...

ราชบุรีก็มีพระราชวังบนเขา
 
            จากตัวเมืองจังหวัดราชบุรีไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร มีเขาย่อมๆ ลูกหนึ่ง   ชื่อเขา“สัตนารถ” หรือ “สัตตนารถ”  (มาจาก สตฺต + นาถ = สตฺตนาถ > สัตตนารถ อ่านว่า สัด-ตะ-หฺนาด  แปลว่า  “ที่พึ่งของสัตว์”)  หรือที่ชาวเมืองราชบุรีเรียกกันว่า “เขาวัง”  เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ทรงสร้างพระราชวังไว้บนเขาลูกนี้  
             เดิมบนเขาสัตนารถเป็นวัด  มีโบสถ์ ศาลา พระเจดีย์องค์หนึ่งและวิหารพุทธไสยาสน์อยู่เชิงเขาด้านตะวันออก ซึ่งเขานี้ปรากฏชื่อในพระราชนิพนธ์  ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี  โดยในลิลิตฯ บรรยายถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่กรมหมื่นศักดิพลเสพได้เสด็จยกทัพไปขัดทัพพม่าที่เมืองกาญจนบุรี ปี ๒๓๖๓  ขณะประทับอยู่ที่เมืองราชบุรีนั้นเกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในค่าย  พระองค์จึงทรงนำเหล่าทหารไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองราชบุรี หนึ่งในนั้น คือ พระประทมบนเขาสัตนารถ  ซึ่งการเสด็จไปนมัสการพระประทมในครั้งนั้น ยังเรียกเขานี้ว่า เขาสัตนารถและยังมีวิหารครอบพระประทมอยู่ ดังความในลิลิตฯว่า 
       “...รุ่งขึ้นบ่ายลมตก ชวนกันยกไปบนเขา สัตนารถเนาวิหาร  นมัสการพระประทม  ปักธงลมอุทิศถวาย  ห้อยเรียวปลายจระเข้  ต้องลมเร่ปลิวสะบัด ดูโสมนัสน่าศรัทธา...”
              ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระราชวังที่เขาลูกนี้ เนื่องจากพระองค์เคยเสด็จประพาสเขาสัตนารถนี้เมื่อปี ๒๔๑๔ และทรงเห็นว่าพอจะเป็นวังได้   จึงทรงคิดขอแลกเปลี่ยนสร้างวัดขึ้นใหม่ ๑ วัดบริเวณริมน้ำให้พระสงฆ์อยู่ได้  เพราะเห็นว่าถ้าวัดจะอยู่บนเขา ไกลบ้านเรือนราษฎร  พระสงฆ์ก็ไม่มีใครมาอยู่  จึงทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์งาม วัดร้างซึ่งอยู่ใกล้กับทำเนียบสมุหเทศาภิบาลทางทิศใต้ในขณะนั้น  และโปรดให้ชะลอพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐจากวัดเดิมมาประดิษฐานด้วย พระราชทานนามวัดว่า “วัดสัตนารถปริวัตร” 
             พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี  นายงานเมืองเพชรบุรีซึ่งเคยอำนวยการสร้างพระราชวังบนพระนครคีรี มาดำเนินการสร้างพระราชวังบนเขาสัตนารถ  โดยใช้ดินระเบิดทลายยอดเขาเพื่อปรับระดับพื้นให้เรียบต่ำกว่าระดับเดิม ๙ เมตร ทำทางขึ้นเป็น ๒ ทาง ที่เชิงเขาด้านตะวันออกมีโรงทหารรักษาพระองค์ ๑ โรง ส่วนอีกฟากหนึ่งมีโรงรถม้า ตรงทางสองแพร่งมีกระโจมสำหรับทหารยามรักษาการณ์ ต่อขึ้นไปตรงทางลัดมีโรงทหารมหาดเล็กสร้างเป็นแถวยาวหลังหนึ่ง  เหนือขึ้นไปเป็นทิมดาบตำรวจอยู่ตรงหน้าท้องพระโรง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ต่อจากท้องพระโรงเข้าไปเป็นพระที่นั่งเป็นอาคารชั้นเดียว มีสองหลังเรียงกันตามแนวยาว หลังหน้าเป็นท้องพระโรง หลังในเป็นที่ประทับ ที่มุมพระที่นั่งทั้งสองมีห้องแบ่งย่อยออกไปจำนวน ๘ ห้อง พระที่นั่งทั้งสองหลังนี้เชื่อมติดต่อกัน  โดยมีทางเดินเชื่อมถึงกันตลอด  
             พระราชวังบนเขาสัตนารถนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวมิได้พระราชทานนามให้  พระองค์เคยเสด็จประทับและใช้เป็นสถานที่รับราชทูตโปรตุเกสที่เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๐   โดยครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้กราบบังคมทูลขอให้เสด็จออกรับราชทูตโปรตุเกสที่พระราชวังแห่งนี้  เพื่อจะได้เป็นเกียรติยศเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จออกรับเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศสที่เมืองลพบุรี  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า  พระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่นี้  พอที่จะรับแขกเมืองได้  เนื่องจากมีท้องพระโรงที่ใหญ่โตพอสมควร จึงโปรดเกล้าฯให้เตรียมรับราชทูตโปรตุเกส เหมือนรับรองราชทูตที่กรุงเทพฯ ทุกประการ ตามความในพระราชนิพนธ์ ระยะทางเสด็จประพาสไทรโยคฯเมื่อปี ๒๔๒๐  ดังนี้
