องค์ความรู้ : มุสิกะเทพพาหนะพระคเณศ
การแสดงเบิกโรง เรื่องตำนานพระคเณศ ชุด “มุสิกะเทพพาหนะพระคเณศ”
พระคเณศ เทพเจ้าซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมนับถือมากในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูของอินเดียเชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรค ผู้บันดาลให้เกิดอุปสรรค หรือขจัดเสียซึ่งอุปสรรคและประทานความสำเร็จในการประกอบ พิธีมงคลต่าง ๆ จึงมี การบูชาพระคเณศเป็นเบื้องแรก นอกจากนี้ในคติของไทยยังนับถือพระคเณศว่าเป็นบรมครูแห่งศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ ด้วย
พระคเณศ มีรูปกายเป็นบุรุษ เศียรเป็นช้าง สีแดงชาด สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเทพพื้นเมือง ของอินเดีย มีกำเนิดจากลัทธิการบูชาสัตว์หรืออาจมีกำเนิดจากการเป็นเทพเจ้าประจำเผ่า และเนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ทรงพลังเหนือสัตว์ทั้งหลาย จึงได้รับการนับถือเป็นหัวหน้าของเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ทั้งปวง ต่อมาได้รับยกย่องให้เป็นเทพ ในลัทธิไศวนิกาย ได้รับตำแหน่งหัวหน้าอมนุษย์กึ่งเทวดาเหล่าบริวารของพระศิวะ ทั้งยังเป็นบรมครูแห่งช้าง บางครั้งรู้จักกันในนาม “คณปติ” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คณะ เรื่องที่พระคเณศเป็นเทพเจ้าผู้บันดาลให้เกิดอุปสรรคแก่ฝ่ายอธรรมและขจัดเสีย ซึ่งอุปสรรคแก่ฝ่ายธรรมะ ในคัมภีร์ลิงคปุราณะ ได้กล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งเหล่าอสูรและรากษส ได้พยายามบำเพ็ญเพียรประกอบพิธีกรรมบูชาพระศิวะและได้รับพรหลายประการ ก่อให้เกิดความกำเริบเสิบสานสร้างความเดือดร้อนแก่เทวดา มนุษย์ และสรรพสัตว์ไปทั่วทั้งสามภพ เป็นเหตุให้พวกเทวดาพากันไปทูลอ้อนวอนขอให้พระศิวะสร้างเทพแห่งอุปสรรคขึ้นมา เพื่อคอยขจัดขัดขวางเหล่าอสูรกำเริบฤทธิ์ ส่วนสาเหตุที่พระคเณศมีงาข้างเดียว มีปรากฏในปุราณะต่าง ๆ เรื่องราวแตกต่างกันออกไป บางปุราณะกล่าวไว้ว่าเศียรช้างที่นำมาต่อกับตัว พระขันธกุมารมีงาข้างเดียว บางปุราณะก็กล่าวว่าถูกขวานปรศุรามซึ่งได้ประทานจากพระอิศวร เทพบิดาตัดขาด และบางปุราณะกล่าวต่างไปว่า เหตุที่งาหักเพราะต่อสู้กับอสูรคชมุขหรือคชมุขอสูร สำหรับงาข้างที่หัก พระคเณศใช้ถือเป็นอาวุธหรือใช้แทนเหล็กจารหนังสือ โดยตามลักษณะรูปงาที่หักของอินเดีย ส่วนมากจะ หักข้างขวา และมือขวาจะถืองาที่หักไว้
การแสดงเบิกโรง เรื่อง ตำนานพระคเณศ ชุด มุสิกะเทพพาหนะพระคเณศ เป็นนาฏกรรมสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ รูปแบบการแสดงเบิกโรงโดยนายจรัญ พูลลาภ* มีแนวคิดนำบทบาทและเหตุการณ์สำคัญของพระคเณศที่ปรากฏ ในปุราณะต่าง ๆ จากหนังสือตำนานและประวัติพระคเณศบางฉบับ อาทิ กรมศิลปากร และนายสมบัติ พลายน้อย (ส. พลายน้อย) ศิลปินแห่งชาติ มาจัดทำเป็นบทนาฏกรรม ซึ่งไม่เคยมีจัดแสดงมาก่อน และเป็นการแสดงเบิกโรงชุดใหม่นอกเหนือจากที่กรมศิลปากรเคยจัดแสดงมา ทั้งนี้ผู้จัดทำบทได้รับความอนุเคราะห์จากนาฏศิลปินทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากรได้ กรุณาเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำบทจนเสร็จสมบูรณ์ ได้แก่ นายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ นาฏศิลปิน (ด้านอำนวยการแสดง) ที่ปรึกษาการจัดสร้างโครงเรื่องและการสร้างสรรค์ระบำสโมสรมุสิกะ (ระบำหนู) โดยมีนายพงษ์พิศ จารุจินดา ผู้ชำนาญการนาฏศิลป์ไทย เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ นายประสาท ทองอร่าม นาฏศิลปินชำนาญการด้านศิลปะการแสดง ที่ปรึกษาการจัดทำบทและตรวจแก้ไข และนายสุรพงศ์ โรหิตาจล ดุริยางคศิลปินอาวุโส ประพันธ์ทำนองเพลง ทั้งนี้ได้นำการแสดงระบำชุดกุญชรเกษมของอาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ มาร่วมประกอบการแสดง
สำหรับเนื้อเรื่องกล่าวถึงอสูรตนหนึ่ง ชื่อ คชมุขหรือคชมุขา ได้พรพระอิศวรให้มีฤทธิ์อำนาจมาก ไม่มีอาวุธใดในโลกาสังหารให้ตายได้ จึงกำเริบฤทธิ์คิดเป็นใหญ่เที่ยวรังแกข่มเหงผู้อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ทั้งเทวดา ฤษี อมนุษย์ และสรรพสัตว์ต่างเกรงกลัวฤทธิ์เดชจำยอมอยู่ใต้อำนาจปกครอง ทุกเจ็ดวันคชมุขอสูรจะออกจากวิมานเขาจักรวาลเดินทางมาประชุม ตรวจตรา หากใครไม่เชื่อฟังหรือล่วงล้ำเข้ามา ก็จะถูกเข่นฆ่าจับกินเป็นอาหาร กระทั่งวันหนึ่งพระคเณศได้เสด็จลงมาบำเพ็ญพรตยังชายป่าหิมพานต์ บรรดาช้างสิบตระกูลรู้ข่าวต่างพากันเดินทางมาสักการะบูชา เป็นเวลาเดียวกับที่คชมุขอสูร มาประชุมสรรพสัตว์ในป่าหิมพานต์ รู้ข่าวว่าช้างสิบตระกูลมีใจไปสวามิภักดิ์พระคเณศจึงโกรธแค้น เดินทางไปท้าท้าย พระคเณศสู้รบแต่ไม่อาจสู้ได้ ด้วยความโกรธจึงกระโดดเข้าหักงาขวาพระคเณศติดมาในมือ แต่พระคเณศก็ช่วงชิงแย่งงาที่หักคืนมาได้ แล้วเหวี่ยงคชมุขล้มลงเหยียบอกไว้ สาปให้เป็นมุสิกะ (หนู) พาหนะ เพราะความอยากเป็นใหญ่ในสรรพสัตว์ ก่อนใช้งาขวาที่หักแทงสังหารคชมุขถึงแก่ความตาย
-----------------------------------------
* นายจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต
(จำนวนผู้เข้าชม 4353 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน