ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
กรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย บริเวณที่แม่น้ำสำคัญ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ต่อการเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เป็นชุมทางคมนาคมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าทั้งภายในและภายนอก จนทำให้เมืองอยุธยาเติบโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียในช่วง พุทธศตวรรษที่ 20 - 23
พื้นที่บริเวณเมืองอยุธยาได้ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยมีหลักฐานในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงการสร้างพระเจ้าพแนงเชิงเมื่อ พุทธศักราช 1867 เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นชุมชนบริเวณนี้มีขนาดใหญ่ มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง จึงมีทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ในการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นได้
จนกระทั่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองเมื่อ พุทธศักราช 1893 โดยรวบรวมกลุ่มเมืองที่มีความสัมพันธ์ทางด้านเครือญาติเข้าด้วยกัน อาทิ เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี เป็นต้น ต่อจากนั้นกรุงศรีอยุธยาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ มีการขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง สืบต่อมาถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินสืบต่อกันมา 34 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนที่กรุงศรีอยุธยา จะสิ้นสุดลงใน พุทธศักราช 2310 ทำให้ศูนย์กลางของประเทศไทยต้องย้ายลงมากรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานครตราบจนถึงทุกวันนี้
ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณกรุงศรีอยุธยา
ศูนย์กลางของกรุงศรีอยุธยา คือ ส่วนที่เป็นเกาะเมือง มีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย ตัวเกาะมีกำแพงเมืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง เมื่อแรกสร้างเมืองในสมัยพระเจ้าอู่ทองนั้นกำแพงเมืองทำด้วยดิน มาเป็นกำแพงอิฐสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กำแพงเมืองมีความยาวโดยรอบประมาณ 12.5 กิโลเมตร หนา 5 เมตร สูง 6 เมตร มีป้อมปืนประจำอยู่โดยรอบ จำนวน 16 ป้อม มีประตุเมือง 18 ประตู ประตูช่องกุด 16 ประตู ประตูน้ำ 20 ประตู รวมทั้งสิ้น 99 ประตู
อยุธยาถูกออกแบบให้เป็นเมืองน้ำ ผังเมืองที่สมบูรณ์และสวยงามเกิดจากความรู้จากธรรมชาติอย่างลึกซึ่ง เพราะแม่น้ำหลัก 3 สาย นอกจากจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่เมืองอยุธยาแล้ว เมื่อถึงฤดูฝน ปริมาณน้ำจะมีมาก และไหลหลากลงมามากเกินความจำเป็น ดังนั้นการสร้างเมืองของชาวอยุธยาจึงได้รักษาแม่น้ำลำคลองของเดิมเอาไว้ และมีการขุดคูคลองเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวเหนือใต้ ให้เป็นแนวตรง เชื่อมต่อกับแม่น้ำลำคลองเดิม ทำให้กระแสน้ำระบายออกไปจากตัวเมืองได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้เมืองอยุธยา มีแม่น้ำลำคลองจำนวนมาก เป็นเครือข่ายโยงใยกัน ทั้งนอกเมืองและในเมือง และแนวคลองต่างๆก็แบ่งพื้นที่ให้เป็นลักษณะเกาะขนาดเล็กจำนวนมาก สำหรับเป็นเขตวัด เขตวัง และที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ยังมีแนวถนนที่ขนานไปกับแนวคูคลอง มักสร้างเป็นถนนดิน ถนนอิฐ โดยมีสะพานจำนวนมากสร้างข้ามคลอง มีทั้งสะพานไม้ สะพานอิฐ สะพานก่อด้วยศิลาแลง สะพานสายโซ่ สะพานยก รวมทั้งสิ้นกว่า 30 สะพาน นอกตัวเมืองเป็นที่ต่ำกว่าใช้เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม มีแม่น้ำลำคลองนำน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงอย่างทั่วถึง สองฝั่งน้ำเหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอยุธยาซึ่งจะปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นกลุ่มๆ สลับไปกับวัดวาอาราม
การปกครองสมัยอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาปกครองรูปแบบที่มีกษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดินพระองค์ทรงมอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางปกครองดูแลเมืองลูกหลวงหลานหลวง และเมืองหน้าด่านต่างพระเนตรพระกรรณ ส่วนเมืองประเทศราชมีเจ้านายในราชวงศ์เก่าปกครอง ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาเมืองราชธานี
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครอง ลดทอนอำนาจหัวเมือง ทรงแยกการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายทหาร มีสมุหพระกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ในฝ่ายพลเรือนนั้นยังแบ่งออกเป็น 4 กรม หรือจตุสดมภ์ คือสี่เสาหลัก ได้แก่ กรมเวียงหรือนครบาลทำหน้าที่ปกครองดูแลบ้านเมือง กรมวังหรือธรรมาธิกรณ์ ทำหน้าที่ดูแลกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับงานต่างๆ ในพระราชวังและราชสำนัก กรมคลังหรือโกษาธิบดี ทำหน้าที่ดูแลด้านการค้า และการต่างประเทศกรมนา หรือเกษตราธิการ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเกษตรกรรม ซึ่งรูปแบบการปกครองนี้ใช้สืบต่อมาตลอดสมัยอยุธยา
การปกครองสมัยอยุธยา
สังคมอยุธยามีการแบ่งเป็นชนชั้นต่างๆ แยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ชนชั้นสูงหรือมูลนาย ประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในฐานะพระประมุข ระดับรองลงมาคือ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าเมืองและขุนนาง ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรสามัญชนทำหน้าที่ควบคุมชนชั้นใต้ปกครอง นั่นก็คือ ไพร่และทาส
ไพร่ คือพลเมืองสามัญ เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งกฎหมายกำหนด ให้ไพร่ต้องสังกัดมูลนาย เป็นระบบควบคุมกำลังคน ของทางราชการ ไพร่ถูกเกณฑ์แรงงานไปทำราชการให้หลวงปีละ 6 เดือน แต่หากไพร่คนใดที่ไม่ต้องการ จะถูกเกณฑ์แรงงาน จะต้องจ่ายเงินหรือสิ่งของเพื่อทดแทนแรงงาน เรียกว่าส่วย แรง งานไพร่ จะไม่มีเงินเดือนเป็นค่าตอบ แทน แต่สิ่งที่ไพร่จะได้รับคือการปกป้องคุ้มครองจากมูลนายที่ตนสังกัด
ทาส คือแรงงานของมูลนายตลอดชีวิต อันเนื่องมาจากเหตุผลทาง ด้านสงครามด้านเศรษฐกิจ การสืบสายเลือดทาสนั้นจะถูกเลี้ยงดูโดยมูลนายไปตลอดชีวิต
เศรษฐกิจและการค้า
อาชีพหลักของชาวอยุธยาคือ เกษตรกรรม มีข้าวเป็นผลิตผลที่สำคัญสามารถผลิตได้มากเพียงพอสำหรับพลเมืองของประเทศและยังเป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งที่อยุธยาส่งไปขายตลาดต่างชาติ
เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญของโลก ดังนั้นอยุธยาจึงมีรายได้จากการค้าทั้งจากการส่งสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศและจากการเป็นพ่อค้าคนกลางโดยราชสำนักตั้งพระคลังสินค้าขึ้นมาผูกขาดสินค้าสำคัญบางประเภทซึ่งพ่อค้าต่างชาติ จะต้องซื้อขายกับราชสำนักเท่านั้น
การค้าขายต่างประเทศ อยู่ภายใต้กรมคลังมีออกญาศรีธรรมราชเป็นผู้ควบคุมดูแล ในระยะแรกนั้นมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือกรมท่าขวา สังกัดออกพระจุฬาราชมนตรีขุนนางแขกซึ่งจะดูแลการค้ากับโลกตะวันตก กับกรมท่าซ้ายสังกัดพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ขุนนางจีนซึ่งจะดูแลการค้าฝ่ายตะวันออก ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อมีชาวยุโรปเข้ามาติดต่อค้าขายมากขึ้นจึงเกิดมีกรมท่ากลางขึ้นมาอีกกรมหนึ่งมีขุนนางฝรั่งดูแล
พระมหากษัตริย์และขุนนางมีสำเภาค้าขายกับต่างประเทศ ส่วนมากมีชาวจีนรับจ้างเป็นนายเรือและลูกเรือ สินค้าส่งออกของอยุธยาคือผลิตผลทางการเกษตรเครื่องสังคโลก และผลิตผลจากป่า เช่น งาช้าง หนังสัตว์ ไม้ เครื่องเทศ และแร่ธาตุต่างๆ เป็นต้น
รายได้หลักของราชสำนักอีกส่วนหนึ่งมากจากบรรณาการ ส่วยและภาษีอากรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษีการค้าขายกับต่างประเทศ ด้านการค้าภายในย่านการค้าและตลาดใหญ่น้อยตั้งอยู่ทั้งในเมืองและนอกเมือง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและเปลี่ยนสินค้า
ส่วนตลาดในกรุงศรีอยุธยามี 2 ประเภท คือ ตลาดน้ำขนาดใหญ่มีอยู่ 4 แห่ง และตลาดบกอีกราว 72 แห่ง อยู่นอกเมือง 32 แห่ง อยู่ในเมือง 40 แห่ง ย่านการค้าและตลาดเหล่านี้มีทั้งตลาดขายของสดเช้าเย็น ตลาดขายสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต (ของชำ) และสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านไม่เหมือนกับที่อื่น
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
อยุธยามีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติทั้งประเทศเอเชีย และประเทศตะวันตก ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า มอญ เขมร ลาว ญวน และมลายู ส่วนมากเกี่ยวกันทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้า ในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง เครือญาติ หรือในฐานะเมืองประเทศราช ซึ่งบางครั้งก็ต้องทำสงคราม เพื่อชิงความเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินของกันและกัน
ความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย มักจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในด้านวัฒนธรรมการค้าขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนและเปอร์เซีย ได้เข้ามารับราชการในกรมคลังดูแลเรื่องการค้าขายกับต่างประเทศ ให้ราชสำนักอยุธยา ในงานศิลปกรรมสมัยอยุธยาก็มีอิทธิพลของศิลปะจีน อินเดีย และเปอร์เซีย ปรากฏอยู่
สำหรับประเทศตะวันตกนั้นอยุธยาติดต่อ กับชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกในรัชกาลสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 หลังจากนั้นก็มีชาวตะวันตกชาติอื่นตามเข้ามา ได้แก่ สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น การเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยา จุดมุ่งหมายเพื่อในการค้าขาย และการเผยแพร่คริสต์ศาสนา เป็นสำคัญ พระมหากษัตริย์อยุธยาทรงระมัดระวังในการดำเนินนโยบายทางด้านการต่างประเทศ พระองค์ทรงผูกมิตรกับทุกชาติ ที่เข้ามาติดต่อเพื่อให้มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน
นอกจากผลดีด้านเศรษฐกิจแล้ว การติดต่อกับประเทศตะวันตก ทำให้อยุธยาได้เรียนรู้วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ทางด้านการทหาร การสร้างป้อมและกำแพงเมืองอย่างยุโรป การใช้ปืนในการทำสงคราม ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ การประปาและการจัดสวน เป็นต้น โดยชาวตะวันตกบางกลุ่มได้เข้ามารับราชการรับใช้ราชสำนักเป็นทหารอาสา เป็นทหารรับจ้าง เป็นราชองครักษ์และเป็นวิศวกร
พระมหากษัตริย์ทรงอนุญาตและมอบที่ดิน ให้ชาวต่างชาติตั้งหมู่บ้าน ตั้งสถานีการค้า และสร้างศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมได้อย่างอิสระ หมู่บ้านของชาวต่างชาติส่วนมากตั้งอยู่นอกเมือง มีเฉพาะชาวจีน ชาวฮินดู และแขกเพียงบางกลุ่ม ซึ่งมีความสำคัญใกล้ชิดกับราชสำนักมาแต่เดิมเท่านั้นที่กำหนดให้สร้างบ้านเรือนอยู่ภายในเมือง
ประวัติการดำเนินงานอนุรักษ์เมืองพระนครศรีอยุธยา
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงประกาศอิสรภาพแล้ว ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรี แล้วโปรดให้อพยพชาวอยุธยาไปเป็นกำลังสำคัญอยู่ที่กรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี พุทธศักราช 2325 ได้มีการรื้ออิฐจากกำแพงเมืองและอาคารศาสนสถานจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อนำไปใช้ในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้มั่นคง
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะรื้อฟื้นเมืองอยุธยา จึงโปรดให้มีการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานต่างๆ ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ทรงสร้างพระราชวังจันทรเกษมไว้เป็นที่ประทับ เป็นต้น ถึงแม้การดำเนินงานดังกล่าวจะยังไม่แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ ก็นับว่าเป็นการริเริ่มกลับมาให้ความสำคัญแก่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง
ต่อมาในปี พุทธศักราช 2451 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ให้สงวนที่ดินเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาไว้เป็นสาธรณสมบัติของแผ่นดินห้ามเอกชนถือครอง ทรงมอบให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าการมณฑลกรุงเก่าขณะนั้นดำเนินการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานเมืองอยุธยา และปรับปรุงสภาพภายในพระราชวังโบราณ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะอนุรักษ์พระนครศรีอยุธยาไว้ในฐานะที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรก
