...

ผีในล้านนา
#ผีในล้านนา
เรื่องผีนั้นมีอยู่ทั่วทุกที่ ในล้านนาเองก็มีเรื่องเล่าถึงผีที่หลากหลาย ทั้งผีบรรพบุรุษ ผีที่คุ้มครองสถานที่ต่างๆ ผีที่สถิตย์ตามที่ต่างๆ วันนี้แอดเลยยกตัวอย่างมาให้อ่านเล่นๆ ช่วงใกล้เทศกาลผีๆ อย่าง #ฮาโลวีน หรือจะแวะมาอ่านเรื่องผี มีทั้งหนังสือการ์ตูน นวนิยาย และเรื่องผีอื่นๆ ได้ที่หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ เลยค่ะ
ผีปู่หละหึ่ง
ปู่หละหึ่ง เป็นชื่อบุคคลในนิทานพื้นบ้านชาวยองและชาวลื้อที่เล่าสืบต่อกันมา ถึงชายร่างใหญ่โตสูงเสียดฟ้า ครั้งหนึ่งเมื่อจะสร้างดอยหนอกวัวที่อำเภอลี้ ปู่หละหึ่งได้กอบดินจากดอยอินทนนท์ไปสร้างโดยไม่ได้ก้าวขา ดินบางส่วน ที่หลุดลอดจากมือตกลงไปกลายเป็นดอยน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยน้อย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ผีตามอย
ผีตามอย มีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นผี ที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชน ผีชนิดนี้จะชอบเลียก้นคนที่ไปถ่ายอุจจาระ เพราะในสมัยก่อนคนมักไปนั่งถ่ายอุจจาระบนขอนไม้ ซึ่งถ้าถูกผีตามอยเลียก้นจะทำให้เจ็บไข้ไม่สบาย ผีตามอยอีกชนิดหนึ่ง เป็นผีที่ชอบจับหนุ่มสาวมาเป็นผัวเมีย ว่ากันว่า หากผีตามอยหมายปองคนใดแล้ว เพียงแค่คลาดสายตาเท่านั้น ผีก็จะเอาตัวคนไปได้แล้ว
ผีโพรง
ผีโพรง คิอ ผีชนิดหนึ่งจะสิงอยู่ในคนเพศหญิง ชอบกินของคาว เช่น คาวเลือด คาวปลา และ คาวจากเขียด ผีโพรงมีแสงที่จมูกสีขาวอมเขียว บ้างว่าเป็นสีแดง ยามกลางคืนจะออกหากินตาม ทุ่งนา โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน หากใครพบเจอ ผีโพรงห้ามเข้าใกล้ หากเห็นหน้าแล้วรู้จักก็ ห้ามทัก หรือเอาไปพูดว่าใครเป็นผีโพรง เพราะอาจถูกผีโพรงอาฆาตและทำร้ายได้
ผีปกกะโหล้ง
ผีปกกะโหล้ง เป็นผีที่อยู่ตามป่าตามเขา ร้องเสียงดังปก ๆ ปกกะโหล้ง มักปรากฏตัวเป็นคนแก่ผมเผ้าหนวดเครายาวรุงรัง เมื่อมีเด็กคนใดแอบหนีเที่ยวป่าคนเดียวมักจะเจอผีปกกะโหล้ง บังคับให้เด็กไซ้เห็บเหาในเส้นผมและหนวดเครา ซึ่งแท้จริงแล้วเห็บเหาที่บอกนั้น เป็นบรรดาสัตว์เลื้อยคลาน มีพิษ น่าเกลียดน่ากลัวต่างๆ เช่น ตะเข็บ ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น หากเด็กคนใดกล้าหาญไซ้ผมให้จนมันพอใจ ผีปกกะโหล้งจะให้เข็มทองเล่มหนึ่ง แต่หากเด็กคนใดขี้กลัวหรือวิ่งหนี ผีปกกะโหล้งจะจับฉีกแข้งฉีกขา ล้วงกินตับไตจนหมด
ผีม้าบ้อง
ผีม้าบ้อง อยู่ในจำพวกผีกละ คือเมื่อผีกละมีอิทธิฤทธิ์มากก็อาจแปลงเป็น ผีม้าบ้องได้ โดยมีคำบรรยายเกี่ยวกับลักษณะผีม้าบ้องคือท่อนบนเป็นคน แต่ท่อนล่างเป็นม้าสีดำตัวสูงใหญ่ ตาลุกแดง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครเคยเห็น ชัดเจน มักได้ยินเพียงเสียงเหมือนม้าเหยาะย่าง หรือวิ่งควบอย่างรวดเร็ว และมักวิ่งเข้าออกซอกซอยแคบๆ เท่านั้น ผีม้าบ้อง ชอบกินอาหารที่มีกลิ่นคาว เช่น เลือดสัตว์ คาวเลือดทารก ซากสัตว์ โครงกระดูกวัวควาย เเละไข่ดิบ เวลากินอาหาร ผีม้าบ้องใช้ลิ้นเลียอาหาร และเมื่อพบสถานที่ที่มีอาหารก็จะจดจำสถานที่นั้นไว้ หากหิวจะได้กลับมากินอีก
ผีปู่แสะย่าแสะ
เรื่องของผีปู่แสะย่าแสะ ปรากฏในตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และตำนานวัดดอยคำ และเป็นเรื่องเล่าในบริเวณเชิงดอยสุเทพ กล่าวกันว่า เดิมผีปู่แสะย่าแสะเป็นผีบรรพบุรุษของพวกลัวะที่อาศัยอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ คอยดูแลรักษาป่าต้นน้ำบนดอยสุเทพ ให้อุดมสมบูณณ์ มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่พระพุทธเจ้ามาโปรดสัตว์ถึงบริเวณเชิงดอยคำ ได้พบยักษ์สามตนพ่อแม่ลูก ยังชีพด้วยการกินเนื้อมนุษย์และเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดยักษ์ทั้งสาม และขอให้รักษาศีลห้า แต่ปู่แสะย่าแสะไม่อาจละเว้นการกินเนื้อได้ตลอดจึงขอพระพุทธเจ้าว่าขอกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน แต่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต จึงขอลดลงเป็นขอกินเนื้อสัตว์แทน พระพุทธเจ้าจึงให้ไปขออนุญาตเจ้าเมือง เมื่อเจ้าเมืองอนุญาตให้กินเนื้อควายได้ปีละครั้ง จึงมีประเพณีฆ่าควายเลี้ยงดงไหว้ผีปู่แสะย่าแสะเป็นประจำทุกปี ส่วนบุตรของปู่แสะย่าแสะได้บวชเป็นฤาษีชื่อ สุเทวฤาษี
เรียบเรียงโดย นางสาวพิมพา สุธัญญาวัชชัย บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่
บรรณานุกรม
เจริญ มาลาโรจน์. ผีปกกะโหล้ง. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. 8 (2542): 4098.
ผีตามอย. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. 8 (2542): 4094.
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. ผีปู่หละหึ่ง. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. 8 (2542): 4101.
ศรีเลา เกษพรหม. ผีโพรง. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. 8 (2542): 4103-4104.
ศรีเลา เกษพรหม และเจริญ มาลาโรจน์. ผีม้าบ้อง. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. 8 (2542): 4105-4106.
อุดม รุ่งเรืองศรี. ผีปู่แสะย่าแสะ. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. 8 (2542): 4101.
ภาพผีปกกะโหล้ง จาก: https://www.facebook.com/.../a.16998.../1857299897898146/...
ภาพผีโพง จาก: https://intrend.trueid.net/north-east/si-sa-ket/ประสบการณ์หลอน-โดนผีโพงหลอก-trueidintrend_12070
ภาพผีม้าบ้อง จาก: https://www.readawrite.com/.../127a300925ae7b38742757ec00...
ภาพรูปปั้นปู่แสะย่าแสะ จาก: https://thestandard.co/liang-dong-ritual/
#ผี
#บรรณารักษ์ชวนรู้
สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร







(จำนวนผู้เข้าชม 2270 ครั้ง)