...

เจ็ดเสมียน

    “เจ็ดเสมียน” ชื่อนี้มีที่มา

           “เจ็ดเสมียน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.โพธาราม  จ.ราชบุรี   ชื่อนี้ปรากฎอยู่ในหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นตำนานบอกเล่า  เช่น ในตำนานพระปฐมเจดีย์ ฉบับพระยาราชสัมภารากรและฉบับตาปะขาวรอด  ได้บันทึกเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านเรื่องพระยากง พระยาพาน  โดยได้กล่าวถึง “บ้านเจ็ดเสมียน” เมื่อครั้งที่พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยให้บุตรบุญธรรมคือพระยาพาน ซึ่งเป็น ผู้มีบุญญาธิการมาก ลงมาซ่องสุมผู้คนตั้งอยู่ที่ “บ้านเจ็ดเสมียน”                                   

            ความเป็นมาของชื่อบ้าน  “เจ็ดเสมียน” ปรากฏเรื่องราวเล่าขานเป็นตำนานท้องถิ่นสืบต่อกันมาว่าในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมไพร่พลออกจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางผ่านมายังเมืองราชบุรี  แล้วโปรดให้รี้พลพากันข้ามแม่น้ำแม่กลองไปตั้งค่ายพักแรมบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ จากนั้นดำริให้ป่าวประกาศรับสมัครชายชาติทหารเพื่อร่วมรบกับข้าศึก เช้าวันรุ่งขึ้นมีผู้คนมาสมัครเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงโปรดให้รับสมัครผู้รู้หนังสือมาเป็นเสมียนรับลงทะเบียนเพิ่มเติม ปรากฏว่ามีคนมาอาสาทำหน้าที่ดังกล่าวถึง ๗ คน และทำการบันทึกรายชื่อทหารได้ทันพลบค่ำพอดี  จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “เจ็ดเสมียน”   

            ในนิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่น ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๗๖  เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรัง ได้เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของย่านเจ็ดเสมียน ว่าเจ็ดเสมียนเป็นย่านใหญ่ เดิมมีจระเข้อยู่เป็นจำนวนมาก แม้พระมหากษัตริย์จะใช้เสมียนถึงเจ็ดคนมาทำการจดก็ยังไม่พอ  

    “...ถึงบางกระไม่เห็นกระปะแต่บ้าน    เป็นภูมิฐานทิวป่าพฤกษาไสว                                         โอ้ผันแปรแลเหลียวให้เปลี่ยวใจ          ถึงย่านใหญ่เจ็ดเสมียนเตียนสบาย                              ว่าแรกเริ่มเดิมทีมีตะเข้                        ขึ้นผุดเร่เรียงกลาดไม่ขาดสาย   
       จอมกระษัตริย์จัดเสมียนเขียนเจ็ดนาย มาจดหมายมิได้ถ้วนล้านกุมภา...”

           ชื่อ“เจ็ดเสมียน” ปรากฏอยู่ใน “กลอนเพลงยาวนิราศเรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง”  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  เมื่อคราวที่เสด็จไปรับศึกพม่าที่กาญจนบุรีปลายพ.ศ. ๒๓๒๙  ทรงกล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินรวมทั้ง “เจ็ดเสมียน” ดังความในพระราชนิพนธ์ว่า  

  “...ถึงท่าราบเหมือนที่ทาบทรวงถวิล   ยิ่งโดยดิ้นโหยหวนครวญกระสัน                               
   ด้วยได้ทุกข์ฉุกใจมาหลายวัน    จนบรรลุเจ็ดเสมียนตำบลมา                                               ลำลำจะใคร่เรียกเสมียนหมาย    มารายทุกข์ที่ทุกข์คะนึงหา                                                 จึงรีบเร่งนาเวศครรไลคลา   พอทิวากรเยื้องจะสายัณห์...”

            นอกจากนี้ยังมีนิราศซึ่งเป็นลักษณะของการพรรณนาการเดินทางอีกหลายเรื่องที่กล่าวถึง เจ็ดเสมียน ในความหมายของเสมียนจำนวนเจ็ดคน เช่น โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยแขวงเมืองกาญจนบุรี ของพระยาตรัง, โคลงนิราศทวายของพระพิพิธสาลี, ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ, นิราศไทรโยค พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเรื่องเที่ยวไทรโยคคราวสมเด็จพระราชปิตุลา บรมวงศาภิมุข เสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ฯ

             ในพระราชนิพนธ์ “ระยะทางเสด็จประพาสไทรโยคในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งแรก ปีฉลู พ.ศ.๒๔๒๐ ได้กล่าวถึง “เจ็ดเสมียน” ว่า                                                                                          

         “...วัดเจ็ดเสมียน ลานวัดกว้างใหญ่ต้นไม้ร่มดูงามนัก เรือลูกค้าจอดอาศัยอยู่ที่นี่มาก บ้านเจ็ดเสมียนนี้เป็นที่ชื่นชอบของนักเลงกลอน  พอใจจะอยากไหว้วานให้เสมียนมาจดแทบทุกฉบับ ในนิราศพระพุทธยอดฟ้าก็ว่าถึงเจ็ดเสมียนนี้เหมือนกัน...”

             รายงานทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าวัดเจ็ดเสมียนเป็นวัดราษฎร์  ก่อตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๐๐  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้มีชุมชนเก่าแก่ และที่มาของชื่อวัดอาจตั้งตามชื่อหมู่บ้านซึ่งมีอยู่มาแต่เดิม  ตามลักษณะของการตั้งชื่อสถานที่ ชื่อที่ตั้งขึ้นแต่ละยุคสมัยจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่ปรากฏในสมัยใดสมัยหนึ่ง  ชื่อจึงเป็นเครื่องหมายบอกเรื่องราวภูมิหลังเพื่ออ้างอิงการรับรู้ร่วมกัน  ชื่อบ้าน “เจ็ดเสมียน” สะท้อนแนวคิดในเรื่องชื่อบ้านนามเมืองหรือภูมินามพื้นบ้าน  เป็นการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนผ่านการตั้งชื่อ   ในสมุดราชบุรีปี ๒๔๖๘  ระบุว่า“เจ็ดเสมียน”เคยเป็นที่ตั้งของอำเภอมาก่อน  โดยอำเภอโพธารามเดิมเรียกว่า อำเภอเจ็ดเสมียน ต่อมาในปี ๒๔๓๘ (ร.ศ.๑๑๔)  จึงได้ย้ายขึ้นไปตั้งที่ตำบลโพธารามทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง   ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินซ้อมรบเสือป่าที่จังหวัดราชบุรี  และใช้พื้นที่เจ็ดเสมียนในการซ้อมรบด้วย  

          จากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า “เจ็ดเสมียน” มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่อดีตและชื่อบ้านเจ็ดเสมียนอาจมีที่มาจากตำนานและคำบอกเล่าซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง   ทั้งนี้หากชื่อบ้าน “เจ็ดเสมียน” ตั้งขึ้นมาจากตำนานบอกเล่า เรื่องเสมียนเจ็ดคนในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว  แสดงว่าคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เจ็ดเสมียนและบริเวณใกล้เคียงนั้น  นอกจากจะมีใจจงรักภักดีสมัครไปทำสงครามเป็นจำนวนมากแล้ว  จะต้องมีผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เพราะตำแหน่ง 

“เสมียน” ที่ปรากฏในตำราจินดามณี  กำหนดไว้ว่าใครจะเป็นเสมียนจะต้องรอบรู้ ๘ สิ่งในเรื่องของหลักภาษาและวรรณยุกต์                                                                                      

            “...เปนเสมียนรอบรู้               วิสัญช์

            พินเอกพินโททัณฑ                ฆาตคู้

            ฝนทองอีกฟองมัน                  นฤคหิต 

            แปดสิ่งนี้ใครรู้                      จึงให้เป็นเสมียน...”

 

เรียบเรียงโดย   ปราจิน  เครือจันทร์   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

เอกสารอ้างอิง

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง,หลวงโสภณอักษรกิจ พิมพ์สนองพระคุณ ท่านเจ้าพระยารามราฆพ ฯ ในงานฉลองสุพรรณบัฎ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๔.   

กรมศิลปากร,จินดามณี พิมพ์แจกในงานศพคุณหญิงพิรุฬห์พิทยาพรรณ ณ วัดไตรมิตตวิทยาราม ๑๕ เมษายน ๒๔๘๕ ,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๘๕.

กรมศิลปากร, นิราศไทรโยค พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์,พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางอนงค์ สิงหศักดิ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๘.

กรมศิลปากร, พระบวรราชนิพนธ์เล่ม ๑, กรุงเทพฯ :กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร,๒๕๔๕.

กรมศิลปากร,วรรณคดีพระยาตรัง. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บรรณาคาร, ๒๕๑๕

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,มูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยามชุมนุมพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ,กรงเทพฯ:บรรณกิจ,๒๕๔๓.

สมุดราชบุรี พ.ศ.๒๔๖๘ ,กรุงเทพฯ:สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย,๒๕๕๐.

http:// www.chetsamian. go.th

ดาวน์โหลดไฟล์: เจ็ดเสมียน.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 6786 ครั้ง)