พุทธศักราช 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลภายใต้การนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้สนับสนุนให้มีการตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่ดินร้างภายในกำแพงเมืองให้กระทรวงการคลังถือครอง
พุทธศักราช 2478 กรมศิลปากรในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้เริ่มประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่สำคัญในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นโบราณสถานของชาติ จำนวน 69 แห่ง
พุทธศักราช 2481 กระทรวงการคลังโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาให้เอกชนเข้าใช้พื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงเมืองร้างให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการปกครอง
พุทธศักราช 2499 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาหลายแห่ง เช่น วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารพระมงคลบพิตร และภูเขาทอง เป็นต้น แต่ พุทธศักราช 2500 การดำเนินการหยุดชะงักไป เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ และกระทรวงวัฒนธรรมถูกสั่งยุบ
พุทธศักราช 2510 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการสำรวจ ขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและบริเวณใกล้เคียงโดยให้สำนักผังเมืองในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กรมศิลปากร และเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา ร่วมกันรับผิดชอบดำเนินการ
พุทธศักราช 2511 กรมศิลปากรได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 1,000,000 บาท สำหรับดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานที่สำคัญตามโครงการพัฒนาเกาะเมือง
พุทธศักราช 2519 กรมศิลปากรได้ประกาศเขตพื้นที่ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา จำนวน 1,810 ไร่ เป็นโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2519
พุทธศักราช 2525 กรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้นมาดูแลและบริหารจัดการโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนไว้ 1,810 ไร่
พุทธศักราช 2530 เริ่มดำเนินการโครงการจัดทำแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และบริเวณใกล้เคียง
พุทธศักราช 2534 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO มีมติ ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย ให้ขึ้นทะเบียนนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2534 ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา
พุทธศักราช 2536 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามแผนแม่บท โครงการอนุรักษ์และนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2536
พุทธศักราช 2540 กรมศิลปากรประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาในเกาะเมืองเพิ่มเติมอีก 3,000 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 114 ตอนที่ 62 หน้าที่ 40 ลงวันที่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2540 ทำให้พื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา 4,810 ไร่ เป็นเขตโบราณสถาน
พุทธศักราช 2537-2544 กรมศิลปากรดำเนินโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทฯ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาล และภาคเอกชนสนับสนุนเป็นจำนวนเงิน 862.73 ล้านบาท
พุทธศักราช 2548 - ปัจจุบัน ภายหลังจากที่แผนแม่บทได้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการแล้ว กรมศิลปากรได้ยึดแนวทางตามกรอบแผนแม่บทฉบับเดิมในการดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่องและดำเนินการจัดทำแผนแม่บทฉบับใหม่เพื่อการประกาศใช้ต่อไป
(จำนวนผู้เข้าชม 3029 ครั้ง)