สุทธาสวรรย์พรรณเพริศแพร้ว ตอนที่ 2
ภายหลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ รวมไปถึงพระราชวังเมืองลพบุรีก็ถูกทิ้งร้างไร้การดูแลทำนุบำรุงอย่างเมื่อครั้งเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่
.
พระราชวัง และพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างอื่นในรัชกาลของพระองค์ เช่น บ้านหลวงรับราชทูตหรือ บ้านวิชาเยนทร์ วิทยาลัยแห่งเมืองลพบุรี หรือวัดสันเปาโล ต่างก็มิได้รับการดูแล ถูกทิ้งไว้ให้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
.
ในปัจจุบันพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ รวมไปถึงบริเวณด้านหลังพระที่นั่งอันเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพารฝ่ายใน เหลือเพียงส่วนฐานของอาคารเท่านั้น นอกจากเกิดการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาแล้ว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประสงค์ศิลาแลงมาก่อพระเจดีย์ที่วัดสระเกศ ดังปรากฏในชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 4 หมวดโบราณสถาน ความว่า
“...เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ศิลาแลงมาก่อพระเจดีย์ที่วัดสระเกศ มีพระบรมราชโองการดำรัสให้ข้าราชการไปเที่ยวหาศิลาแลงในเมืองร้างเก่า ๆ มา ครั้งนั้นผู้รับสั่งไปเที่ยวรื้อศิลาแลงที่เป็นผนังตึกและกำแพงของวัดของบ้านและตะพานช้างในกรุงเก่าไปทูลเกล้าฯ ถวายเป็นอันมาก ครั้งนั้นจึงพวกหนึ่งมารื้อพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ขนเอาศิลาแลงไปเสียด้วย การที่พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ต้องรื้อดังนี้ก็มีเพียงใน 20 ปีลงมา ก่อนนั้นขึ้นไปไม่มีใครรื้ออะไร...”
.
เหตุการณ์ดังกล่าวคงเป็นหนึ่งในมูลเหตุที่ทำให้พระที่นั่งสุทธาสวรรย์มีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน
.
การศึกษารูปแบบสันนิษฐานเดิมของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จึงเหลือเพียงตัวอักษรเป็นส่วนใหญ่ สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จากเอกสารของไทยนั้นมีเนื้อความอยู่น้อยมาก โดยส่วนใหญ่กล่าวไว้เพียงว่าเป็นพระที่นั่งที่อยู่ภายในพระราชวังเมืองลพบุรีตั้งอยู่ด้านขวาของพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ส่วนในคำให้การขุนหลวงหาวัด และคำให้การชาวกรุงเก่าได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตกแต่งพระที่นั่งองค์นี้ด้วยอ่างแก้วน้ำพุ ความว่า
“...พระราชทานพระนามพระที่นั่งที่ลพบุรีนั้นว่า ดุสิตมหาปราสาท แล้วให้สร้างพระที่นั่งซ้ายขวาดุสิตมหาปราสาทอีก 2 องค์...แล้วให้สร้างอ่างแก้วน้ำพุไว้ในทิศเหนือและทิศใต้ของพระที่นั่งเหล่านั้น...” - คำให้การชาวกรุงเก่า
“...เสวยราชย์อยู่ในกรุงทวาราวดีนั้นได้ ๑๐ ปี แล้วเสด็จไปสร้างเมืองอยู่ที่เมืองเก่าอันหนึ่ง ชื่อเมืองละโว้ จึ่งสมมุตินามเรียกว่าเมืองลพบุรี มีกำแพงแลป้อม แลสร้างปราสาทชื่อดุสิตมหาปราสาท แล้วมีพระที่นั่งฝ่ายขวา ชื่อสุธาสวรรย์ ฝ่ายซ้ายชื่อจันทพิศาล มีพระปรัศซ้ายขวา แล้วมีน้ำพุอ่างแก้ว มีน้ำดั้นน้ำดาษ...” - คำให้การขุนหลวงหาวัด
.
รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับพระราชฐานชั้นในของพระราชวังเมืองลพบุรีถูกบันทึกไว้โดย นิโกลาส์ แชร์แวส นักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาสยาม เมื่อ พ.ศ. 2224 – 2229 โดยได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ไว้ในหนังสือเรื่อง Histoire naturelle et politique du royaume de Siam. จัดพิมพ์โดย l'Imprimerie de Pierre le Mercier เมื่อปี ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231) หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาไทยคือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม แปลเป็นภาษาไทยโดย สันต์ ท.โกมลบุตร ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2506 โดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า บันทึกดังกล่าวทำให้ทราบรายละเอียดของพระที่นั่งองค์สำคัญนี้อย่างมาก
.
