ปราสาทเขาโล้น ๒/๓ : โบราณวัตถุชิ้นเด่นและการกำหนดอายุ
ปราสาทเขาโล้น ๒/๓ : โบราณวัตถุชิ้นเด่นและการกำหนดอายุ
การดำเนินงานโบราณคดีที่ปราสาทเขาโล้น นอกจากจะทำให้พบโบราณสถานที่ถูกดินทับถมไว้แล้ว ยังทำให้พบชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมทำจากหินทราย เช่น
บริเวณปราสาท ๓ หลังบนฐานไพที พบยอดปราสาททรงกลม ใช้ประดับบนชั้นซ้อนชั้นสุดท้ายของปราสาทเพื่อรองรับนภศูล แถวกลีบบัวเหนือทับหลัง เป็นแถวกลีบบัวที่เคยประดับเหนือทับหลังบริเวณซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ปราสาทจำลองและบรรพแถลง ใช้วางประดับบริเวณกึ่งกลางและบริเวณมุมของชั้นซ้อนแต่ละชั้น
บริเวณบรรณาลัยและโคปุระทั้งสามด้าน พบชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม เช่น ปลายกรอบหน้าบัน สลักลวดลายเป็นรูปมกรอ้าปากชูงวงประกอบลายกระหนก แถวกลีบบัวประดับบริเวณเชิงชายของหลังคา เสาลูกมะหวดทรงกลม ใช้ประดับบริเวณกรอบหน้าต่าง บราลีลักษณะทรงกรวยแหลม ใช้ประดับบริเวณสันหลังคา
ส่วนภาชนะดินเผาพบภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวและสีน้ำตาลที่ผลิตจากแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์ และเครื่องถ้วยจีนเนื้อกระเบื้องเคลือบสีขาว สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ
จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางสถาปัตยกรรม โบราณวัตถุ รูปแบบของทับหลัง เสาประดับกรอบประตูจากภาพถ่ายเก่า และการกำหนดอายุตัวอย่างอิฐ ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence dating : TL) ล้วนให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันทำให้สันนิษฐานว่าปราสาทเขาโล้นน่าจะสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นปราสาทในศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนต้น สอดคล้องกับการพบจารึกบริเวณกรอบประตูที่ระบุศักราชตรงกับพุทธศักราช ๑๕๕๙
ผู้เขียน : นายสิขรินทร์ ศรีสุวิทธานนท์ (นักโบราณคดีชำนาญการ)
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี
#สำนักศิลปากรที่๕ปราจีนบุรี #กรมศิลปากร #กระทรวงวัฒนธรรม
#แชทชมแชร์_โบราณคดีปราจีนภาค
ปราสาทเขาโล้น ๑/๓ : การดำเนินงานโบราณคดี
https://www.facebook.com/2360532577517366/posts/2770145389889414/
(จำนวนผู้เข้าชม 1296 ครั้ง)