แม้จะมีการกล่าวยืนยันตัวตนของ “คุณผู้หญิงโม” “ย่าโม” หรือ “ท้าวสุรนารี” จากลูกหลานที่สืบเชื้อสาย และจากหลักฐานสำคัญ แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งในหมู่ประชาชนและสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นเรื่องยากที่จะยุติและมีข้อสรุปที่แน่ชัด
เอกสารสำคัญอย่างหนึ่งที่ยืนยันถึงตัวตนของท้าวสุรนารี คือ เอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์ใบลาน เรื่อง พระธาตุกถา และพระปุคคลบัญญัติ ฉบับทองทึบ จารด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี-ไทย หน้าปกของคัมภีร์ใบลานจารบอกปี ชื่อเรื่อง และชื่อผู้สร้างคัมภีร์ใบลานว่า “พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๗๕ พระวัสสา ปีมะโรง จัตวาศก พระปุคฺคลบัญญัติปการณ นิฏฺฐิตํ ผูก ๔ ท่านพญาปลัด คุณผู้หญิงโม สร้างไว้สำหรับพระศาสนาแล” สันนิษฐานว่า ภายหลังเสร็จสงครามเจ้าอนุวงศ์ ท่านพญาปลัดและคุณผู้หญิงโม ได้มีศรัทธาสร้างคัมภีร์ใบลานถวายแก่วัดอิสาน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นพุทธบูชา สืบทอดพระศาสนา และเพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรม
พระธาตุกถา เป็น ๑ ใน ๗ คัมภีร์ของพระอภิธรรม ว่าด้วยปรมัตถธรรมอันสงเคราะห์กันได้ และสงเคราะห์กันไม่ได้ เกี่ยวด้วยธาตุเป็นส่วนมาก โดยมีคัมภีร์ปรมัตถทีปนี ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถา
แต่งอธิบายบทหรือข้อความที่เข้าใจยากในคัมภีร์พระธาตุกถานั้น
พระปุคคลบัญญัติ เป็น ๑ ใน ๗ คัมภีร์ของพระอภิธรรม แสดงหลักธรรมต่างๆ เช่น ขันธ์
เป็นต้นว่า ทำไม ด้วยเหตุใด จึงเรียกว่า ขันธ์ เป็นต้น และคัมภีร์นี้ ที่เรียกว่า ปุคคลบัญญัติ เพราะกล่าวถึงบุคคลมากกว่าหลักธรรมอื่นๆ คือ กล่าวทั้งอุทเทส และนิทเทส ส่วนหลักธรรมอื่นๆ กล่าวเฉพาะอุทเทสเท่านั้น
คัมภีร์ใบลานทั้ง ๒ ฉบับนี้ พบที่วัดอิสาน โดยพระครูปลัดสมพงษ์ มหาพโล เจ้าอาวาสวัดอิสาน ได้มอบให้กับหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา เป็นผู้จัดเก็บและดูแลรักษา
ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่ห้องอีสานศึกษา หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ข้อมูล-ภาพ: นางสาวอุไร คำมีภา นักภาษาโบราณปฏิบัติการ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา
(จำนวนผู้เข้าชม 20416 ครั้ง)