เพลงลูกทุ่งไทย เป็นผลงานวรรณกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยและยังเป็นไปต้นกำเนิดของเพลงพื้นบ้านต่างๆ ผสมสำเนียงเสียงดนตรีสากล สู่บทเพลงด้วยความบริสุทธิ์ อ่อนหวาน อยู่กับธรรมชาติของ ท้องทุ่ง ไร่นา และป่าเขา รวมถึงความเป็นอยู่ที่สะท้อนถึงชีวิตทางสังคมของวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สำนักงานคณะกรรมการด้านวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๓๔ : ๒) ทรงมีพระราชดำรัส เรื่อง ลูกทุ่งกับเพลงไทย ซึ่งพระราชทานให้พิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ ๒๑ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์เป็นเจ้าภาพ ณ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ว่า “เนื้อร้องเพลงลูกทุ่งมักจะสะท้อนภาพชีวิตจริงของคนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ การเกิดสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองได้เป็นอย่างดี ใช้ภาษาที่เรียบง่าย เข้าใจและจำง่ายฟังแล้วไม่ต้องแปลความหมาย เหนือไปกว่านั้นเพลงลูกทุ่งยังสรรหาคำที่กระทบกระเทียบเปรียบเปรยมีสำนวนกระแนะกระแหน เจ็บๆ คันๆ มาเสนอได้หลายรูปแบบ เรียกได้ว่าเข้าใจถึงใจคนฟังในเวลาอันรวดเร็ว คุณสมบัติในข้อที่ว่าสามารถบันทึกเหตุการณ์ได้ดีนี้เองเป็นคุณสมบัติพิเศษที่เพลงชนิดอื่นทำได้ไม่ดี และมีความหลากหลายเท่าเทียมกับเพลงลูกทุ่ง”
นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๓๗ : ๗ - ๘) ยังทรงมีพระราชดำรัสต่ออีกใจความหนึ่งว่า “เพลงลูกทุ่งเมื่อเปรียบกับเพลงพื้นบ้านหรือเพลงไทยแล้ว เพลงลูกทุ่งนับได้ว่ามีอายุน้อยมาก นั่นคือมีวิวัฒนาการเพียง ๕๐ กว่าปี แต่ทว่าเพลงลูกทุ่งนั้นแพร่หลายและสามารถครองใจผู้ฟังได้เป็นจำนวนมาก ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย หญิง หรือว่าอายุเท่าไรก็ตาม รวมทั้งเข้าถึงผู้ฟังได้เร็วกว่าเพลงไทยสากลหรือเพลงไทย คงจะมาจากหลายสาเหตุที่ทำให้เนื้อเพลงของลูกทุ่งติดอกติดใจกับผู้ฟังสาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะเนื้อร้องของเพลงลูกทุ่งจำง่าย ร้องง่าย รวมทั้งเข้าใจง่ายกว่าเพลงพื้นบ้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆ ก็ตามไม่เว้นแม้แต่เรื่องปากท้อง ฝนตก ฟ้าร้อง น้ำท่วม ตลอดจนเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งนอกและในประเทศ เนื้อหาของเพลงลูกทุ่งก็ออกมาใหม่ทันสมัยกับข่าวนั้นทันที ราวกับเป็นสมุดบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้น รวมทั้งเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งสะท้อนภาพชีวิตจริงของคนที่อยู่ในสังคมปรากฏการณ์ธรรมชาติ การเกิดสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจ และการเกิดสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองได้เป็นอย่างดี”
สรุปได้ว่าคุณค่าของเพลงลูกทุ่งไทย (สุรพล วิรุฬห์รักษ์ และรัชดา โชติพานิช, ๒๕๕๑ : ๗๗) จากพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ลูกทุ่งกับเพลงไทย ที่ทรงกล่าวถึงความดี ของเพลงลูกทุ่ง ตอนหนึ่งว่า เพลงลูกทุ่งมีความดีหลายประการ กล่าวคือ
๑. เป็นหลักฐานของข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคมของประเทศ
๒. เป็นที่รวมของภูมิปัญญาและทรัพย์สินทางปัญญาของชาวบ้าน
๓. เป็นเพลงที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย ร้องง่าย จำง่าย
๔. สามารถเข้าถึงสังคมทุกชั้น กระจายได้กว้างไกลถึงชนบททุกแห่ง
๕. มีความเป็นไทยทั้งในเรื่องของภาษา ทำนอง และการขับร้อง
เพลงลูกทุ่งไทยจึงมีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวทั้งในด้านการออกเสียง และการใช้ภาษา นับเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติไทย จึงควรช่วยกันอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งไทย เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยสืบไป...
เรียบเรียงและรวบรวมโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
แหล่งอ้างอิง :
กระทรวงศึกษาธิการ. กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง...สืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย ๑๘ กันยายน ๒๕๓๗. กรุงเทพฯ : สมใจการพิมพ์, ๒๕๓๗.
เรารักกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ Our Beloved HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn. ลายพระหัตถ์เพลงส้มตำ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๖,
จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=10153495723447922&set=pcb.10153495726467922, ๒๕๕๘.
สำนักงานคณะกรรมการด้านวัฒนธรรมแห่งชาติ. กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, ๒๕๓๒.
NIXA. ภาพหาชมยาก สมเด็จพระกนิษฐธิราชเจ้าฯ ทรงตำส้มตำ เมื่อ ๒๕ ปีก่อน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖,
จาก https://board.postjung.com/1144911.
สุรพล วิรุฬห์รักษ์ และรัชดา โชติพานิช. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม ๓๓.
กรุงเทพฯ : โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ๒๕๕๑.
VARIETY VDO. งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๓๒ (จากม้วนวิดีโอเทป). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ๒๒ เมษายน ๒๕๖๖,
จาก https://www.youtube.com/watch?v=MngNrEJ7sZA, ๒๕๖๖.
VARIETY VDO. งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๒ (การแสดงหน้าพระที่นั่ง) พุทธศักราช ๒๕๓๔ (จากม้วนวิดีโอเทป). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๖,
จาก https://www.youtube.com/watch?v=xZI35ann61Y, ๒๕๖๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 1083 ครั้ง)