...

พิพิธ(สาระ)ภัณฑ์ ตอน ขวานหินขัดรูปจงอยปากนก หลักฐานการติดต่อของผู้คนจากใต้สู่เหนือ

         พิพิธ(สาระ)ภัณฑ์ ตอน ขวานหินขัดรูปจงอยปากนก: หลักฐานการติดต่อของผู้คนจากใต้สู่เหนือ

         ขวานหินขัด (polished stone axe) หมายถึง เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยการนำหินจากธรรมชาติมากะเทาะ โกลนให้เป็นรูปร่าง และขัดฝนผิวจนเรียบ ใช้สำหรับแล่ สับ ตัด ฟัน ผ่า ขุด เป็นอาวุธในการล่าสัตว์ และเป็นของอุทิศในหลุมฝังศพ โดยการเข้าด้ามไม้หรือไม่เข้าด้ามก็ได้ หลายพื้นที่เรียกขวานหินขัดว่า “ขวานฟ้า” เนื่องจากมีความเชื่อว่าตกลงมาจากฟ้าขณะที่ฟ้าผ่า ในภาคเหนือเรียกขวานหินขัดแบบมีบ่าว่า ขวานฟ้า และเรียกขวานหินขัดแบบไม่มีบ่าว่า เสียมตุ่น

         ขวานหินขัดมีรูปแบบที่หลากหลายโดยแบ่งตามลักษณะส่วนคม ดังนี้ 

         1) ขวานหินขัดแบบ axe มีลักษณะส่วนคมลาดเท่ากัน ประกอบด้วยรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ เช่น รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู รูปทรงสามเหลี่ยม และรูปทรงมีบ่า

         2) ขวานหินขัดแบบ adze  มีลักษณะส่วนคมลาดด้านเดียว และ

คมลาดสองด้านไม่เท่ากัน ประกอบด้วยรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ เช่น รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู รูปทรงสามเหลี่ยม รูปทรงมีบ่า และรูปทรงพิเศษแบบจงอยปากนก

         ขวานหินขัดรูปจงอยปากนก มีลักษณะรูปทรงห้าเหลี่ยม แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 

         1) มีลักษณะรูปทรงห้าเหลี่ยม ส่วนปลายมีการลับคมทั้งด้านซ้ายและขวามาบรรจบกันตรงกลางเป็นเส้นแบ่งคมชัดเจน มีลักษณะคล้ายจงอยปากนก เมื่อมองจากมุมมองด้านบนเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ

         2) ส่วนคมมีลักษณะคล้ายจงอยปากนก แต่เส้นแบ่งคมตรงกลางหายไป

         3) มีลักษณะรูปทรงห้าเหลี่ยม ส่วนคมทั้งด้านซ้ายและขวาลาดเอียงไปตามแนวยาวของตัวขวาน ส่วนคมไม่ได้เป็นสันมุมเหมือนแบบที่ 1 และมีสันยาวบริเวณตัวขวาน

         พบหลักฐานของขวานหินขัดรูปจงอยปากนกในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศไทย ดังนี้ 

         จังหวัดยะลา พบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำหินปูน อำเภอเบตง จำนวน 1 ชิ้น และอำเภอบันนังสตา จำนวน 2 ชิ้น 

         จังหวัดปัตตานี ไม่ทราบที่มา จำนวน 4 ชิ้น 

         จังหวัดสงขลา พบที่บ้านพลีควาย อำเภอสทิงพระ จำนวน 1 ชิ้น ถ้ำหงัง อำเภอสะบ้าย้อย จำนวน 1 ชิ้น และไม่ทราบที่มา จำนวน 1 ชิ้น

         จังหวัดสตูล พบที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาปาโต๊ะโระ อำเภอควนโดน ฝังร่วมกับโครงกระดูก กำหนดอายุ 3,000 ปีมาแล้ว จำนวน 1 ชิ้น 

         จังหวัดพัทลุง พบที่แหล่งโบราณคดีโคกโพธิ์ อำเภอเมืองพัทลุง จำนวน 2 ชิ้น โกลน จำนวน 1 ชิ้น และถ้ำเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จำนวน 1 ชิ้น

         จังหวัดตรัง พบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก อำเภอปะเหลียน จำนวน 2 ชิ้น และถ้ำหินปูน อำเภอเมืองตรัง จำนวน 1 ชิ้น

         จังหวัดพังงา พบที่แหล่งโบราณคดีแหลมป้อม อำเภอตะกั่วป่า จำนวน 1 ชิ้น และแหล่งโบราณคดี  บ้านช้างเชื่อ อำเภอปะกง จำนวน 1 ชิ้น

         จังหวัดนครศรีธรรมราช พบที่แหล่งโบราณคดีคลองเขาแก้ว อำเภอลานสกา จำนวน 1 ชิ้น และที่เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช จำนวน 1 ชิ้น

         จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบที่บ้านนา คลองท่าใหญ่ อำเภอไชยา จำนวน 1 ชิ้น บ้านในมุย และบ้านบางเคียน อำเภอบ้านตาขุน จำนวน 2 ชิ้น และพบที่ที่ดินของนายเสวก บุญรัตน์ อำเภอเวียงสระ จำนวน  1 ชิ้น

         จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบจากการสำรวจที่แหล่งโบราณคดีหุบผึ้ง อำเภอหัวหิน จำนวน 3 ชิ้น

         จังหวัดราชบุรี พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านนาขุนแสน อำเภอสวนผึ้ง จำนวน 1 ชิ้น และพบจาการสำรวจ ที่เก็บรักษาโดยชาวบ้าน จำนวน 2 ชิ้น

         เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไม่ทราบที่มา จำนวน 2 ชิ้น

         แหล่งโบราณคดีบ้านนาขุนแสน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี สภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบจนถึงลอนลูกคลื่นลอนลาด ลาดลงสู่ห้วยคลุมลำน้ำสาขาของแม่น้ำภาชี ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ผลจาการศึกษาของชาติชาย ร่มสนธิ์ และคณะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในโครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์กับการใช้โลหะในบริเวณจังหวัดราชบุรี และบริเวณใกล้เคียง พบขวานหินขัดรูปจงอยปากนกจากการขุดค้นทางโบราณคดี จำนวน 1 ชิ้น โดยพบร่วมกับขวานหินขัดรูปทรงต่าง ๆ เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดหิน และถ่าน การกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 มีอายุระหว่าง 2,140±420 ปีมาแล้ว และที่เก็บรักษาโดยชาวบ้าน จำนวน 2 ชิ้น

         ขวานหินขัดรูปจงอยปากนกที่พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านนาขุนแสน มีขนาดกว้าง 7 เซนติเมตร ยาว 21 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร มีลักษณะรูปทรงห้าเหลี่ยม ส่วนปลายคมมีการลับคมทั้งด้านซ้ายและขวามาบรรจบกันตรงกลางเป็นเส้นแบ่งคมชัดเจน มีลักษณะคล้ายจงอยปากนก ทำจากหินควอทซ์ไซต์ (quartzite) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ห้องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

         และที่เก็บรักษาโดยชาวบ้าน ชิ้นที่ 1 มีขนาดกว้าง 5.7 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับขวานหินขัดรูปจงอยปากนกที่พบจากการขุดค้น ชิ้นที่ 2 มีขนาดกว้าง 3.7 เซนติเมตร ยาว 11 เซนติเมตร หนา 2.5 เซนติเมตร มีส่วนคมทั้งด้านซ้ายและขวาลาดเอียงไปตามแนวยาวของตัวขวาน ส่วนคมไม่ได้เป็นสันมุมเหมือนแบบแรก และมีสันยาวตลอดตัวขวาน

         ด้วยลักษณะส่วนคมที่คล้ายจงอยปากนกที่ต่างไปจากขวานหินขัดทั่วไป นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าขวานหินขัดจงอยปากนก มีหน้าที่ใช้งานในหลายบทบาท 1) หน้าที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องเข้าด้ามไม้ เนื่องจากขนาดที่ยาว และมีน้ำหนักถ่วงพอเหมาะ จึงใช้เป็นเครื่องมือขุด เช่น ขุดดิน พรวนดิน ขุดหาพืชมีหัวในดิน (เผือกและมัน) และหน่อไม้ 2) หน้าที่ใช้งานในพิธีกรรมการฝังศพ โดยพบฝังร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ เช่น ที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาโต๊ะโระ จังหวัดสตูล และแหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก จังหวัดตรัง (ไม่มีร่องรอยใช้งาน) 3) หน้าที่ในการเป็นวัตถุแลกเปลี่ยน หรือเป็นของขวัญ เป็นหลักฐานของการเคลื่อนย้ายและติดต่อของกลุ่มคนจากหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแผ่นดินใหญ่ โดยพบขวานหินขัดรูปจงอยปากนกกระจายตัวบริเวณหมู่เกาะ ได้แก่ อินโดนีเซีย เซเลเบส ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และปรากฏบนแผ่นดินใหญ่ที่มาเลเซีย ภาคใต้ และภาคตะวันตกของประเทศไทย พบขึ้นมาถึงจังหวัดราชบุรี (ในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ อาจจะยังไม่พบบก็เป็นได้) การพบขวานหินขัดรูปจงอยปากนกในปริมาณที่ไม่มากนักและการมีรูปแบบพิเศษต่างจากขวานหินขัดแบบสามัญ และการพบร่วมกับโครงกระดูกและไม่มีร่องรอยใช้งาน จึงสรุปได้ว่าขวานหินขัดรูปจงอยปากนกนั้นผลิตขึ้นพิเศษเพื่อใช้แลกเปลี่ยน เพื่อใช้เป็นของอุทิศฝังร่วมกับศพเพื่อแสดงสถานะทางสังคมก็เป็นได้

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 697 ครั้ง)


Messenger