินี จิระวัฒนา, เรื่องเดิม, หน้าเดิม.
Anchor [19] ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง, เรื่องเดิม, หน้า 34. [อ้างจาก สงวน อั้นคง, สิ่งแรกในเมืองไทย, หน้า 313 – 314.]
Anchor [20] เมธินี จิระวัฒนา, เรื่องเดิม, หน้า 62 - 63. [อ้างจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 10 แผ่นที่ 20 วันที่ 13 สิงหาคม ร.ศ. ศก 112, หน้า 112.]
Anchor [21] ชิน อยู่ดี, เรื่องเดิม, หน้า 21. [อ้างจาก กองจดหมายเหตุ: แฟ้ม ร.๕ บ.๓./๑๔ เรื่องเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ลาออกจากตำแหน่งเจ้ากรมพิพิธภัณฑ์และเจ้าพนักงานตรวจสิ่งของทำบัญชี แผ่นที่ ๘๔๖๔.]
Anchor [22] แสมูเอ็ล์ เจ. สมิท, คำภีร์สรรพพจนานุโยค เล่ม 3 I – P, (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจัดพิมพ์เฉลิมฉลอง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พุทธศักราช 2442), หน้า 651.
Anchor [23] จิรา จงกล, “พระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร”, ใน เรื่องเดิม, หน้า 32 - 37.
Anchor [24] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร, (พระนคร: ราชบัณฑิตยสภา, 2469), หน้า 2.
Anchor [25] จิรา จงกล, “ประกาศตั้งราชบัณฑิตยสภา”, ใน เรื่องเดิม, หน้า 29 - 32.
Anchor [26] กรมศิลปากร, “ประวัติและความเป็นมาของกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”, ใน รายงานประจำปี 2534 กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, (กรุงเทพฯ: กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2534), หน้า 3.
[27] กรมศิลปากร, เรื่องเดิม, หน้า 4.
[28] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493, พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2513), หน้า 660.
[29] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, พิมพ์ครั้งที่ 6, (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2539), หน้า 597.
[30] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2546), หน้า 789.
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูลและคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ระยะที่ 1 สร้างเครือข่ายและสำรวจสภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2547.
ผู้เขียน : | ตรงใจ หุตางกูร |
คำสำคัญ : | พิพิธภัณฑ์ไทย, ประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ไทย, ประวัติศาสตร์, |
(จำนวนผู้เข้าชม 39255 ครั้ง)