...

ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 34,436 รายการ


วิทยากรโดย นางวนิตา กรินชัย ผู้อำนวยการกลุ่มนาฏศิลป์ สำนักการสังคีต ดำเนินรายการโดย นายกัญจนปกรณ์ แสดงหาญ คีตศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต ในวันพฤหัสบดีที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๒.๐๐ – ๑๒.๓๐ น. ผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ Facebook : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร




จดหมายเหตุ “ภาษาไทย สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม” เนื่องด้วยในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ จากความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี จึงขอนำเสนอเรื่องราวที่ปรากฎในเอกสารจดหมายเหตุชุดจังหวัดจันทบุรี ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ที่เกี่ยวข้องด้านการใช้ภาษาไทยในอดีต หากผู้ค้นคว้าได้เข้ามาใช้และอ่านเอกสารจดหมายเหตุในช่วง พ.ศ. 2485-2487 จะเห็นลักษณะการเขียนหนังสือราชการในการสะกดและใช้อักขระแตกต่างไปจากในช่วงก่อนหน้าและช่วงหลัง ซึ่งอันเป็นผลมาจากนโยบายด้านการใช้ภาษาไทยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจด้านประวัติศาสตร์ของภาษาไทย ดังนี้ พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง “ให้คนไทยเลิกใช้ภาษาต่างด้าวและให้ใช้ภาษาไทย” โดยประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 9 ให้ชนชาติไทยพูดและใช้ภาษาไทยขึ้นไว้เป็นหลักดำเนินการ โดยมีข้อพิจารณาในการปฏิบัติของทางราชการในเรื่องดังกล่าวไว้ พอสังเขปโดยย่อได้ดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือข้าราชการ เมื่อพูดจาติดต่อกับชุมชนที่อาศัยใช้ภาษาต่างด้าว จะต้องถือโอกาสชี้แจงเหตุผลทางได้ทางเสีย ชักจูงให้เกิดความรู้สึกจำเป็นที่จะเลิกใช้ภาษาต่างด้าว และหันกลับมาใช้ภาษาไทย 2. ข้าราชการต้องพูดและใช้ภาษาไทย 3. ราษฎรคนไทยที่มากิจธุระตามสถานที่ราชการ ต้องใช้ภาษาไทย 4. โรงเรียนประชาบาล ตามหมู่คนไทยที่ใช้ภาษาต่างด้าว จะต้องรีบจัดตั้งขึ้นให้ทั่วถึง 5. คัดเลือกราษฎรคนไทยตามหมู่บ้านที่รู้ภาษาไทย เป็นผู้ช่วยสอนชี้แจงแก่หมู่คนในหมู่บ้าน 6. จัดทำคู่มือปทานุกรมภาษาไทยเทียบกับภาษาต่างด้าว 7. การจัดตั้งการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงธรรมการโดยเล็งผลแห่งการพูดและใช้ภาษาไทยเป็นพิเศษ 8. ด้านศาสนาขอความร่วมมือในการพูดและใช้ภาษาไทย 9. ให้ผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาจังหวัด หาโอกาสไปเยี่ยมและชี้แจงทำความเข้าใจให้คนไทยในท้องที่ กลับมาใช้ภาษาไทย 10. สนับสนุนให้คนไทยได้ใช้ภาษาไทย ให้รางวัลแก่ผู้กลับมาใช้ภาษาไทย จัดเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงภาษาไทยตามชุมชน พ.ศ. 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ได้ยกร่างและประกาศใช้อักขรวิธีไทยแบบใหม่ขึ้น เพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทย กะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ตอนที่35 เล่ม 59 วันที่ 1 มิถุนายน 2485 เรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทย ดังปรากฏการใช้ภาษาตามเอกสารช่วง พ.ศ. 2485 ในตัวอย่างเรื่องกระทรวงมหาดไทยแจ้งคณะกรมการจังหวัดทุกจังหวัดทราบและปฏิบัติในการแก้ไขชื่อจังหวัด ตามการปรับปรุงพยัญชนะและสระให้ถูกต้องตาม มติคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย แต่ต่อมาหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งในปลายปี พ.ศ. 2487 นโยบายต่างๆ รวมทั้งนโยบายด้านภาษาก็ได้ถูกยกเลิกไป ลักษณะการเขียนก็ได้กลับมาใช้ตามรูปแบบเดิม ถึงแม้ท่านได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปีพ.ศ. 2491 ก็ไม่ได้นำนโยบายนี้กลับมาใช้อีกแต่อย่างใด ผู้สนใจในเรื่องดังกล่าวสามารถเข้ามาใช้เอกสารฉบับเต็มได้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ในวันและเวลาราชการ ผู้เขียน อดิศร สุพรธรรม นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เอกสารอ้างอิง หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี. จบ1.1.1.4/238 เอกสารชุดจังหวัดจันทบุรี ส่วนแผนกมหาดไทย เรื่องแก้ชื่อจังหวัดตามที่ได้ปรับปรุงอักษรใหม่ (19 กันยายน – 2 ตุลาคม 2485) หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี. จบ1.1.1.8/7 เอกสารชุดจังหวัดจันทบุรี ส่วนแผนกมหาดไทย เรื่องให้คนไทยเลิกใช้ภาษาต่างด้าวและให้ใช้ภาษาไทย (23 กันยายน 2483 – 26 มกราคม 2485)











Messenger