...

เครื่องประดับที่โคกพลับ
#พิพิธ(สาระ)ภัณฑ์ ตอน #เครื่องประดับที่โคกพลับ
เครื่องประดับ คือ วัตถุที่ใช้ตกแต่งร่างกายมนุษย์ เพื่อความสวยงาม เพื่อแสดงรสนิยม และเพื่อแสดงสถานะทางสังคมนอกจากนี้เครื่องประดับยังบ่งบอกถึงความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม
โดยแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประเภทแหล่งฝังศพ ในหลาย ๆ แห่งพบหลักฐานประเภทเครื่องประดับ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเครื่องประดับเหล่านั้น นอกจากเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแล้วยังเป็นเครื่องอุทิศให้กับผู้ตาย เป็นการแสดงออกถึงความผูกพัน และการแสดงฐานะทางสังคมอีกด้วย
แหล่งโบราณคดีโคกพลับ ตั้งอยู่ที่ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยโลหะที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี จากการสำรวจและขุดค้นของนักโบราณคดีพบหลักฐาน ได้แก่ ภาชนะดินเผา โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ
เครื่องประดับที่พบมีลักษณะพิเศษต่างจากที่อื่น อาทิ กำไลหิน กำไลเปลือกหอย กำไลกระดองเต่าทะเล และต่างหูหิน โดยเครื่องประดับต่าง ๆ มีรูปแบบดังนี้
1) กำไลหิน มีลักษณะคล้ายจักร ตรงกลางยกขอบสูงเป็นสัน ทุกวงจะทำขึ้นอย่างประณีต มีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ขนาดใหญ่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร มีทั้งที่สวมอยู่ในข้อมือของโครงกระดูกและวางรวมไว้ในหลุม
2) กำไลเปลือกหอย ทำจากเปลือกหอยมือเสือ ลักษณะเป็นรูป 6 แฉก มีมุมมน มีมุมหนึ่งหักหายไป เป็นกำไลที่มีน้ำหนักมาก พบสวมใส่ที่ข้อมือของโครงกระดูก
3) กำไลกระดองเต่าทะเล ทำจากส่วนท้องของกระดองเต่าทะเล ฝนขัดเป็นรูปแฉกคล้ายดาวมีลักษณะรูปทรงที่พิเศษ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบกำไลรูปดาวหกแฉกนี้สวมอยู่ที่ข้อมือของโครงกระดูกมนุษย์เพศชาย ด้วยรูปทรงแล้วไม่เหมาะแก่การสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องประดับที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในอุทิศให้แก่ผู้ตาย
4) ต่างหูหิน ลักษณะเป็นต่างหูทรงรีและทรงกลมแบน เจาะรูตรงกลาง และมีร่องผ่าไปสู่ขอบนอก พบสวมใส่ที่หูทั้งสองของโครงกระดูก ทำจากหินสองประเภทคือ หินเนฟไฟรต์และหินคาร์เนเลียน หินเนฟไฟรต์มีสีเขียวคล้ายหยก และหินคาร์เนเลี่ยนมีสีส้ม ซึ่งไม่พบแหล่งหินเหล่านี้ที่ราชบุรี ทำให้สันนิษฐานได้ว่าชุมชนบริเวณนี้มีการติดต่อเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรกับดินแดนอื่น ซึ่งได้แก่จีน และอินเดีย โดยรูปแบบของต่างหูนั้นมีความคล้ายคลึงกับต่างหูที่พบในประเทศจีน สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก
หลักฐานประเภทเครื่องประดับ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึง ความเชื่อเกี่ยวกับโลกหน้า การติดต่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรกับชุมชนอื่น รูปแบบของศิลปะ เทคโนโลยีการผลิต รวมถึงบ่งบอกสถานะทางสังคมของโครงกระดูกหรือผู้สวมใส่
เรียบเรียงและศิลปกรรม : นางสาวกศิภา สุรินทราบูรณ์ นิสิตฝึกงาน
จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา











(จำนวนผู้เข้าชม 2204 ครั้ง)