...

ประวัติและบทบาทหน้าที่
พระราชวังจันทรเกษม
          พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก หรือที่เรียกว่าคูขื่อหน้าในอดีต ทางด้านทิศเหนือ มุมตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับตลาดหัวรอ ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
          เดิมเป็นพระราชวังโบราณฐานะเป็นวังหน้าของกรุงศรีอยุธยาหลักฐานตามพระราชตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณ พ.ศ.๒๑๒๐  ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อเวลาเสด็จลงมากรุงศรีอยุธยาไม่มีที่พักแรมเป็นการเฉพาะ  และเรียกวังใหม่แห่งนี้ว่า วังจันทน์ ตามชื่อ วังจันทน์ ที่พิษณุโลก
          เมื่อสมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดเกล้าให้พระเอกาทศรถเป็นอุปราชประทับที่วังแห่งนี้และเรียกว่า วังจันทน์บวร  มีข้อสันนิษฐานว่าวังจันทน์บวร ได้เปลี่ยนชื่อเป็น พระราชวังบวรสถานมงคล ภายหลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว
พระราชวังนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง ๘ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๒. สมเด็จพระเอกาทศรถ
๓. เจ้าฟ้าสุทัศน์
๔. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๕. ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ)
๖. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
๗. พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
๘. กรมพระราชวังมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ)
          ใน พ.ศ.๒๒๘๗ เกิดเพลิงไหม้วังหน้าแห่งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงโปรดให้ปลูกสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่  สมเด็จกรมพระราชวังมหาเสนาพิทักษ์นับเป็นอุปราชองค์สุดท้ายที่ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ หลังจากนั้นแล้วก็ว่างเว้นจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒
          จวบจนต้นกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มมีการบูรณะฟื้นฟูกรุงเก่าขึ้นอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชวังนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นที่ประทับในเวลาที่เสด็จประพาสกรุงเก่า  และโปรดพระราชทานนามใหม่ว่า วังจันทรเกษม
          ภายหลังมีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล จัดตั้งเป็นมณฑลกรุงเก่า พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ทรงพระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ใน พ.ศ.๒๔๓๙
          ต่อมาพระยาโบราณราชธานินทร์  สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า เป็นผู้ริเริ่ม รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่สำคัญในบริเวณกรุงเก่า นำมาเก็บรักษาไว้ที่โรงม้าพระที่นั่งในพระราชวังจันทรเกษมแห่งนี้ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า โบราณพิพิธภัณฑ์  ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ จึงโปรดให้ย้ายไปจัดแสดงที่พลับพลาจัตุรมุขแทน และตั้งชื่อใหม่ว่า อยุธยาพิพิธภัณฑสถาน เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๗  จึงถือได้ว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในส่วนภูมิภาคแห่งแรกอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

(จำนวนผู้เข้าชม 1141 ครั้ง)


Messenger