           “...เรามาเห็นที่ก็เห็นว่าสมควรพอจะรับแขกเมืองได้ ดูเหมือนจะกว้างกว่าท้องพระโรง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้ารับเซฟเวลเลีย เดอโชมอนด์  แต่ก่อนเสียอีก แล้วเมืองโปรตุคอลนี้ ก็เป็นพระราชไมตรีกับกรุงสยามช้านาน ...ครั้งนี้รับโปรตุเกสที่เมืองราชบุรีก็เห็นพอจะได้เป็นการดีอยู่ จึงได้ตระเตรียมการที่จะรับให้ได้ เต็มตำราทุกอย่าง มิให้ขาดเหลือ ตามแบบอย่างเช่นรับที่กรุงเทพฯ...”
          พระราชวังที่เมืองราชบุรีแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประทับเพียงครั้งเดียว  หลังจากเสด็จประทับรับราชทูตโปรตุเกสแล้วก็มิได้เสด็จประทับอีกเลย  เนื่องจากทรงมีที่ประทับที่อื่น ๆ เช่น พระราชวังบางปะอิน  อีกทั้งพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็มิได้เสด็จประทับ  ดังหลักฐานใน “สมุดราชบุรี ปี ๒๔๖๘”  ที่ระบุว่า พระราชวังชำรุดทรุดโทรมมาก และมิได้ใช้เป็นที่ประทับอีกแล้ว  พระราชวังจึงถูกทิ้งให้รกร้าง มีสภาพเป็นป่ารกชัฏมิได้มีการซ่อมแซม   จนกระทั่งพระครูภาวนานิเทศได้เดินทางมาปฏิบัติธุดงควัตร ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมพร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่   ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี ๒๔๗๓  และตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดเขาวัง”  สิ่งก่อสร้างสำคัญเมื่อครั้งเป็นพระราชวัง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน   ได้แก่ กระโจมทหารรักษาการณ์  โรงทหารมหาดเล็ก ทิมดาบตำรวจ และตึกท้องพระโรง   สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์   เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษา เรียนรู้ และทำให้ชาวเมืองราชบุรีเกิดภาคภูมิใจว่า จังหวัดราชบุรีก็มีพระราชวังที่ตั้งอยู่บนเขา   
 
เรียบเรียงโดย  ปราจิน  เครือจันทร์   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี   
เอกสารอ้างอิง                                                                                                                            
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,พระเจ้าบรมวงศ์เธอ.ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๖ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณ  พิพรรฒธนากร,๒๔๖๖.                                                   
พระราชนิพนธ์ระยะทางเสด็จประพาสไทรโยคในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ.๒๔๒๐)                                                       
พระบวรราชนิพนธ์ เล่ม ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๕  (กรุงเทพฯ:สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์,กรมศิลปากร,๒๕๔๗)                                                                             
แหล่งโบราณคดีและโบราณสถานจังหวัดราชบุรี ฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ ๑ ราชบุรี.                                                         
สมุดราชบุรี ๒๔๖๘, กรุงเทพฯ : สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น - ไทย ด้วยความร่วมมือของสถาบันจักรวาลวิทยา, ๒๕๕๐.                                                                         
ข้อมูลออนไลน์ https ://dhamtara.com
 
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1989 ครั้ง)


Messenger