...

อักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ในจังหวัดราชบุรี

        อักษรพระปรมาภิไธยย่อ คืออักษรที่ย่อจากพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ให้เหลือเพียง ๓ อักษร  สำหรับอักษรพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มาจากคำว่า “มหาจุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช” จึงมีอักษรพระปรมาภิไธยว่า  "จ.ป.ร.”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตามสถานที่ต่างๆ ได้ทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ไว้  อันเป็นเครื่องหมายการเสด็จเยือนของพระองค์ ซึ่งได้เดินทางไปในที่นั้นๆ  

          ราชบุรีเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีถึง ๑๐ ครั้ง  โดยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจและเป็นการเสด็จประพาสต้น  มีการพบจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ  ซึ่งนับเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จังหวัดราชบุรีนี้เช่นกัน  จารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร  ในจังหวัดราชบุรีพบทั้งหมด  ๕  แห่ง ดังนี้
         ๑. ถ้ำจอมพล ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๔ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๒๑ ในรัชกาลที่ ๕

อักษรพระปรมาภิไธยย่อที่จารึกไว้ ณ ถ้ำจอมพล

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประทับบนแคร่ไม้ บริเวณถ้ำจอมพล


           ๒. ถ้ำจระเข้ ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี  พบจารึกอักษร จปร ๑๑๔  (ปัจจุบันยังสำรวจหาถ้ำไม่พบ สันนิษฐานว่าปากถ้ำได้ถูกปิดทับไปแล้ว)  นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๒๒  ในรัชกาลที่ ๕
           ๓. ถ้ำระฆัง(ถ้ำค้างคาว) ในเขตพื้นที่ค่ายบุรฉัตร ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๘ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๓๓  ในรัชกาลที่ ๕

อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ที่จารึกไว้ ณ ถ้ำระฆัง


           ๔. เขาวังสะดึง ต.เขาแร้ง อ.เมือง จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๘ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๓๔ ในรัชกาลที่ ๕

อักษรพระปรมาภิไธยย่อที่จารึกไว้ ณ เขาวังสะดึง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเขาวังสะดึง เมื่อวันที่ ๑๒ ต.ค. พ.ศ. ๒๔๔๒

 

          ๕. ถ้ำสาริกา ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พบจารึกอักษร จปร ๑๑๘ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยที่ ๓๕ ในรัชกาลที่ ๕
 ในการเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้งจะมีพระราชหัตถเลขาบรรยายไว้ทุกครั้ง  ดังเช่น การเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลราชบุรี เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๒

อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ที่จารึกไว้ ณ ถ้ำสาริกา


“...วันที่ ๑๒ ตุลาคม...ครั้นเสวยเครื่องว่างเวลาเช้าแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปตามทางบนเขาวังสดึง ถึงที่ไหล่เขาแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้จัดการรับเสด็จได้จัดเปนที่ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธย ได้ทรงจารึกพระบรมภิไธยโดยย่อ จ ป ร แลเลข ๑๑๘ ที่น่าผา แห่งเขาวังสดึงด้านตะวันตกแล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไป...”
            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกเรื่องราวของอักษรพระปรมาภิไธยย่อที่ทรงได้พบอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี  ในรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ. ๑๑๗  เมื่อครั้งเสด็จถ้ำห้วยตะแคง ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของเขางู  ถ้ำนี้ไม่สามารถพายเรือเข้าไปได้ พระองค์ทรงพบรอยถ่านไฟ เขียนอักษรพระนาม จปร. ความว่า    "... เข้าไปพบของประหลาด คือมีรอยถ่านไฟเขียนไว้บนเพดานถ้ำเปนอักษรพระนาม จ.ป.ร. รูปอย่างที่ทรงจำหลักศิลาในสถานที่ต่างๆ แลมีตัวเลข ๑๑๔ อยู่ใต้นั้นด้วย  เปนที่ฉงนสนเท่ห์ใจเปนอย่างยิ่ง ด้วยเมื่อศก ๑๑๔ เสด็จประพาศเมืองราชบุรี ฉันก็ตามเสด็จในเที่ยวนั้น จำได้ว่าทรงอักษรพระนามจำหลักไว้แต่ปากถ้ำจอมพลที่เขากลางเมือง ถึงว่าเมื่อเสด็จกลับจากจอมบึงได้ทรงม้าเลียบเขางูมาทางนี้ก็ไม่ปรากฏว่าได้เสด็จประพาศถ้ำห้วยตะแคง  เหตุใดจึงมีอักษรพระนามเขียนไว้ที่หลังถ้ำนี้ แลเหตุใดจึงไม่มีจำหลัก แปลไม่ออกเกิดเปนความสงไสยว่าจะเปนลายพระราชหัตถเลขาแท้หรือใครไปแลเห็นที่ปากถ้ำจอมพลแลลองเอามาเขียนไว้ที่นี้ เพื่อบูชาหรือประการใด มีความสงสัยอยู่ดังนี้  จึงยังไม่กล้าสั่งให้จำหลักรอยลงในศิลา...”
              อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วโปรดให้จารึกไว้ในสถานที่ต่างๆ นี้ ถือเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจทรงเยี่ยมทุกข์สุขของราษฎรถึงแม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดารเพียงใด พร้อมกับทอดพระเนตรโบราณสถานต่างๆ ความประทับใจในความงามของธรรมชาติที่ได้เสด็จไปทั่วทุกแห่งหนบนผืนแผ่นดินของพระองค์  และแสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงถ่ายทอดเหตุการณ์และทรงสร้างสรรค์หลักฐาน จารึกเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้สามารถศึกษาอดีตได้
 
เรียบเรียง : นางสาวปราจิน  เครือจันทร์   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี 
อ้างอิง
กรมศิลปากร, พระปรมาภิไธยที่พบในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์,  ๒๕๕๔.
มโน กลีบทอง,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ราชบุรี,สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,พ.ศ.๒๕๔๔.
สถาบันดำรงราชานุภาพ “รายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ.๑๑๗” การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ,๒๕๕๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 3870 ครั้ง)