สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกองเสือป่า เพื่อให้ข้าราชการและประชาชนได้มีโอกาสฝึกหัด และเรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองในยามเกิดศึกสงคราม และเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเองและบ้านเมืองในยามสงบ นอกจากนี้ยังทรงเห็นว่าจะช่วยให้คนไทยรู้จักรักชาติ มีระเบียบวินัย มีความเสียสละ สามัคคี มีความกตัญญู และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
พลโท ลอร์ด โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ (Lord Robert Baden-Powell) รับราชการทหารรักษาเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสหภาพแอฟริกาใต้ ซึ่งในขณะนั้นเกิดสงครามขึ้นกับพวกบัวร์ (Boer) และได้ตั้งกองทหารเด็กขึ้นมา เพื่อช่วยราชการสงคราม เช่น เป็นผู้สื่อข่าว รักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงเป็นหน่วยสอดแนมช่วยในการสู้รบ จนประสบผลสำเร็จ เพราะเด็กที่ได้รับการฝึกเหล่านั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ใช้รับมอบหมายได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่ ในทางตรงกันข้ามบางอย่างสามารถทำได้ดีกว่าเสียอีก การลูกเสือจึงเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑
คติพจน์ที่พลโท ลอร์ด โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ ให้ไว้แก่ลูกเสือ คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ทวีปยุโรป ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของ พลโท ลอร์ด โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ (Lord Robert Baden-Powell) ที่จัดตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยในการรบกับพวกบัวร์ (Boer) จนประสบผลสำเร็จ รวมถึงการจัดตั้งกองลูกเสือโลกขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ
หลังจากนั้นพระองค์ทรงก่อตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ อย่างเป็นทางการ และกำหนดให้มีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแก่สมาชิกเสือป่าขึ้นเป็น
ครั้งแรก ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง "นายกองใหญ่" มีเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารบางส่วนเป็นคณะผู้บังคับบัญชา และมีข้าราชการพลเรือนเป็นพลเสือป่า
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขยายกองเสือป่าไปทั่วราชอาณาจักรโดยทรงนำพวกมหาดเล็กของพระองค์ที่พระราชวังสราญรมย์ และพระราชวังสนามจันทร์ มาฝึกยุทธวิธีในการรบและการสอดแนมตามหลักวิชาการทหาร จนเป็นที่ยอมรับของประชาชน หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะปลุกกระแสรักชาติในหัวใจ ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงทรงขยายกองเสือป่าไปทั่วราชอาณาจักร เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีหน้าที่รักษาประเทศชาติและพร้อมพลีชีพเพื่อชาติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๖ ทรงมีพระราชประสงค์ จัดทำเพลงบรรเลงเพื่อใช้ในการยืนเคารพกองเสือป่า คือ เพลงสรรเสริญเสือป่า เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงนำเพลงบุหลันลอยเลื่อนในอัตราจังหวะสองชั้น มาเรียบเรียงทางบรรเลงใหม่ ซึ่งเป็นทำนองของเพลงไทยเดิม ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาเรียบเรียงทางบรรเลงใหม่ในรูปแบบดนตรีสากล และใช้แตรวงในการบรรเลง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แตรวงกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ บรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่าเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและพระราชทานธงไชยเฉลิมพลกองเสือป่ามณฑลนครสวรรค์ ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่า เป็นเพลงเคารพมหาศารทูลธวัชประจำคณะเสือป่า และศารทูลธวัชประจำกรมกองเสือป่า รวมทั้งในระหว่างเวลาเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลเสือป่าและลูกเสือในวโรกาสต่างๆ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงนิพนธ์คำร้องขึ้นถวาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเพื่อใช้กับเพลงสรรเสริญเสือป่า เป็นการผนวกเข้ากัน ระหว่างทำนองและเนื้อร้อง จึงทำให้เพลงสรรเสริญเสือป่านั้นมีความสมบูรณ์สืบมาจวบจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามหลังจากกิจการเสือป่าได้สิ้นสุดลง แต่เพลงสรรเสริญเสือป่ายังคงมีการบรรเลงอยู่ในพิธีต่างๆ เสมือนเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีเฉพาะพระองค์ เช่น วชิราวุธวิทยาลัยใช้ในการปิดพระวิสูตร พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานภายในหอสวดหรือหอประชุมโรงเรียน จากนั้น มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเพลงสรรเสริญเสือป่า มาเป็นธรรมเนียมในการบรรเลงก่อนเริ่มแสดงละครจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖
ต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เพลงสรรเสริญเสือป่า บรรเลงประกอบริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ และการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒
นอกจากนี้ยังใช้บรรเลงถวายราชสักการะพระบรมรูปในพิธีบำเพ็ญกุศลวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยอีกด้วย
เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
แหล่งอ้างอิง :
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “เสือป่า”กองกำลังส่วนพระองค์ ร.๖ ที่ทรงรักเสมือนลูก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_24044, ๒๕๖๖.
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. เพลงสรรเสริญเสือป่า. [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗, จาก: http://www.kingrama9.th/Honor/Detail/43, ๒๕๖๐.
พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ และคนอื่นๆ. ศิลปากรสถาน เลขที่ ๑ ถนนหน้าพระธาตุ. กรุงเทพฯ : สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๔.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ปลุกใจเสือป่า. พิมพ์ครั้งที่ ๒. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ๒๔๕๗.
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.๖. จาก “เพลงบุหลันลอยเลื่อน" ในรัชกาลที่ ๒ สู่ "เพลงสรรเสริญเสือป่า” ในรัชกาลที่ ๖. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.facebook.com/rama6memorial/photos/a.1727707460822520/3060240277569225/?type=3
วรชาติ มีชูบท. ฝากเรื่องกับน้องๆ เรื่อง กรมกองเสือป่า. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.chonlatit.com/bs/topicDisplay2.php?hash=QVNFUmFlckFFcmFlcmFlcmEsMjEw, ๒๕๖๒.
วรชาติ มีชูบท. ฝากเรื่องกับน้องๆ เรื่อง การประลองยุทธ์เสือป่าและลูกเสือ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.chonlatit.com/bs/issueDisplay.php?id=209&category=S00&issue=สโมสรเสือป่า%20ราชบุรี, ๒๕๖๒.
สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ. ๑๐๐ ปี การลูกเสือไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว, ๒๕๕๕.
สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ. กำเนิดลูกเสือโลก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖, จาก: https://www.scoutthailand.org/pages/thaiscout-view-world.php?id=1
Scouts South Africa. The Founder – Robert Baden-Powell. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,
จาก: https://1stclaremont.org.za/our-history/the-founder-robert-baden-powell/
TheOngkhaphayop. สรรเสริญเสือป่า :: ทางร้อง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗, จาก: https://www.youtube.com/watch?v=erpEtDEguPs, ๒๕๕๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 938 ครั้ง)