“...เมื่อลงบันไดไปสัก 15 หรือ 20 ขั้น ก็ถึงพระราชฐานชั้นที่สาม อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระราชฐานส่วนที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ทองคำแพรวพราวไปทั่วทุกหนทุกแห่งเช่นในพระราชฐานชั้นที่สอง หลังคาประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองคล้ายกับทองคำมาก ยามเมื่อต้องแสงตะวัน ต้องมีสายตาดีมากจึงจะทนทานแสงสะท้อนได้ พระตำหนักหลังนี้มีกำแพงปีกกาล้อมรอบ ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำใหญ่สี่สระ บรรจุน้ำบริสุทธิ์ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดินภายใต้กระโจมซึ่งคลุมกั้น สระน้ำที่อยู่ทางขวามือมีลักษณะคล้ายถ้ำเล็ก ๆ มีพรรณไม้เล็ก ๆ ขึ้นเขียวชอุ่มอยู่เสมอ และพรรณไม้ดอกที่มีกลิ่นหอมตระหลบอบอวลอยู่ตลอดเวลา มีธารน้ำใสจ่ายน้ำให้แก่สระทั้งสี่นี้
ทางเข้าพระราชฐานชั้นนี้อนุญาตให้เฉพาะแต่เหล่ามหาดเล็กในพระองค์ กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ลางคนอันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเท่านั้น ส่วนขุนนางอื่น ๆ หมอบอยู่บนกำแพงแก้วบนพรมผืนใหญ่ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก ขุนนางรับพระราชดำรัสจากบัญชรพอได้ยิน ขุนนางชั้นผู้น้อยหมอบอยู่บนเสื่อเบื้องล่างกำแพงแก้ว ก้มหน้ามองพื้น ลางทีก็อยู่ห่างจากองค์พระเจ้าแผ่นดินตั้งร้อยก้าว
โดยรอบกำแพงแก้วนี้ สร้างเป็นห้องเล็ก ๆ ค่อนข้างสะอาด เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดามหาดเล็กและทหารยาม ไกลออกไปทางซ้ายมือเป็นแปลงพรรณไม้ดอกที่หายาก และน่าดูพิเศษสุดในมัธยมประเทศ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงปลูกด้วยพระหัตถ์เอง ครั้นแล้วก็ถึงอุทยานใหญ่ตรงหน้าพระตำหนัก ปลูกต้นส้มใหญ่ มะนาวและพรรณไม้ในประเทศอย่างอื่นอีก มีใบดอกหนาทึบ แม้ยามแดดร้อนตะวันเที่ยงก็ร่มรื่นอยู่เสมอ ตามสองข้างทางเดินเป็นกำแพงอิฐเตี้ย ๆ มีโคมทองเหลืองติดตั้งไว้เป็นระยะ และตามไฟขึ้นในระยะที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระทับอยู่ ระหว่างหลักโคมสองหลัก มีสิ่งก่อสร้างคล้ายเตาหรือแท่น สำหรับใช้เผาไม้หอมส่งกลิ่นไปไกล ๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุไฉนพระเจ้ากรุงสยามจึงทรงโปรดพระที่นั่งสำราญของพระองค์นัก เหล่าสนมกำนัลก็มีที่พักอาศัยงดงามเป็นตึกแถว ยาวขนานไปกับพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชธิดา ตั้งแต่มุมโน้นจนจรดมุมนี้ และการเข้าออกก็ยากมาก ห้ามแม้กระทั่งพระราชโอรส มีแต่พวกขันทีเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถวายการปรนนิบัติได้...”
.............................................................................
สำหรับตอนต่อไป จะพาทุกท่านเข้าไปสำรวจส่วนต่าง ๆ ของเขตพระราชฐานชั้นในผ่านหลักฐานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน รับรองว่ามีมุมมองใหม่ ๆ ที่หลายท่านยังไม่เคยเห็นอย่างแน่นอนค่ะ จะเป็นอย่างไรติดตามตอนต่อไปได้ ในวันพุธ ที่ 29 มิถุนายน 2565
.............................................................................
อ้างอิง
กรมศิลปากร. หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัท นะรุจ จำกัด, 2560.
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง. เข้าถึงได้จาก : https://vajirayana.org/คำให้การขุนหลวงหาวัด-ฉบับหลวง
ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 4 หมวดโบราณสถาน. เข้าถึงได้จาก : https://vajirayana.org/ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย-ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-ภาคที่-4-หมวดโบราณสถาน
นิโกลาส์ แชร์แวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม : ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2506.
.............................................................................
เรียบเรียงโดย นางสาววสุนธรา ยืนยง นักวิชาการวัฒนธรรม
(จำนวนผู้เข้าชม 1065 ครั้ง)