...

"ชิ้นส่วนประติมากรรมรูปบุคคลนั่งชันเข่า พบที่ด้านทิศใต้ของเมืองศรีเทพ"
"ชิ้นส่วนประติมากรรมรูปบุคคลนั่งชันเข่า พบที่ด้านทิศใต้ของเมืองศรีเทพ"
ในปี 2561 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้ความอนุเคราะห์จากคุณจุน แตงโสภา ชาวบ้านบ้านบึงนาจานมอบโบราณวัตถุที่ขุดพบโดยบังเอิญ จากการขุดสระน้ำแล้วนำดินที่ได้มาถมบ้าน ในราวปี 2543-2544 เป็นชิ้นส่วนประติมากรรมรูปบุคคลนั่งชันเข่า ขนาดกว้าง 20 ซม. ยาว 40 ซม. หนา 15 ซม. ตำแหน่งที่พบอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองศรีเทพ อยู่ห่างประมาณ 700 เมตร
ประติมากรรมชิ้นนี้สลักจากหินทรายสีเขียว เนื้อละเอียด สภาพไม่สมบูรณ์ เป็นประติมากรรมรูปเคารพประทับนั่งในท่ามหาราชลีลา (นั่งยกชันเข่าขวาขึ้น ส่วนขาซ้ายวางพับราบบนพื้น) หัตถ์ขวาทำปางประทานพร นุ่งผ้านุ่งสั้นเหนือพระชานุ รูปแบบของผ้านุ่งไม่ปรากฏริ้วผ้า ขอบผ้านุ่งบริเวณพระโสณีกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และมีชายผ้าอยู่ทางด้านหลัง ลักษณะของชายผ้ามีการแกะสลักริ้วผ้าบาง ๆ เสมือนกับของจริง นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่า มีการแกะสลักในส่วนของกล้ามเนื้อน่องอย่างชัดเจน แสดงถึงการเลียนแบบลักษณะทางกายวิภาคของร่างกายมนุษย์ได้เหมือนจริง
เมื่อพิจารณาลักษณะผ้านุ่งพบว่ามีความคล้ายกับผ้านุ่งของกลุ่มเทวรูปรุ่นเก่าที่พบในเมืองศรีเทพ โดยเฉพาะการปรากฏชายผ้าหางปลาทางด้านหลังนั้นมีลักษณะแบบเดียวกับประติมากรรมเทวรูปรุ่นเก่าบางองค์ เช่น พระวิษณุยืนเอียงกายแบบตริภังค์จากเมืองศรีเทพ (ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ดังนั้นประติมากรรมชิ้นนี้สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-13
แล้วบุคคลท่านนี้คือใคร???
ประติมากรรมที่มีท่านั่งชันเข่าแบบนี้พบอยู่หลายองค์ด้วยกัน เช่น ท้าวกุเวร ดร.อนุรักษ์ ดีพิมาย (อดีตนักโบราณคดีอุทยานฯ) ได้สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระอัยนาร์ เทพผู้รักษาหมู่บ้านและสระน้ำ โดยเปรียบเทียบจากประติมากรรมพระอัยนาร์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ซึ่งมีการระบุว่าพบที่เมืองศรีเทพ
สำหรับแอดมินก็ตอบได้ยากเช่นกันค่ะ ว่าประติมากรรมชิ้นนี้เป็นใคร แล้วทุกท่านล่ะคะ คิดว่าเป็นใคร มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ค่ะ
**ในคอมเม้น แปะลิงก์ดาวโหลดวิทยานิพนธ์ของดร.อนุรักษ์ไว้นะคะ ไปตามอ่านกันได้ค่ะ

(จำนวนผู้เข้าชม 391 ครั้ง)