องค์ความรู้ : มรดกความทรงจำแห่งโลกคืออะไร? สำคัญอย่างไร?
          เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and CulturalOrganization: UNESCO) ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านสารนิเทศจากองค์การภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกประชุมหารือปัญหาแผนงานของยูเนสโกว่าด้วย “ความทรงจำแห่งโลก” เพื่ออนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาแห่งโลกด้านสารนิเทศในหลากหลายรูปแบบ (UNESCO’s “Memory of the World” Programme Safeguardingthe Documentary Heritage) โดยมีเป้าหมายในการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือสื่อผสม เช่น หนังสือตัวเขียน สิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ ซึ่งเก็บอยู่ ณ ห้องสมุดและหน่วยงานจดหมายเหตุทั่วโลก จัดว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ประสบการณ์ ที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายและความคิดริเริ่มของชนชาติ และวัฒนธรรมต่าง ๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินแผนงานมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World Programme : MOW)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ และเผยแพร่มรดกความทรงจำที่เป็นเอกสาร รวมถึงภาพยนตร์ ดนตรี วัตถุ หรือข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่มีคุณค่าสูงในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยยูเนสโกได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกขององค์การยูเนสโก เพื่อพิจารณาสำรวจและขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำที่สมควรจะอนุรักษ์และสืบทอด รวมทั้งส่งเสริมให้คนในชาติศึกษาเรียนรู้คุณค่า และเผยแพร่ให้กว้างขวางด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ และหากมีมรดกความทรงจำชิ้นใดมีค่าสมควรแก่การขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ก็ให้ดำเนินการเสนอไปยังยูเนสโกเพื่อพิจารณาตัดสินและประกาศขึ้นทะเบียนในระดับที่เหมาะสมต่อไป
 
          กรมศิลปากร ได้เล็งเห็นว่าเอกสารที่เป็นมรดกความทรงจำของชาติยังมีอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะท้องถิ่นซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุคคล ศาสนสถาน และหน่วยงาน ที่มีการบันทึกไว้บนวัสดุ หรือสื่อรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระดาษ ใบลาน สมุดไทย หนังสัตว์ ผ้า ไม้ แผ่นหิน ภาพถ่าย แผนที่ แบบแปลน ภาพยนตร์ แถบบันทึกภาพ แถบบันทึกเสียง ฯลฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดำเนินโครงการประชุมสัมมนา เรื่อง การจัดทำทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่สำรวจ จัดประชุม รวบรวม และจัดทำทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งชาติเหล่านั้นไว้ เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองเอกสาร มิให้ชำรุดเสียหายหรือถูกทำลายไป และยังเป็นการเผยแพร่ให้บุคคลได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางต่อไป โดยมีการนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งชาติในระดับภูมิภาคหรือในระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการดังกล่าวต่อเนื่องและหมุนเวียนไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดจัดประชุมสัมมนาเรื่อง “การจัดทำทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๕” ในวันอังคาร ที่ ๒๕ ถึง วันพุธ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ โรงแรม ณ เวลา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และศึกษาดูงานสถานที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี ในวันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
 
          ในส่วนของประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว ๕ รายการ ได้แก่  
 
           ๑. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ ขึ้นทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๖
 
           ๒. เอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการบริหารการปกครอง ประเทศสยาม(พุทธศักราช ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) ขึ้นทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๒
 
           ๓. จารึกวัดโพธิ์ ประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๑ และขึ้นทะเบียนในระดับโลกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๔
 
           ๔. บันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรอบ ๑๐๐ ปี ขึ้นทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๖
 
          ๕. ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ขึ้นทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๙
 
          ทั้งนี้ มรดกความทรงจำดังกล่าว อยู่ในความดูแลรักษาของกรมศิลปากร จำนวน ๓ รายการ ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยาม เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติและหอสมุดแห่งชาติ ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

(จำนวนผู้เข้าชม 5029 ครั้ง)

Messenger