...

องค์ความรู้ : มรดกภาพยนตร์กับการบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญของชาติไทย เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ”

ภาพยนตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เป็นการบันทึกภาพยนตร์ เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งเป็นผลงานภาพยนตร์ทรงถ่ายหรือภาพยนตร์อัมพร ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงภาพให้เห็นถึงเรื่องราวและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ชุดหนึ่งที่สำคัญของชาติไทย

พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคม ถึง ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙  ภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงนครเชียงใหม่ ภายหลังจากทางรถไฟที่เชื่อมถึงเชียงใหม่ได้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเยือนในถิ่นฐานบ้านเมืองในภาคเหนือ

ภาพยนตร์ ชุดนี้เป็นฟิล์ม ๑๖ มม. ภาพขาว – ดำ มีจำนวน ๑๑ ม้วน รวมความยาว ๑๒๐ นาที ทรงถ่ายด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่ ตลอดระยะทางที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ตั้งแต่พระนครด้วยทางรถไฟพระที่นั่ง และรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือ คือ พิษณุโลก แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ภาพยนตร์นี้ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงภาพการรับเสด็จอย่างเป็นทางการ ทำให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม สภาพสังคม และสภาพชีวิตชาวบ้านในแต่ละท้องที่ รวมถึงนครเชียงใหม่ที่ได้ทำการจัดพิธียิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศตามประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยมีบุคคลสำคัญ คือเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายแห่งนครเชียงใหม่ รวมถึงประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้เสด็จฯ เยือนสถานที่สำคัญต่างๆ ของนครเชียงใหม่ ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่หลังแรก วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดสวนดอก ค่ายกาวิละ เหล่ากาชาด เป็นต้น

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้นำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ มาจัดฉายพร้อมร่วมสนทนาถึงเกร็ดประวัติศาสตร์และมุมมองที่ได้จากภาพยนตร์ โดยมีวิทยากร รศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ผู้ทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๗๖” และศิริเพ็ญ วรปัสสุ นักจดหมายเหตุจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 

ภาพยนตร์ชุดนี้จึงมีคุณค่าที่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชนิพนธ์ไว้ผ่านกล้องถ่ายหนังตกทอดมาให้พสกนิกรรุ่นหลังได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติ และทางหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ทำการขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๖๒ อีกด้วย

 


(QR-Code : ภาพยนตร์สนทนา รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙)



เรียบเรียงและรวบรวมโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่

แหล่งอ้างอิง :

ไทยโพสต์.  ๑๕ หนังไทยมรดกภาพยนตร์ชาติ แค่เศษฟิล์มหรือหนังดัง-ถูกแบน แต่ทรงคุณค่า. [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔
         จาก https://www.thaipost.net/main/detail/47465, ๒๕๖๒.

ธงทอง จันทรางศุ.  สมุดภาพ รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ เลียบมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๖๙. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๖๑.

มติชน.  คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน : พิธีทูลพระขวัญ รัชกาลที่ ๗ ของนานาชาติพันธุ์ในล้านนา. [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔,
         จาก 
https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_1363385, ๒๕๖๒.

หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน).  ภาพยนตร์สนทนา รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔,
         จาก 
https://www.youtube.com/watch?v=icPPd3SDTps, ๒๕๖๓.

(จำนวนผู้เข้าชม 375 ครั้ง)


Messenger