พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) (โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า))
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์แล้ว ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าสุรสีห์พิศณวาธิราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า และโปรดฯ ให้ย้ายพระนครจากกรุงธนบุรีมาสร้างกรุงเทพมหานคร เป็นพระนครแห่งใหม่ยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สร้างวังหลวงและวังหน้าขึ้นในเขตกรุงธนบุรีเดิม โดยใช้คลองคูเมืองธนบุรี เป็นคลองคูเมืองชั้นใน และให้ขุดคลองใหม่เป็นคลองคูเมืองของกรุงเทพฯ เรียกว่าคลองรอบกรุง สร้างวังหลวงที่ตอนใต้ของพระนคร ระหว่างวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) กับวัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์) และตั้งวังหน้าขึ้นทางตอนเหนือระหว่างวัดสลักกับคลองคูเมืองเดิม กำหนดให้ท้องที่อาณาบริเวณฟากเหนือของพระนคร ตั้งแต่แนวถนนพระจันทร์ นับแต่ท่าน้ำตรงไปทางตะวันออกจนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ถนนบำรุงเมือง) อันเป็นที่ตั้งของวังหน้า เป็น แขวงอำเภอพระราชวังบวร เป็นเขตปกครองของวังหน้า คือ ปกครองกึ่งพระนคร ตามธรรมเนียมประเพณีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
“วังหน้า”มีประวัติการสร้างพร้อมกับวังหลวง โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วเสร็จเป็นเบื้องต้นเมื่อราว พ.ศ.๒๓๒๘ จากนั้นได้มีการก่อสร้างอาคารสถาน ตลอดจนการบูรณะปฏิสังขรณ์สืบมาเป็นลำดับ วังหน้าเมื่อแรกสร้างสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คงยึดถือแบบแผนการสร้างวังแต่ครั้งกรุงเก่า กล่าวกันว่าวังหน้าได้รับแบบอย่างมาจากพระราชวังหลวง รวมถึงแบบแผนบางประการจากพระราชวังจันทรเกษมหรือวังหน้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือแผนที่ตั้งของวังตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวังหลวงและสร้างหันหน้าวังไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกับพระราชวังจันทรเกษม ส่วนอาคารพระที่นั่งพระราชมณเฑียรสถานบางแห่งวางผังตามแบบพระราชมณเฑียรสถานภายในพระราชหลวงพระนครศรีอยุธยา
พระราชวังบวรสถานมงคล มีกำแพงและป้อมปราการล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน เป็นกำแพงใบเสมาตามธรรมเนียมวังพระมหาอุปราช ป้อมที่มุมทั้ง ๔ ของพระราชวังบวรฯ ทำเป็นป้อมรูปแปดเหลี่ยม หลังคาทรงกระโจม ส่วนป้อมตามแนวกำแพงสร้างเป็นรูปหอรบ หลังคาทรงคฤห นอกกำแพงมีคูและถนนรอบวังทุกด้าน โดยที่ด้านทิศตะวันตกมีลำน้ำเจ้าพระยาแทนคู และใช้กำแพงพระนครเป็นกำแพงวังชั้นนอก ส่วนทิศเหนือเป็นคูพระนครเดิม มีถนนตัดผ่านพระราชวังตามแนวทิศเหนือ –ใต้ ๓ สาย สายตะวันตก คือ ถนนริมพระนครด้านใน สายกลาง คือ ถนนหน้าพระธาตุ เป็นเส้นทางพระมหาอุปราชเสด็จไปพระราชวังหลวง และถนนสายทิศตะวันออก คือ ถนนด้านหน้าพระราชวัง ด้านเหนือจรดสะพานเสี้ยว ใกล้กับแนวถนนราชดำเนินทุกวันนี้
ดาวน์โหลดไฟล์: พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า).pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 3704 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน